เครื่องแต่งกายพื้นเมืองชาวเหนือ

เครื่องแต่งกายแบบพื้นเมืองของภาคเหนือ เป็นตัวบ่งบอกของคนในแต่ละถิ่น สำหรับในเขตพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
ในอดีต ที่เป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่และครอบคลุมไปใน ๔ ประเทศได้แก่ ไทย , เมียนมาร์ (พม่า) , ลาว , และจีน ในปัจจุบัน ดังนั้นคนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ การแต่งกายพื้นเมืองของภาคเหนือมีลักษณะแตกต่างกันไปซึ่งจะบ่งบอกเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่น

สำหรับพื้นที่ของอาณาจักรล้านนาที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันมีอยู่ ๘ จังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน การแต่งกายพื้นเมืองของล้านนาจึงหมายถึงการแต่งกายของชนกลุ่มต่างๆที่อาศัยอยู่ในล้านนา
ในอดีตอาณาจักรล้านนาบางยุคสมัยอาจครอบคลุมไปถึงรัฐต่างๆ เช่นสิบสองปันนา รัฐฉาน เชียงตุง เป็นต้นซึ่งต่างก็เคยมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน
ชนกลุ่มใหญ่ที่สร้างสมอารยธรรมในล้านนาก็คือ“ชาวไทยวน” ซึ่งปัจจุบันเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมกลุ่มชนต่างๆ ผสมผสานกันได้แก่ ชาวไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ (ไต) ชาวไทยวนในล้านนามีวัฒนธรรมการทอผ้าเพื่อใช้สอยและแต่งกายเป็นเอกลักษณ์มาแต่โบราณ จากหลักฐานด้านจิตรกรรมฝาผนังวัดต่างๆในเชียงใหม่และน่าน เช่น วัดบวกครกหลวงวัดพระสิงห์วรวิหาร และวัดป่าแดด จิตรกรได้เขียนไว้เป็นหลักฐานประกอบกับ
การบันทึกของมิชชันนารีที่เล่าสืบต่อกันมา

เครื่องแต่งกายพื้นเมืองภาคเหนือสำหรับผู้ชาย จะนิยมนุ่งกางเกงขายาวลักษณะกางเกงขายาว แบบ ๓ ส่วนเรียกติดปากว่า “เตี่ยว” “เตี่ยวสะดอ” หรือ “เตี่ยวกี” ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมสีน้ำเงินหรือสีดำ และสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลมแขนสั้น แบบผ่าอก กระดุม ๕ เม็ด สีน้ำเงินหรือสีดำที่เรียกว่า เสื้อม่อฮ่อม

ผ้าม่อฮ่อม เป็นชื่อผ้าย้อมพื้นเมืองสีกรมท่าที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองแพร่มานานแล้ว ในอดีตผ้าม่อฮ่อมเป็นผ้าฝ้ายทอมือที่นำดอกฝ้ายขาวมาทำ
เป็นเส้นใยแล้วทอด้วยกี่พื้นเมืองเป็นผ้าพื้นสีขาว หลังจากนั้นจึงนำไปตัดเย็บให้เป็นเสื้อหรือกางเกงรูปแบบต่างๆ เช่นกางเกงเตี่ยวสะดอ จากนั้นนำมา
ย้อมในน้ำฮ่อม ที่ได้จากการหมักต้นฮ่อมเอาไว้ในหม้อ ในปัจจุบันมีการทอผ้าด้วยกี่แบบพื้นเมืองน้อยลงทำให้ผ้าทอมีราคาแพง การตัดเย็บเสื้อผ้าม่อฮ่อมจึงมีการใช้ผ้าดิบจากโรงงานตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำฮ่อมธรรมชาติหรือสีม่อฮ่อมวิทยาศาสตร์

ภาพเสื้อม่อฮ่อมสำหรับผู้ชาย

     ผ้าซิ่น เป็นเครื่องแต่งกายพื้นเมืองภาคเหนือสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุง มีความยาวเกือบถึงตาตุ่มซึ่งนิยมนุ่งทั้งหญิงสาวและคนแก่ผ้าถุงจะมีความประณีต งดงาม ตีนซิ่นจะมีลวดลายงดงาม ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงาม อาจห่มสไบทับ และเกล้าผม

ภาพชุดผ้าซิ่นล้านนาสำหรับผู้หญิง

การแต่งกายของสตรีไทยวน-โยนก สมัยก่อนนิยมเปลือยอกท่อนบน หรือมีการเคียนอกด้วยผ้าสีเข้ม นุ่งผ้าซิ่น และส่วนของผ้าซิ่นนั้นถ้าใช้
สวมใส่ในงานโอกาสสำคัญๆ ก็จะนิยมต่อด้วยตีนจก ซึ่งเป็นการทอลายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยวนโบราณ ทรงผมนิยมเกล้ามวยผมไว้กลางศีรษะหรือส่วนของท้ายทอย นิยมเหน็บดอกไม้ต่างๆเพื่อเป็นการสักการบูชาเทวดาที่คอยดูแลขวัญหัว เครื่องประดับนิยมเครื่องประดับที่ทำจากเงิน เช่น กำไลเงิน สร้อยเงิน

การแต่งกายของสตรีไทยวน-โยนก (หญิง)

การแต่งกายของบุรุษไทยวน – โยนก นิยมเปลือยอกบนนุ่งด้วยผ้าฝ้ายสีเข้ม ลักษณะการนุ่งเป็นการนุ่งแบบ แก๊ตม้ามหรือ แคทมั่ม เพื่อให้สะดวก
ในการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือคล่องตัวในการทำงานต่างๆ ที่อาจต้องใช้แรงผู้ชายไทยวนสมัยโบราณนิยมการสัก ตามแขน ต้นขา เนื่องด้วยความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ความคงกระพัน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการออกรบ

การแต่งกายของสตรีไทยวน-โยนก ชายและหญิง

ข้อมูลข่าวและที่มา ภาพ/ผู้เรียบเรียง : เดชนรินทร์ ชุบขุนทด
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง

อ้างอิง :

การแต่งกายไทย 4 ภาค. [ออนไลน์]. การแต่งกายภาคเหนือ. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จาก

https://culture.chandra.ac.th/images/pdf/64019.pdf

Twitter. [ออนไลน์]. ชุดพื้นเมืองผ้าฝ้ายล้านนา. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จาก
https://twitter.com/CottonChiangmai/status/941323613004644352

Pinterest. [ออนไลน์]. ไทยญวนล้านนา By ชัยสง่า ฦาชา. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จาก
https://www.pinterest.com/pin/313844667782718486/

Pinterest. [ออนไลน์]. ลานคำดีไซน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จาก

https://www.pinterest.com/pin/313844667781328791/