นางถนอม คงยิ้มละมัย ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปี 2561

โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ดำเนินการคัดเลือกบุคคล
ที่สมควรได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม “รางวัลเพชรพระนคร ประจำปี 2561”
สาขาศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี  “ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี”

นางถนอม  คงยิ้มละมัย เกิดเมื่อวันที่ 9 เดือน  กรกฎาคม  พ.ศ. 2487 สัญชาติ  ไทย  สถานที่เกิด อำเภอ เขาย้อย จังหวัด เพชรบุรี  เป็นบุตรคนที่  3  ในพี่น้อง  3  คน ของนายวงศ์  ยิ้มละมัย และนางสวย  ยิ้มละมัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วุฒิการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ) สาขาวิชา สังคมศึกษา  ประสบการณ์การทำงานเป็นข้าราชการครูตั้งแต่ พ.ศ. 2514 – 2517 ปัจจุบันปฏิบัติงานเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ปานถนอม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี

นางถนอม  คงยิ้มละมัย เป็นชาวไทยทรงดำโดยกำเนิด เติบโตในวิถีชีวิตของชุมชนในปรัชญาและประเพณีไทยทรงดำที่ตำบลหนองปรง
อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งเป็นเมืองแม่แบบหรือขุมทรัพย์ทางปัญญาของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง เรียนรู้การดำเนินชีวิตโดยวิธีครูพักลักจำ ทำให้เข้าใจในสิ่งที่สนใจอย่างละเอียดลึกซึ้ง เนื่องจากท้องถิ่น อำเภอเขาย้อยมีประชากรชาวไทยทรงดำถึงร้อยละ 70 จึงเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาประเพณีวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำอย่างละเอียด และได้ศึกษาความรู้ที่ถูกต้องของภูมิปัญญาไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง) จากท้องถิ่นและจังหวัดต่างๆ ที่มีชุมชนไทยทรงดำ รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณีของชาวไทยทรงดำตั้งแต่เกิด แต่งงาน และตาย รวมทั้งภาษาและอักษรไทยทรงดำ เพื่อให้สนใจได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตของชุมชน การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำที่โรงเรียนเขาย้อยวิทยา และสร้างพิพิธภัณฑ์ปานถนอม (ไทยทรงดำ) ประกอบด้วยนิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำ ผ้าทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ งานหัตถกรรม และเครื่องใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน อนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีของชาวไทยทรงดำ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้สืบไป

โดยนางถนอม  คงยิ้มละมัย ได้เผยแพร่ประเพณีไทยทรงดำหลายครั้ง มีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ด้วยวิธีการที่หลากหลายทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ซีดี-รอม วิทยุ และโทรทัศน์ มุ่งพัฒนาให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองแม่แบบของไทยทรงดำ โดยเฉพาะอำเภอเขาย้อยซึ่งเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาของชาวไทยทรงดำอย่างแท้จริง เผยแพร่ให้เยาวชนเกิดความรักและภูมิใจในท้องถิ่น มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีไทยทรงดำ

 ด้านการสร้างความร่วมมือในงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นางถนอม  คงยิ้มละมัย บรรยายให้ความรู้และสาธิตเกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของ
ไทยทรงดำ ได้แก่ วิถีชีวิต เครื่องมือประกอบอาชีพ การแต่งกาย ทรงผม การละเล่น การแสดง และอาหารของไทยทรงดำ แก่ผู้เข้าอบรมในโครงการด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทั้งที่ มสธ.ส่วนกลาง จังหวัดนนทบุรี และศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. เพชรบุรี อย่างต่อเนื่อง  และได้จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 18 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ งานจัดนิทรรศการในประชุมวิชาการนานาชาติเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี รวมถึงการให้ความอนุเคราะห์คณะนักศึกษา บุคลากร หรือผู้สนใจศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์ปานถนอม

ด้านการเผยแพร่ด้านวัฒนธรรม

นางถนอม  คงยิ้มละมัย ได้เผยแพร่ด้านวัฒนธรรม ในรูปแบบต่างๆ อาทิ เขียนบทความที่เกี่ยวกับไทยทรงดำ และให้สัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับไทยทรงดำแก่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีช่อง 3 และ ช่อง 7  และเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการชาติพันธุ์ไทยทรงดำ และสาธิตวิถีชีวิตชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ภายในงานที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

พ.ศ. 2535         ได้รับการยกย่องเป็นครูสอนจริยธรรมดีเด่นระดับโรงเรียน

พ.ศ. 2537          ได้รับการยกย่องเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมดีเด่นระดับอำเภอ

พ.ศ. 2537          ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเขาย้อยดีเด่น จากคุรุสภาอำเภอเขาย้อย

พ.ศ. 2538         ได้รับการยกย่องเป็นครูดีเด่นระดับโรงเรียน

พ.ศ. 2539         ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิชนบท เข้ากลุ่มคนดีศรีสังคม

