โครงการแสดงศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา

ความเป็นมา

งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีเสน่ห์อยู่ภายในตัวเองที่จะดึงดูดให้ผู้คนได้สัมผัสทั้งด้าน นาฏศิลป์ คีตศิลป์และวิจิตรศิลป์ เดิมใช้ชื่อว่า “งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทบวงมหาวิทยาลัย” (ครั้งที่ 1 – 5) ซึ่งต่อมาเมื่อมีการปรับโครงสร้างของส่วนราชการทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการจึงได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ “งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา” ตั้งแต่ครั้งที่ 6 และเปลี่ยนเป็น “งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา”  จนถึงปัจจุบัน

https://siam.edu/culturalart19-and-higher-education-no-19-buriram-rajabhat-university-2-4feb2019/

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ตั้งแต่ ปี 2561
ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิก กว่า 100 สถาบัน เพื่อร่วมกัน อนุรักษ์ ส่งเสริมและ
สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย และดำเนินการจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเสมอมา โดยฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่องที่มีพันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดงานดังกล่าว  จึงนำการแสดงศิลปวัฒนธรรมเข้าร่วมแสดง ซึ่งสอดคล้องกับการจัดตั้งศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ทั่วประเทศ โดยให้โอกาสนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้สืบสานศิลปะการแสดงซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโดยเน้นศิลปะการแสดงท้องถิ่น และแสดงถึงเอกลักษณ์ของ
ความเป็นไทยในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้แสดงความสามารถด้านศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และแสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในแต่ละภูมิภาค ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
กับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ และฝึกประสบการณ์จริงสร้างคุณค่าด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ตระหนักและเข้าใจถึงความงดงาม ซึมซับคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย ธำรงให้ศิลปวัฒนธรรมเป็นมรดกของชาติคงอยู่สืบไป

การจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ครั้งที่ 1  งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 18 “นาฏยปรีดิยานันท์ กึ่งศตวรรษ สนามจันทร์ ศิลปากร” ระหว่างวันที่ 7 – 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา  มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม  ชุดการแสดง “อิ่นกอนฟ้อนแคนไทยทรงดำ”

ครั้งที่ 2   งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 19  “สืบสานวัฒนธรรมนาฏลีลา เฉลิมพระเกียรติพระราชาแห่งแผ่นดิน” ในระหว่างวันที่ 2–4 กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ มหาวิทยาลัย ราชภัฏบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชุด “ระบำอัปสรา”

 

ครั้งที่ 3    งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 20  “ข่วงวัฒนธรรมล้ำค่า สืบสาน มรดกภูมิปัญญาแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 9 – 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จังหวัดลำปาง การแสดง: ชุด ฟ้อน“วิถีคนเมือง”

มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีนักศึกษาในชั้นเรียน ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง  เห็นความสำคัญของศิลปะการแสดงของแต่ละท้องถิ่น จึงมีแนวคิดให้เน้นศิลปะการแสดงท้องถิ่นเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา/ชมรมนักศึกษา/ชมรมบัณฑิต ที่มีความสามารถในการแสดงในแต่ละพื้นที่ ที่จัดงาน ได้มีโอกาสนำความสามารถด้านศิลปะการแสดงมาออกแบบและฝึกซ้อม ให้แก่เพื่อนนักศึกษา และผู้สนใจในท้องถิ่น โดยเน้นการแสดงศิลปวัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์ ส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่คู่คนไทย โดยฝ่ายอุทยานการศึกษาได้บูรณาการการปฏิบัติงานและวิธีการบริหารจัดการในการจัดการจัดชุดหารแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมกับศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.ลำปาง ในการคัดเลือกการแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้ได้ชุดการแสดงที่สวยงาม และหวังว่า คุณค่าของศิลปะการแสดงจะหล่อหลอมกล่อมเกลานักศึกษาและผู้เข้าร่วมชม ได้รู้จักและเข้าใจถึงความงดงามใน ศิลปะแขนงนี้ และส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปะการแสดงศิลปวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ให้ยั่งยืนสืบไป

การแสดงชุด ฟ้อน “วิถีคนเมือง”

การแสดงชุด ฟ้อน “วิถีคนเมือง” ถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นถึง “วิถีชีวิตของชาวล้านนา” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของภาคเหนือมีลีลาท่าฟ้อนของอาจารย์ศักดิ์  สักเสริญ  รัตนชัย ครูภูมิปัญญาพื้นบ้าน จังหวัดลำปางและปราชญ์นครลำปางที่ได้รับรางวัล ภูมิแผ่นดิน ถิ่นล้านนา มาเป็นต้นแบบในการนำเสนอท่าฟ้อน สาระสำคัญประกอบด้วย ท่าฟ้อนแม่บทเผียไหม ท่าฟ้อนตำนานปั่นฝ้าย โดยสร้างสรรค์ท่าฟ้อนให้เข้ากับเนื้อเพลง ท่าฟ้อนลงจังหวะสอดรับกับทำนองช้า-เร็วตามบทเพลงเป็นการประสมประสานท่าฟ้อน เพื่อความสวยงาม เหมาะสมลงตัวของการแสดง

การแสดงศิลปวัฒนธรรมชุด ฟ้อน“วิถีคนเมือง” จะทำให้ผู้ชมได้ชม นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเมือง
ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ของภาคเหนือ ซึ่งมีความนุ่มนวล อ่อนโยน อ่อนหวาน สื่อถึงการดำรงชีวิตของผู้คนที่ไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ

• นักแสดง : ประกอบด้วยครูภูมิปัญญาไทย  นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้สนใจด้านศิลปะ
การรำในท้องถิ่น : จำนวน 14  คน

•  (ผู้อำนวยการแสดง/ควบคุมการแสดง/ฝึกซ้อมการแสดง) ครูภูมิปัญญาไทย  อาจารย์จันทนา  วงษ์คำ

ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.ชนกนารถ  บุญวัฒนะกุล ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาต่อเนื่อง
อาจารย์ บรรจง สมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.ลำปาง

• จัดทำโครงการ/ประสานงาน : นายธนกฤต หาดทวายกาญจน์ หัวหน้าฝ่ายอุทยานการศึกษา
นางสาวบุญทิพย์  ช่วยรัตแก้ว  หัวหน้างานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  นายสุพจน์ สระทองพูน หัวหน้างานประสาน เครือข่ายและชุมชนท้องถิ่น ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.ลำปาง
• ช่างภาพ/วิดีโอ/เพื่อประชาสัมพันธ์งาน

…………………………………………………

ข่าว :  นางสาวบุญทิพย์  ช่วยรัตแก้ว หัวหน้างานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง (1 กุมภาพันธ์ 2565)