เกาะเกร็ดเลื่องลือ ขึ้นชื่อทอดมันหน่อกะลา เพิ่มคุณค่าอาหารท้องถิ่น

 

 

 

 

ที่มา:  https://www.chillpainai.com/scoop/8924/

ลําน้ำเจ้าพระยาที่ไหลจากทางเหนือผ่านบ้านบางตะไนย์ บ้านใหม่ บ้านบางพูด และบ้าน ปากเกร็ด จากบ้านปากเกร็ดตรงบริเวณที่ลําน้ำไหลโค้งอ้อมเป็นรูปเกือกม้า ทําให้เกิดผืนดินเป็นแหลม ยื่นไปตามความโค้งของลําน้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนแคบที่สุดของแหลมได้มีการขุดทางน้ำเล็กๆ ที่ชาวบ้าน เรียกว่า เกร็ด หรือ เตร็ดมาก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดเกร็ดเป็นทางการ เกาะเกร็ด เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ประมาณ 2,820 ไร่ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นมากมายไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามหรือจะล่องเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองสวนผลไม้และคลองขนมหวาน เกาะเกร็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวลือชื่อของเมืองนนท์รู้จักกันดีในฐานะแหล่งชุมชนคนมอญที่มีชื่อเสียง ในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และประเพณีวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านดั้งเดิม ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี เกาะเกร็ดเป็นสถานที่ขึ้นชื่อของชุมชนกลุ่มชาวมอญและมีเครื่องปั้นดินเผา ชั้นดี เป็นสินค้าประจำของเกาะเกร็ดโดยมีพระเจดีย์มุเตาของวัดปรมัยยิกาวาส เป็นสัญลักษณ์ประจำฝั่งท่าน้ำของเกาะ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวบนเกาะเกร็ดก็จะมีทั้งมาเดินเที่ยว ช้อปปิ้ง หาของอร่อย ๆ กิน บ้างก็เลือกนั่งเรือชมรอบเกาะ สินค้าที่เป็นสัญลักษณ์เด่นของเกาะเกร็ดคือเครื่องปั้นดินเผา โอ่ง กระถางเซรามิกรูปร่างต่าง ๆ ในราคาย่อมเยา
มีให้เลือกซื้อเลือกหามากมาย เกาะเกร็ดยังขึ้นชื่อเรื่องอาหารสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่อร่อย เช่น ทอดมันหน่อกะลา ดอกไม้ทอด ข้าวแช่ เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น นอกจากบรรยากาศของเกาะเกร็ดและสถานที่ท่องเที่ยวหรือ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของเกาะเกร็ด คือ อาหารการกินที่มีรสชาติดี ถูกปากนักท่องเที่ยว อีกทั้งอาหารบางชนิดเป็นที่รู้จักกันดีของคนในพื้นที่ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวหรือบุคคลนอกพื้นที่อาจจะยังไม่รู้จักอาหารชนิดนี้ นั่นก็คือ ทอดมันหน่อกะลา

ทำความรู้จักกับ…หน่อกะลา

 

 

 

ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9510000100938

“หน่อกะลา” ถือเป็นผักพื้นบ้านของเกาะเกร็ด และเป็นพืชตระกูลเดียวกับข่า มีลักษณะเหมือนต้นข่าทั้งใบและลำต้น แต่จะมีขนาดเล็กกว่า หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เร่ว    เป็นไม้ล้มลุกจำพวกขิงข่า มีเหง้าใต้ดิน มีกลิ่นหอม ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก ผิวใบเรียบ ออกดอกเป็นกระจุกรูปทรงกลม ดอกย่อยจำนวนน้อย ช่อดอกยาว กลีบดอกเป็นสีขาว  อมชมพู ก่อนที่ช่อดอกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจะมีผลกลมสีเขียวขนาดเท่าเมล็ดบัว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีดำในที่สุด  มีใบประดับ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ผลแห้งแตก เปลือกแข็ง รูปทรงกลม เมล็ดมีน้ำตาล มีกลิ่นหอม เหง้ามีรสจืดและกลิ่นอ่อนกว่าข่า ชาวมอญบนเกาะเกร็ด ใช้หน่อกะลามาประกอบอาหารเป็นเวลานานแล้ว โดยจะนำต้นหน่อกะลา มาปอกเปลือกออกเหลือแต่เนื้อในจะนำมากินสด ๆ หรือจะต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้ หรือนำไปทำเป็นแกงส้มก็อร่อย หน่อกะลายังถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย รวมไปถึงทอดมันหน่อกะลาก็เป็นของกินขึ้นชื่อที่ใครกินแล้ว ก็บอกว่าอร่อยเป็นเสียงเดียวกัน

สรรพคุณและประโยชน์ของหน่อกะลา

หน่อกะลายังมีสรรพคุณที่มีประโยชน์หลากหลาย ได้แก่ ราก มีสรรพคุณ แก้ไอ แก้หืด แก้ไข้ เหง้า    มีสรรพคุณ แก้ผื่นคัน ต้น มีสรรพคุณ แก้คลื่นไส้ แก้ไข้ ใบ มีสรรพคุณ แก้สะอึก ขับลม ขับปัสสาวะ ลดไขมัน ดอกและผล มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ระดูขาว แก้ริดสีดวง แก้หืดไอ ขับเสมหะ แก้ผื่นคัน     เมื่อทราบคุณสมบัติและประโยชน์ของหน่อกะลาแล้วจะเห็นได้ว่าหน่อกะลามีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย ดังนั้น ชาวบ้านจึงนำหน่อกะลามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำอาหาร และอาหารที่ขึ้นชื่อของเกาะเกร็ด คือ ทอดมันหน่อกะลา การทำทอดมันหน่อกะลา มีวัตถุดิบและวิธีการทำที่เหมือนกับการทำทอดมันทั่วไป แต่ความพิเศษของทอดมันนี้อยู่ที่การใส่หน่อกะลาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวเกาะเกร็ด ทำให้ทอดมันนี้เกิดความพิเศษและความน่าสนใจมากขึ้น

วัตถุดิบและขั้นตอนการทำทอดมันหน่อกะลา   วัตถุดิบในการทำทอดมันหน่อกะลา  ได้แก่
เนื้อปลาบด หรือ หมูบดละเอียดปนมัน,หมูบะช่อก็ได้  500 กรัม
หน่อกะลา   5 ต้น
คนอร์ซอสข้นรสหมู  1 ซอง(ช้อน)
น้ำตาลปีบ   1 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา   1 ช้อน
พริกแกงเผ็ด  100 กรัม
ไข่ไก่ฟองใหญ่ เบอร์ 0 หรือ 1     1 ฟอง
ใบกะเพรา    มากน้อยตามชอบ
น้ำมันพืชสำหรับทอด   1 ลิตร

เมื่อจัดเตรียมวัตถุดิบเรียบร้อยแล้ว วิธีการทำมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ (เวลาเตรียมส่วนผสม : 10 นาที  เวลาปรุงอาหาร : 1 ชั่วโมง)
1.  เนื้อหมูบดและพริกแกงผสมกัน เติมไข่ไก่ น้ำตาลปีบ น้ำปลา นวดทุกอย่างให้เข้ากัน
2.  เติมคนอร์ซอสข้นรสหมู ลงไป 1ซอง
3. จากนั้นก็ซอยหน่อกะลา เป็นท่อนยาวประมาณ 5 มม. ใส่ลงไปขยำ แล้วพักไว้
4. ระหว่างนี้ขั้นตอนต่อไปคือการทำกะเพรากรอบ ใบกะเพราล้างน้ำผึ่งลมให้แห้งสนิท
จากนั้นตั้งกระทะด้วยไฟกลางจนน้ำมันเริ่มร้อนนิดๆ ใส่ใบกะเพราลงไปทอดให้ใบเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวใส ๆ
เคล็ดลับ : อย่าใช้ไฟแรงจนเกินไปใบกะเพราจะไหม้เป็นสีน้ำตาลอมเหลืองและขม และอย่าใช้ไฟอ่อนไปใบกะเพราจะไม่กรอบและอมน้ำมัน วิธีสังเกตน้ำมันร้อนพอดีจะมีควันบางๆ ขอบๆ กระทะ
5.   หลังจากตักใบกะเพราขึ้นแล้วก็ทอดทอดมันต่อเลย

ทานคู่กับน้ำจิ้มไก่แตงกวา เติมถั่วลิสงป่นเล็กน้อย หรือ ทานคู่กับน้ำจิ้มอาจาด ก็ได้