พ.ศ. 2541         ได้รับการยกย่องเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมดีเด่นระดับจังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ. 2541          ได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้าน จากกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2543          ได้รับการยกย่องเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ด้านวัฒนธรรมระดับอำเภอ จากสโมสรโรตารี จังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ. 2544          ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้มีผลงานด้านวัฒนธรรมดีเด่นระดับอำเภอเสนอต่อสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติเพื่อเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นระดับชาติ

พ.ศ. 2544          ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติการสอนดีเด่น จากคุรุสภาอำเภอเขาย้อย

พ.ศ. 2544          ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินดีเด่นของจังหวัดเพชรบุรี  สาขาศิลปะการแสดง จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

พ.ศ. 2544          ได้รับการคัดเลือกเป็นครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาดีเด่นระดับเขตการศึกษา เขตการศึกษา ๕ กรมสามัญศึกษา

พ.ศ. 2544          ได้รับโล่เกียรติคุณ  คนดีศรีเขาย้อย สาขา การส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้าน จากสภาวัฒนธรรมอำเภอเขาย้อย

พ.ศ. 2551          ได้รับโล่เกียรติคุณ เป็นผู้สูงอายุผู้มีผลงานการถ่ายทอดภูมิปัญญาดีเด่น สาขาศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี (ไทยทรงดำ) จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พ.ศ. 2552         ได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ สาขาปรัชญา ศาสนา และประเพณี จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2553          ได้รับคัดเลือกเป็นแม่ดีเด่นจังหวัดเพชรบุรี จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ. 2555         ได้รับรางวัลตามโครงการครูดีศรีเขาย้อย ประเภท ครูผู้ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมโรงเรียน
เขาย้อยวิทยา

พ.ศ. 2557          ได้รับรางวัล ครูภาษาถิ่นดี จากโรงเรียนเขาย้อยวิทยา

พ.ศ. 2558          ได้รับรางวัล ดีเด่น ระดับจังหวัด เป็นภาคีเครือข่าย ประเภทปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนา และประเพณี จากสำนักงาน กศน. จังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ. 2559          ได้รับโล่เกียรติคุณเป็นบุคคลดีเด่น สาขาศิลปะด้านการแสดงพื้นบ้าน จากเทศบาลเมืองเพชรบุรี

พ.ศ. 2559         ได้รับรางวัลวัฒนาคุณาธร เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานวัฒนธรรมดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม

พ.ศ. 2559          ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ การประกวดผ้าระดับจังหวัด ประเภทผ้าชาติพันธุ์ “เสื้อฮีลาย
ตัวเห็บ” จังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ. 2559          ได้รับเกียรติบัตรเป็นผู้ส่งเสริมเยาวชนสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะ โครงการเยาวชน : พลังสร้างสรรค์วิถีไทยสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2559          ได้รับเกียรติบัตรในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์การเพิ่มมูลค่าวัฒนธรรมโดยทรงคุณค่าอย่างสมดุล
ตามโครงการการจัดการวัฒนธรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมอย่างสมดุลภายใต้ชุดโครงการเยาวชน :
พลังสร้างสรรค์วิถีไทยสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พ.ศ. 2560         ได้รับรางวัลคนดีแทนคุณแผ่นดิน จังหวัดเพชรบุรี ในโครงการแทนคุณแผ่นดิน ปี ๒๕๖๐
จากบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ผลงานด้านวัฒนธรรม

– บรรยายให้ความรู้ และสาธิตเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของไทยทรงดำ ได้แก่ วิถีชีวิต เครื่องมือประกอบอาชีพ การแต่งกาย ทรงผม การละเล่น การแสดง และอาหารของไทยทรงดำ แก่คณะศึกษาดูงานและผู้สนใจ
ณ พิพิธภัณฑ์ปานถนอม

– ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในผู้สืบสานวัฒนธรรมดีเด่น งานสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอาเซียน จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (มหาชน) และร่วมจัดงานนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

– ได้รับเกียรติประพันธ์เพลงถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขับร้องออกอากาศทางวิทยุแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2553 ณ เวทีใหญ่หอประชุม ศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งประเทศไทย

– จัดกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ปานถนอม ซึ่งเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับไทยทรงดำ ได้รับรางวัล
“6 องค์กรต้นแบบ คิดดี ทำดี สังคมดี” พ.ศ. 2557  ประจำภาคตะวันตก  โดยกระทรวงวัฒนธรรม

– เป็นผู้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมขบวนแห่งานพระนครคีรี-เมืองเพชร ทุกปี

– ขับร้องเพลงกล่อมลูกเป็นภาษาไทยทรงดำ ถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

ข้อมูลและที่มา

ผู้เรียบเรียง : บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว

ภาพ : ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายอุทยานการศึกษา) สำนักการศึกษาต่อเนื่อง