การฟ้อน ศิลปะการแสดงขึ้นชื่อของชาวล้านนา

การฟ้อนของชาวล้านนาในอดีตประกอบไปด้วยลีลาท่าทางที่เลียนแบบหรือดัดแปลงแบบหรือแปลงมาจากธรรมชาติ มักมีลักษณะเป็นศิลปะตาม
เผ่าพันธุ์โดยแท้จริง กล่าวคือเชื่องช้าแช่มช้อยสวยงามไม่มีลีลาท่ารำที่ซับซ้อนยุ่งยาก ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับใด ๆ เป็นท่าง่ายๆสั้นๆมักแสดง
เป็นชุดมีมากมายหลายรูปแบบ และขนานนามชุดการแสดงหรือกระบวนฟ้อนนั้นๆ ตามเชื้อชาติของผู้ฟ้อนซึ่งเรียกตามภาษาถิ่นพื้นเมืองว่า ช่างฟ้อน
( ออกเสียงว่า “ จ้างฟ้อน ” ) และหมายรวมกันไปหมดทั้งชายและหญิง ชาวพม่าจะเรียกการแสดงหรือการฟ้อนชุดนั้นว่า ฟ้อนม่าน คนไต หรือคนไทใหญ่
( ออกเสียงว่า “ ไต ” แต่ไม่เรียก ฟ้อนไทใหญ่ ” ) เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น การคมนาคมติดต่อสื่อสารสะดวกสบายมากขึ้น ประชากรมีการศึกษาแพร่หลาย
มากขึ้นมีการติดต่อกับสยามประเทศมากขึ้นอิทธิพลของ “ รำไทย ”ในราชสำนักสยามซึ่งมีระเบียบแบบแผนที่ดีกว่า สวยงามกว่าจึงเริ่มเข้ามาเกี่ยวพัน
กับการฟ้อนพื้นเมืองล้านนาเริ่มแปรเปลี่ยนไป กระบวนฟ้อนชุดต่างๆที่มีอยู่เดิมและมีประดิษฐ์ขึ้นใหม่จึงเริ่มผิดแผกแตกต่างกันออกไป

หลังปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นมา การฟ้อนในล้านนาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เหตุเป็นเพราะพระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯได้กราบบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เสด็จกลับไปประทับ ณ นครเชียงใหม่ พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ท่านสุดท้ายแห่งมณฑลพายัพ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยุบเลิกประเทศราชรวม
เป็นมณฑลหนึ่งของประเทศสยาม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๖) ที่ขึ้นไปรับพระราชทานยศและตำแหน่งเป็น
เจ้าแก้วนวรัฐ ประพันธอินทนันทพงษ์ ดำรงนพิสีนครเขตร ทศลักษณ์เกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์
ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ ( แก้ว )

ในการเสด็จฯกลับมาครั้งนี้พระราชชายาฯ ได้นำแบบอย่างการฟ้อนรำในราชสำนักสยามมาเผยแพร่ในเชียงใหม่พร้อมทั้ง
นำครู ละคร ดนตรี จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาฝึกหัดถ่ายทอดให้กับพวกตัวละครทั้งในวังของท่านและในคุ้มเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นเหตุให้การฟ้อนรำ
ในเชียงใหม่เกิดการแตกต่างขึ้น เป็น ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ เป็นแบบที่มีมาแต่เดิม เรียกทางวิชาการว่า แบบพื้นเมืองหรือแบบดั้งเดิม

แบบที่ ๒ เป็นแบบที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและประดิษฐ์ขึ้นใหม่เรียกทางวิชาการว่า แบบราชสำนัก

         คำว่าฟ้อน หมายถึงการแสดงออกด้วยท่าทางต่าง ๆ จะโดยธรรมชาติหรือปรุงแต่งไปแล้วก็ตามตรงกับ
คำว่า “ รำ “ ในภาษาถิ่นภาคกลาง ด้วยเหตุนี้ ภาษาถิ่นล้านนาจึงเรียกกระบวนรำชุดต่างๆ ทั้งหมดว่าฟ้อนมาตั้งแต่อดีต เช่น ฟ้อนแห่ครัวทาน ฟ้อนผี ฟ้อนม่าน ฟ้อนเงี้ยว ฯลฯ

ประวัติที่มาของ ฟ้อนขันดอก

ประวัติที่มาของ ฟ้อนที

ข้อมูลข่าวและที่มา ภาพ/ผู้เรียบเรียง : เดชนรินทร์ ชุบขุนทด
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง

อ้างอิง : http://www.openbase.in.th/node/7085