งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษา มสธ. ร่วมผนึกพลังกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ส่งเสริม สืบสานรักษา สร้างสรรค์การแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาติ และการแสดง/สาธิตภูมิปัญญาของดีเมืองลำปาง เพื่อนำพาสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนของชุมชน ในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 20 ที่ มรภ.ลำปาง “ข่วงวัฒนธรรมล้ำค่า สืบสานมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน”
“ถ้าความเจริญบนผืนแผ่นดินเป็นเหมือนร่างกาย ศิลปวัฒนธรรมก็คือจิตวิญญาณของแผ่นดิน สมควรอย่างยิ่งที่ต้องร่วมสืบสาน รักษา และทำนุบำรุงคงไว้คู่กับความเป็นชาติสืบไป”
วันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเจ้าภาพจัดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 20 “ข่วงวัฒนธรรมล้ำค่า สืบสานมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน” โดยพิธีเปิดมีขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย มีนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และ รศ.ดร.พาสิทธ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้เปิดงาน ทั้งนี้มีสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศกว่า 60 สถาบันเข้าร่วมงาน ในงานมีกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมหลากหลายกิจกรรม อาทิ นิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค โดยเฉพาะการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่มีทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่งดงามและมีคุณค่าจาก 4 ภาค และการแสดงจากแต่ละสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งเข้าร่วมงานกว่า 60 ชุด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแสดงชุด “ฟ้อนวิถีคนเมือง” จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยล้านนา ซึ่งงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มสธ. ร่วมกับศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. ลำปาง นำผู้แสดงซึ่งส่วนหนึ่งคนเป็นนักศึกษา/ผู้เรียนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมีอาจารย์จันทนา วงษ์คำ จากโรงเรียนห้างฉัตรวิทยา เป็นผู้ฝึกสอนในกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความร่วมมือกับชุมชน/หน่วยงานซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.ในแต่ละจังหวัดด้วย
งานแสดงศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา เป็นงานที่สถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมและสนับสนุน เนื่องด้วยศิลปวัฒนธรรมถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เปรียบได้ว่าถ้าความเจริญบนผืนแผ่นดินเป็นเหมือนร่างกาย ศิลปวัฒนธรรมก็คือจิตวิญญาณของแผ่นดิน สมควรอย่างยิ่งที่ต้องร่วมสืบสาน รักษา และทำนุบำรุงคงไว้คู่กับความเป็นชาติสืบไป นอกจากนี้การศึกษา การทำงานหรือกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมยังเป็นการส่งเสริม ให้ความรู้ เกิดทักษะความสามารถ และคุณธรรมความดีอีกหลากหลายด้าน อันเป็นประโยชน์ในกลุ่มนักศึกษาที่อยู่ภายในรั้วของแต่ละมหาวิทยาลัย ปัจจุบันการส่งเสริมศิลปธรรมยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องด้วยศิลปวัฒนธรรมในหลากหลายด้าน หลายแขนง นำไปสู่การต่อยอดในภาคของเศรษฐกิจ หรือรายได้ต่างๆของคนในชุมชน อีกทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือ/แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในงานวัฒนธรรมด้วย
อย่างในส่วนของงานครั้งนี้ ถึงแม้จะจัดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่การจัดการงานที่เน้นรูปแบบออนไลน์ผสมผสานการเผชิญหน้าของผู้ร่วมงาน โดยอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ได้ช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆของจังหวัดลำปาง อาทิ ที่พักมีการจองเต็มในหลายแห่ง ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านของฝากของที่ระลึก สถานที่ท่องเที่ยว มีการจับจ่ายใช้สอยจากผู้มาร่วมงาน
ชมคลิปวีดีโอการแสดงชุด “ฟ้อนวิถีคนเมือง” ได้ที่ YouTube : https://youtu.be/0SiMk1t3a3I
บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว : หัวหน้างานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (11 กุมภาพันธ์ 2565) ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก : นายธีระพล ศรีเป๊ะบัว สถานสื่อสารองค์กร