มสธ. “พลังแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” จาก”อาชีพสู่รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ”

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ร่วมงานประชุมวิชาการเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ระดับชาติ ครั้งที่ 3 ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 13 และ การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 4
“พหุวัฒนธรรม ไร้พรมแดน : ส่งเสริมสู่ระดับชาติ สร้างสรรค์สู่ระดับโลก” (Multicultural Beyond Frontier : Promoted to the National Level Created to a World – Class Scale) ระหว่างวันที่ 6 – 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
ณ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดโดย เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย

โดยการจัดงานครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีการนำเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบการบรรยาย โปสเตอร์ การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ในระบบออนไลน์ การแสดงบนเวที และการ
จัดนิทรรศการภายใต้แนวคิดของดีบ้านฉัน ซึ่งสอดคล้องตามพันธกิจด้านการทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

ในโอกาสนี้ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ได้ส่งผลงานการแกะสลักผักและผลไม้เพื่อร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างสรรค์สู่เศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด มสธ. “พลังแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” จาก “อาชีพสู่รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ” มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาทางไกล เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตสำหรับทุกคน” และมุ่งส่งเสริมสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ในมิติต่างๆ รวมถึงความสามารถของบุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรม โดยนำความรู้และศักยภาพที่มีความโดดเด่น เผยแพร่แก่ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และภาพลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

โดยในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนำภูมิปัญญาไทยด้าน “การแกะสลักผักผลไม้”จัดแสดงผลงานการแกะสลักผักผลไม้ นิทรรศการให้ความรู้ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภูมิปัญญาไทย “การแกะสลักผักและผลไม้” โดย นายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา เชฟประจำศูนย์สัมมนาและฝึกอบรมของ มสธ. ที่มีผลงานด้านการแกะสลักผักและผลไม้ รางวัลชนะเลิศ และ Popular Vote งานแม็คโครโฮเรก้าอคาเดมี ปี 2553 รางวัล Gold The Winner งาน Thai Fex Asia ปี 2554 และรางวัลเพชรพระนคร ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาคหกรรมศิลป์ ปี 2565

โดยมีผู้สนใจเข้ารับการฝึกสอนในบูธ มสธ. เป็นจำนวนมาก และในโอกาสเดียวกันนี้ รศ.ดร.ชนกนารถ บุญวัฒนะกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาต่อเนื่อง พร้อมด้วย ดร.จินตนา ปรัสพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษาต่อเนื่อง มสธ. ร่วมทำหน้าที่เป็น commentator ผู้เสนอผลงานวิจัยในงาน ร่วมสืบสานอย่างสร้างสรรค์ ในนิทรรศการการประชุมวิชาการเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 “พหุวัฒนธรรม ไร้พรมแดน ส่งเสริมสู่ระดับชาติ สร้างสรรค์สู่ระดับโลก” ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาเป็นเจ้าภาพ และมีสถาบันการศึกษาอื่นๆ ร่วมสนับสนุนในการจัดงาน

โดยในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และ ศ.ดร.คณิต เขียววิชัย นายกสภามหาวิทยาลัย ราชภัฏพระนครศรีอยุธยาเป็นประธานเปิดงาน มีมหาวิทยาลัยเครือข่ายกว่า 10 สถาบัน พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนร่วมจัดงาน

ข้อมูลข่าวและที่มาผู้เรียบเรียง : บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว  ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม

ภาพ : ธีรพล  ศรีเป๊ะบัว สถานสื่อสารองค์กร
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายอุทยานการศึกษา) สำนักการศึกษาต่อเนื่อง