ขนมหันตรา

ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่า งานทำบุญ งานแต่ง เทศกาลสำคัญ หรือต้อนรับแขกสำคัญ เพราะขนมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ สวยงาม ประณีตวิจิตรบรรจงในการจัดวางรูปทรงขนม

ขนมหันตรา หรือขนมฝอย เป็นขนมโบราณ ที่นำถั่วกวนมาตกแต่งให้ดูน่ากินมากขึ้น ใช้ได้ทั้ง ถั่วดำ ถั่วแดง แต่นิยมคือถั่วเขียว โดยนำไข่มาห่อให้เป็นตารางสวยงาม ขนมหันตราเป็นขนมมงคลของไทยที่มีมาแต่โบราณ ใช้สำหรับงานมงคล การทำขนมหันตราโบราณ มีวิธีการทำที่ต้องใช้เวลา ความพยายาม ความอดทน และที่สำคัญเป็นขนมไทยที่ต้องใช้ฝีมือที่ละเอียดอ่อนและมีความประณีต

ส่วนผสม ขนมหันตรา

ส่วนผสมนเำเชื่อมน้ำลอย
น้ำตาลทราย ๕๐๐ กรัม
น้ำเปล่า ๕๐๐ กรัม

ส่วนผสมน้ำเขื่อมสำหรับชุบขนม
น้ำตาลทราย ๕๐๐ กรัม
น้ำเปล่า ๓๐๐ กรัม

ส่วนผสมตัวขนม
ถั่วทองนึ่งสุก ๒๕๐ กรัม
น้ำตาลทราย ๘๐ กรัม
กะทิ ๑๓๕ กรัม
เกลือ ๑/๔ ช้อนชา

ส่วนผสมทำไข่ตาราง
ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ ๕ ฟอง

วิธีทำ
๑. ทำน้ำเชื่อมใส โดยนำน้ำตาลผสมน้ำเปล่าตั้งไฟ เคี่ยวให้น้ำตาลละลายใส่ใบเตยเพื่อเพิ่มความหอม
๒. นำถั่วเขียวเลาะเปลือกนึ่งสุกไปปั่นกับน้ำตาลทราย และกะทิ นำมากวนจนล่อนออกจากกระทะ พักให้เย็นลง ปั้นเป็นก้อนกลมขนาด ๒ เซนติเมตร แล้วใช้นิ้วดันให้เป็นทรงสี่เหลี่ยม กดตรงกลางให้บุ๋มเล็กน้อย
๓. ตีไข่แดงแค่พอให้เข้ากัน กรองให้เนียนดี
๔. กรองน้ำเชื่อมเข้มข้น ตั้งไฟให้เดือด ปิดไฟให้น้ำเชื่อมนิ่ง ใช้ไม้จิ้มฟันเสียบถั่วกวน ชุบไข่แดง ใส่ลงในน้ำเชื่อมจนเต็มกระทะ เปิดไฟอ่อน ๆ อีกครั้ง กลับด้านให้ไข่สุกดีทั้งสองด้าน
๕. ตักออกแช่ในน้ำเชื่อมใส เมื่อเย็นตักขึ้นพักสะเด็ดน้ำเชื่อม
๖. ทำไข่ตาราง โดยนำไข่ทั้งฟอง ตีให้เข้ากันแล้วกรองให้เนียน ตั้งกระทะ ทาน้ำมันบางๆใส่ไข่ลงในกรวย โรยในกระทะให้มีลักษณะเป็นตาราง
๗. ตัดขอบไข่ตารางให้เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส วางถั่วกวนลงตรงกลาง พับขอบของไข่ตารางเข้าตรงกลาง แล้วพลิกอีกด้านขึ้นด้านบน

ก็จะได้ขนมหันตราที่สวยงามและประณีต ขนมไทยของคนไทยมีความหมายที่ดีใช้สำหรับงานมงคล อีกทั้งยังสื่อถึงความประณีตงดงามในทุกขั้นตอนของการทำขนม และเป็นสิ่งที่สามารถช่วยในการฝึกสมาธิ รวมถึงเป็นการอนุรักษ์ขนมไทยสืบต่อไปอีกด้วย