ไตรสิกขา : พระธรรมเทศนา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช (16 มิ.ย. 2567)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2567
ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มสธ. ร่วมกับมูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช จัดแสดงธรรม ณ ห้องพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี

ไตรสิกขา : พระธรรมเทศนา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช (16 มิ.ย. 2567)

เราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันความผิดพลาดของตัวเองขึ้นมา คือการศึกษาพระพุทธศาสนา การศึกษาศาสนาพุทธมีบทเรียน 3 บท ที่เรียกว่าไตรสิกขา เราจะต้องศึกษาว่าทำอย่างไรเราจะมีศีล เพราะศีลเป็นเครื่องมือข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือจิตใจ ไม่ให้กิเลสบงการจิตใจเราได้ ศีลที่ดีมากๆ เลยสำหรับนักปฏิบัติชื่ออินทรียสังวรศีล อินทรียสังวรศีลก็คือการมีสติรักษาจิตของเรานั่นล่ะ เวลาที่เราภาวนาจริงๆ กิเลสเกิดมาแล้วเรามีสติรู้ทัน กิเลสดับอัตโนมัติเลย นี่คือบทเรียนที่หนึ่ง ทำอย่างไรจิตใจเราจะเป็นปกติ ศีลคือความเป็นปกติของจิตใจ ไม่ถูกกิเลสชั่วหยาบบงการ ศีลในขั้นต้นอาจจะมี 5 ข้อ 8 ข้อ 10 ข้อ แต่ศีลสำหรับนักปฏิบัติมีข้อเดียว มีอินทรียสังวรศีล เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อินทรีย์คือตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว จิตใจเราเกิดอะไรขึ้น เรามีสติรู้ทัน บทเรียนที่สอง ชื่อ “อธิจิตตสิกขา” ขั้นที่เราจะพัฒนาจิตตสิกขานี่ จะทำให้จิตเรามีกำลัง กิเลสแผ้วพานไม่ได้ในขณะที่จิตเรามีกำลัง ถ้าเราเรียนรู้จิตใจตัวเองแล้ว สิ่งที่เราได้มาคือสมาธิที่ดี สมาธิที่ถูกต้อง บทเรียนสุดท้ายชื่อปัญญาสิกขา “อธิปัญญาสิกขา” เรียนรู้ให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ ว่ารูปนามกายใจนี้เป็นไตรลักษณ์ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วหลุดพ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช (ข้อมูล : พระธรรมเทศนา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

กดชมวิดีโอบรรยายธรรมได้ที่ youtube : https://www.youtube.com/live/GHXDgOMmS1Q?si=Dw0e60yRSU40M4aj

ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ขอกราบอนุโมทนาและกราบขอบพระคุณหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่เมตตาเดินทางมาแสดงธรรม และขออนุโมทนากับญาติธรรมที่เดินทางมาฟังธรรมทุกท่าน
โดยในการแสดงธรรมในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าฟังประกอบด้วยบุคลากร มสธ. ประชาชนทั่วไป เข้าฟังการแสดงธรรม ประมาณ 800 คน
โดยการแสดงธรรมครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 28 กรกฎาคม 2567

#ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม #สำนักการศึกษาต่อเนื่อง #งานแสดงธรรม หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

 

ภาพข้อมูล : มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ผู้เรียบเรียงข้อมูลข่าว : บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) ฝ่ายอุทยานการศึกษา