เคล็ดลับ : สูตรน้ำจิ้มอาจาด 1 ถ้วยเล็ก
น้ำส้มสายชู   2 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า    1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย หรือน้ำเชื่อม  3 ช้อนโต๊ะ
เกลือ     1/2 ช้อนชา
นำส่วนผสมใส่หม้อตั้งไฟอ่อนจนหมดกลิ่นน้ำส้มสายชู พักให้เย็น หลังจากนั้นใส่วัตถุที่เหลือตามลงไป
แตงกวา  3 ลูก
หอมแดง   2 หัว
พริกชี้ฟ้าแดง  1 เม็ด

 

 

 

 

เพียงเท่านี้เราก็จะได้ชิมรสชาติของทอดมันหน่อกะลาที่อร่อยและยังได้อนุรักษ์เมนูอาหารนี้ต่อไปอีกด้วย การไปท่องเที่ยวเกาะเกร็ดนอกจากทุกท่านจะได้ไปล่องเรือ ไหว้พระ ทำกิจกรรมเครื่องปั้นดินเผาและอื่นๆ อยากแนะนำอีกหนึ่งสิ่งที่ห้ามพลาด คือ การลองชิมทอดมันหน่อกะลาอาหารท้องถิ่นของชุมชน  เกาะเกร็ดเป็นการช่วยอนุรักษ์อาหารท้องถิ่นและอุดหนุนอาหารอร่อยทานง่าย และมีประโยชน์อีกด้วย ที่สำคัญนักท่องเที่ยวท่านใดมีโอกาสผ่านมาที่เกาะเกร็ดแห่งนี้ต้องแวะชิม

 

 

 

 

สุดท้ายนี้ นอกจากที่อยากเชิญชวนให้ลองมาสัมผัสเกาะเกร็ดและอาหารขึ้นชื่ออย่าง ทอดมันหน่อกะลาแล้วนั้น สังคมปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการช่วยกันลดขยะเพื่อช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะ เกาะเกร็ดเป็นสถานที่ยอดนิยมแห่งหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี นักท่องเที่ยวต่างไปท่องเที่ยวกันเพื่อสัมผัสบรรยากาศ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ดังนั้น การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในการใส่ทอดมันหน่อกะลาที่มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ด      จากการใช้ถุงพลาสติกหรือกล่องโฟมเปลี่ยนเป็นการใส่กระทงใบตอง กระทงดอกไม้ หรือกระทงปลีกล้วย ก็ถือเป็นจุดขายที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของทอดมันหน่อกะลา ทำให้นักท่องเที่ยวอยากลองชิม และได้ภาพถ่ายสวย ๆ เพื่อนำไปเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ และที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต
และผู้บริโภคยังได้ช่วยลดขยะลดโลกร้อนอีกด้วย เพียงเท่านี้ก็สามารถท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุขสบายใจและอนุรักษ์อาหารท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

เรียบเรียงโดย นางสาวธมนพรรณ ไชยมงคล นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยศิลปากร  นักศึกษาฝึกงาน ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง

อ้างอิง
คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว. (2560). ภูมินามเกาะเกร็ด. สืบค้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564,  จากhttps://www.senate.go.th/assets/portals/22/ fileups/148/files/รวมเล่ม%20เกาะเกร็ด.pdf ฃ

ศนา หงส์มา. (2553).  วิสาหกิจชุมชนเกาะเกร็ด. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564, จาก http://www.rpu.ac.th/Library_web/doc/RC_RR/2553_Market_Thusana.pdf

Sook travel. (ไม่ระบุ).  ตะลอนทัวร์เกาะเกร็ด. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564,  จาก https://dol.thaihealth.or.th/File/media/118c3da8-30cd-4402-bbc3-b922e0098dcc.pdf

อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา. (ไม่ระบุ). หน่อกะลา. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564,  จาก http://chaipatpark.com/tips/ศูนย์การเรียนรู้อุทยาน-พรรณไม้/item/725-หน่อกะลา.html

ครูโย โยโฮมคาเฟ่. (2562). วิธีทำทอดมันหน่อกะลา. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564. จาก  https://www.wongnai.com/recipes/ugc/43fe584847b444e5939a43cfdf926698?ref=ct