เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยจัดการประชุมระดับชาติครั้งที่ 4 และระดับนานาชาติครั้งที่ 14 “พลังศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์เศรษฐกิจ” THE 4th NATIONAL AND THE 14th INTERNATIONAL CONFERENCE ON ARTS AND CULTURE: SOFT POWER–ARTS AND CULTURE IN CREATIVE ECONOMY (ICAC2024) ณ อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (พุทธวิชชาลัย) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยร่วมลงนามความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม(MOU) และจัดการสาธิตและอบรมงานด้านภูมิปัญญาด้านอาหารไทย โดยการนำเสนอด้าน Food (อาหาร)เพื่อให้สอดรับกับ Soft Power ของไทย ภายใต้แนวคิด “Eat & Art อาหารผสานศิลป์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” จัดโครงการฝึกอบรมปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาไทยด้าน Food (อาหาร) “การแกะสลักผักผลไม้” การทำขนมไทย “ทองหยิบ ทองหยอด สูตรชาววัง”และ “ศิลปะการแกะสลักสบู่สร้างอาชีพ” พร้อมกับการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ของดีบ้านฉัน”
โดยนำเสนอการแกะสลักผักผลไม้ลายวิจิตรไทยใช้ในการตกแต่งประดับอาหาร จากงานฝีมือของเชฟกบ หรือ นายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา เชพประจำศูนย์สัมมนาและฝึกอบรมของมหาวิทยาลัย ที่มีผลงานชนะเลิศ และ Popular Vote งานแม็คโครโฮเรก้าอคาเดมี ปี53 รางวัล Gold The Winner งาน Thai Fex Asia ปี54 นอกจากนี้ผลงานยังได้รับการเชิญไปจัดแสดงในงานใหญ่ระดับประเทศ ในต่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการประดิษฐ์สุนัขพันธุ์พุดเดิ้ลจากผลส้มโอ ซึ่งในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและรศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ติดตาและจมูกซึ่งทำด้วยเมล็ดลำใยให้“น้องทับทิมสยาม” ด้วย “ผลงานน้องหมาสส้มโ” นับเป็นผลงานที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ได้ชมในชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอขนมหวานมงคลของไทยร่วมจัดแสดงในนิทรรศการของ มสธ. เพื่อเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาให้ยั่งยืนและอยู่คู่คนไทยสืบไป
โอกาสนี้ มสธ.ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าวโดย ผศ.ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย รักษาการแทนอธิการบดี มสธ. เป็นผู้ลงนาม ร่วมกับสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย,กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มรภ.กาญจนบุรี มรภ.กำแพงเพชร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) มรภ.เทพสตรี มรภ.นครปฐม ม.บูรพา มรภ.พระนครศรีอยุธยา มรภ.เพชรบุรี มรภ.รำไพพรรณี มรภ.สุราษฏร์ธานี และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) รวม 15 หน่วยงานหลัก ที่ร่วมเป็นเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.ชนกนารถ บุญวัฒนะกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มสธ. และดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ร่วมเป็น Commentator ผู้เสนอผลงานวิจัยรูปแบบบรรยาย การนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย และผลงานสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิตหรือนักศึกษา
โดยเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งและดำเนินงานมากว่า 12 ปี แล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศไทยจํานวน 15 หน่วยงานหลัก และเครือข่ายต่างประเทศ 10 หน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชน องค์กรเครือข่ายวัฒนธรรม สมาคมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างประเทศให้การสนับสนุน เป็นเครือข่ายในการระดมบุคลากรและทรัพยากร รวมทั้งดำเนินงานเพื่อทำนุบำรุง อนุรักษ์ เผยแพร่ พัฒนาศิลปวัฒนธรรมให้ยั่งยืน สะสมเพิ่มพูน ภูมิปัญญาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ และส่งเสริมให้ศิลปวัฒนธรรมเป็นทุนทางสังคมของประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นการผนึกกำลังของพี่น้องที่มีภาระงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้แนบแน่นและยั่งยืนอีกด้วย
ภาพ : สถานสื่อสารองค์กร มสธ.
ข้อมูลข่าว ผู้เรียบเรียง : บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง