“….เจ้าเอย เจ้าขาว ราวละลอก หอมแต่ดอก ดอกเอ๋ย ดอก….”
“เพลงเจ้าขาว” ที่ผู้คนบนเกาะเกร็ด น่าจะคุ้นเคยหรือเคยได้ยินเพลงนี้กันมาบ้าง เนื่องจากเป็นเพลงพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวเกาะเกร็ด และอำเภอปากเกร็ด ซึ่งเป็นเพลงเรือของคนมอญที่ใช้ร้องรับกันระหว่าง
พายเรือไปตามบ้านเรือนริมน้ำในช่วงเทศกาลการทำบุญ แล้วทำไมถึงต้องร้องแล้วยังเป็นเนื้อร้องภาษาไทยอีกด้วย ทั้งที่ความจริงเป็นเพลงที่อยู่ในประเพณีของคนมอญ
เพลงเรือนี้หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เพลงเจ้าขาว” เป็นเพลงเรือที่คาดว่าคนมอญได้ปฏิบัติและเป็นประเพณีมาช้านาน อาจเป็นประเพณีที่มีอยู่ก่อนในเมืองมอญและคนมอญเหล่านั้นได้นำมาใช้เมื่อมาอยู่ในเมืองไทย ดังจะเห็นได้ว่าประเพณีนี้มีเฉพาะในหมู่คนไทยเชื้อสายมอญเท่านั้น หนึ่งในนั้นก็คือคนมอญที่มีภูมิลำเนาในเกาะเกร็ด และอำเภอปากเกร็ดนั่นเอง
โดยเป็นเพลงที่มักใช้ในช่วงเทศกาลทำบุญ เป็นเพลงเรือที่เป็นการพายเรือไปตามบ้านเรือนริมน้ำ
เพื่อบอกให้ทราบว่าเรือคณะนี้จะทำบุญที่วัดใด พร้อมชักชวนให้ผู้คนมาทำบุญร่วมกัน โดยเป็นประเพณีที่นิยมอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เนื่องจากเป็นช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง เอ่อล้นตลิ่ง
ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งที่ชาวบ้านจะออกมาบอกบุญทางเรือ ด้วยการพายเรือไปตามหมู่บ้านต่างๆ พร้อมกับ
ร้องเพลงเรือ เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญด้วยกัน
การบอกบุญนี้จะมีกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใดยังหาหลักฐานไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี กล่าวคือประมาณต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยโบราณที่คนมอญมาอยู่ที่เกาะเกร็ดใหม่ ๆ ก็ได้นำประเพณีนี้เข้ามาใช้ในการพายเรือบอกบุญ ชักชวนให้ผู้มีจิตศรัทธามาร่วมทำบุญ โดยการร้องด้วย
ภาษามอญ ต่อมา เมื่อพระองค์เจ้าวัชรีวงษ์ หรือพระองค์เจ้าขาว พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 2 (พระโอรส
ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากลาง กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ต้นราชสกุลวัชรีวงศ์ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 และเจ้าจอมมารดาน้อย ระนาด) ได้ยินแล้วเล็งเห็นถึงปัญหาที่ว่า “คนมอญร้องด้วยภาษามอญ
บ้านคนไทยก็ไม่ได้ลงมาทำบุญด้วย เพราะฟังไม่รู้เรื่อง” ท่านจึงทรงนิพนธ์เนื้อร้องเป็นภาษาไทย แต่ยังรักษาทำนองเพลงมอญไว้เช่นเดิม แล้วให้คนมอญนำไปฝึกร้องเป็นภาษาไทยเรื่อยมา แต่ต่อมาเนื้อร้องกลับเลือนหายไปตามกาลเวลา ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดถึงเนื้อร้องต้นฉบับ จึงได้มีการแต่งเนื้อร้องใหม่ขึ้น โดยใช้คำว่า
เจ้าขาวขึ้นต้น ตามพระนามเดิมของพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ เพื่อให้ระลึกถึงบุญคุณที่ท่านเคยทรงนิพนธ์เนื้อร้องไว้ให้ เลยได้ชื่อว่า “เพลงเจ้าขาว” และยังคงเรียกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพลงที่ผู้ร้องสามารถร้องต่อไปเรื่อยๆ โดยเปลี่ยนสร้อยท้ายชื่อดอกไม้ไปเรื่อย ๆ เช่น ดอกสลิด ดอกตำลึง ดอกพลับพลึง ดอกมะดัน และลงท้าย
อวยพรให้คล้องจองกับชื่อดอกไม้นั้น ๆ ตัวอย่าง เช่น
“…เจ้าเอย เจ้าขาว ราวละลอก
หอมแต่ดอก ดอกเอ๋ย ดอกสลิด
ทำบุญด้วยกัน ได้ขึ้นสวรรค์ ชั้นดุสิต
(ลูกคู่) เห่ เฮ เฮ้ ละล่า
เจ้าเอย เจ้าขาว ราวละลอก
หอมแต่ดอก ดอกเอ๋ย ดอกตำลึง
นำบุญมาให้ถึง หัวกระได แล้วแม่รำพึง….”
(ลูกคู่) เอ๋ย โอละหน่าย โอละหน่าย หน่อยเอย
(คำว่า “ชั้นดุสิต” จะคล้องคลองกับ “ดอกสลิด” และคำว่า “แม่รำพึง” จะคล้องจองกับ “ดอกตำลึง”)
รูปที่ 1 เรือบอกบุญ
ที่มา https://library.stou.ac.th/odi/chaw-khaw/page_1.html
ก่อนเทศกาลทอดกฐิน หรือทอดป่าผ้า มาถึง ในตอนเย็นหลังตะวันตกดิน ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันทั้งชายหญิง พบกันที่วัด เพื่อมาลงเรือมาดลำใหญ่ ภายในเรือจะมีกระบุงหรือภาชนะอื่นๆ ที่เตรียมไว้ใส่ข้าวของ ที่หัวเรือจะมีตะเกียงเจ้าพายุจุดไว้เพื่อให้แสงสว่าง พ่อเพลงแม่เพลงนั่งประคองบาตร กลางลำเรือมีพ่อวง
ทำหน้าที่ตีระนาด ลูกวงตีตะโพนมอญ ฉิ่ง ฉับแกระ เพื่อใช้บรรเลงประกอบเวลาร้อง และลูกรับที่ทำหน้าที่ฝีพายและคอยร้องรับถ้อยคำของพ่อเพลงแม่เพลง เรือเจ้าขาวจะพายไปตามบ้าน เมื่อเทียบท่าหน้าบ้านใคร
ก็ร้องเพลงเชิญให้เจ้าของบ้านทำบุญ เมื่อเจ้าของบ้านทำบุญแล้วจะร้องเพลงให้พรแก่เจ้าของบ้าน จากนั้นจึงพายไปยังบ้านอื่น ๆ ต่อไป เรือเจ้าขาว จะออกบุญคราวละหลาย ๆ คืน จนเมื่อเห็นว่าบรรดาสิ่งของที่ได้รับบริจาค รวมทั้งเงินได้พอทอดกฐินแล้ว การบอกบุญก็หยุด
ประเพณีเพลงเจ้าขาว เป็นวัฒนธรรมของคนมอญมาตั้งแต่ในอดีต ที่เป็นการบอกบุญทางเรือผ่าน
บทเพลงการละเล่น ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของบทเพลงพื้นบ้านมอญ ที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานบันเทิง
ความสามัคคีของผู้คนต่างหมู่บ้าน ที่ได้มีโอกาสมารู้จักกันผ่านการร้องเพลงเรือบอกบุญ รวมถึง
ในแง่วรรณกรรม เป็นปฏิภาณกวีที่ด้นเนื้อร้องกันสดๆ ตามสถานการณ์ตอนนั้น ซึ่งถือเป็นประเพณีอันดีงาม
ของคนมอญอย่างหนึ่งที่ได้มีให้เห็นในเกาะเกร็ด เกาะแห่งพหุวัฒนธรรมของจังหวัดนนทบุรี
เรียบเรียงโดย นางสาวอารยา อนุศาสน์อมรกุล นักศึกษาสาขาวิชา การศึกษาตลอดชีวิต : หลักสูตรและการเรียนรู้สังคมศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักศึกษาฝึกงาน ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง
อ้างอิง
กิเลน ประลองเชิง. (2562). เพลงเจ้าขาว. เรียกใช้เมื่อ 21 มิถุนายน 2564 จาก https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1462748
ชลลดา หงษ์งาม, สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.), คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค. (2564). เพลงบอกบุญ เพลงเจ้าขาว. เรียกใช้เมื่อ 23 มิถุนายน 2564 จาก https://oer.learn.in.th/d/220354#/APA
บ้านจอมยุทธ. (2564). ประเพณีในเกาะเกร็ด. เรียกใช้เมื่อ 21 มิถุนายน 2564 จาก https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/tradition_on_the_kohket/18.html
Alive. (2560). ตามตำนาน I EP.15 I “เกาะเกร็ด” ดินแดนแห่งอารยธรรมชาวมอญ I Full HD. เรียกใช้เมื่อ 21 มิถุนายน 2564 จาก https://youtu.be/8geL07thEZU