มนุษย์คือผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ “เครื่องปั้นดินเผา” เป็นหนึ่งในการประดิษฐ์ศิลปะในรูปแบบของ ดินเผาที่มีอายุนานกว่า 10,000 ปี ผ่านกระบวนการทางความคิด การสังเกต และรวบรวมเอาประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์มาถ่ายทอดเป็นชิ้นงาน ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยหรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ซึ่งลวดลาย รูปทรง และสีสัน ของชิ้นงานเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ศาสนาและประเพณีตามถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์
ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของเครื่องปั้นดินเผา หมายถึง วัตถุประดิษฐ์เพื่อใช้เป็นเครื่องใช้ ทำมาจากอนินทรียสารอโลหะ คือแร่ธาตุและหินเป็นหลัก โดยผ่านกรรมวิธีการเผา เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่ง ซึ่งปัจจุบันจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า “เซรามิค” จะให้ความหมายที่กว้างและคลอบคลุมถึงโลหะเคลือบ เช่น ช้อน สังกะสี อิฐ ตลอดจนแก้วทุกชนิด
จากการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในปัจจุบัน สามารถแบ่งยุคสมัยเครื่องปั้นดินเผาของไทย โดยจำแนกออกตามอายุความเก่าแก่ของแห่งที่พบ
ภาพที่ 1 ขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผา บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
ที่มา: http://www.udonthani.com/banchiang.htm
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุได้ประมาณ 2,500-10,000 ปีมาแล้ว จากหลักฐานการขุดค้นหาทางโบราณคดี พบว่าเศษภาชนะดินเผาส่วนใหญ่ที่มีลักษณะเนื้อดินปั้นภาชนะจะเป็นแบบเนื้อเอิร์ทเธนแวร์ (Earhenware) เผาในอุณหภูมิต่ำ เนื้อปั้นไม่สุกตัว มีหลายสี เช่น น้ำตาล แดง ดำ เหลือง มีการแตกต่างลวดลายด้วยการขูด ขีด การกดประทับเป็นลายจักรสาน ลายเสื่อ และการขัดผิวมัน พบร่องรอยภาชนะดินเผาใน 3 พื้นที่ได้แก่ ถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน, หมู่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
2. สมัยประวัติศาสตร์ เป็นสมัยที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการขุดค้นทางโบราณคดีค่อนข้างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
อาณาจักรทวารวดี
เริ่มตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 ในสมัยอาณาจักรทวารวดี มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการรับวัฒนธรรมมาจากอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ พบรูปแบบภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ได้แก่ หม้อมีสัน หม้อก้นกลม ไห ชาม หม้อมีพวย จานมีเชิงสูง เนื้อดินปั้นภาชนะจะเป็นแบบเนื้อเอิร์ทเธนแวร์ เนื้อดินมีลักษณะพรุนตัว มีสีแดง น้ำตาลเทาแก่ มีการตกแต่งลวดลายทั้งลายขูดรีด การเขียนสี การขัดมัน และการกดประทับด้วยด้วยแม่พิมพ์กดโดยมีรูปแบบที่เด่นชัด ได้แก่ ลายกดประทับคน สัตว์ หรือดอกไม้ ประทับลงบนไหล่และตัวของภาชนะดินเผา สามารถจำแนกประเภทหม้อได้ ดังนี้
1. หม้อดินเผา มีลักษณะเนื้อบาง ก้นกลม ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบตลอดทั้งใบ คาดว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยมากกว่าความสวยงาม พบมากในพื้นที่ จันเสน อำเภอตาคลี จังหวัด นครสวรรค์และบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
2. หม้อมีสัน มีลักษณะเนื้อดินบาง ปากกว้าง คอสั้น ก้นหม้อค่อนข้างกลม มีทั้งก้นตื้นและลึก ผิวมีทั้งขัดมันและไม่ขัดมัน มีสีดำ แดง และน้ำตาล เหนือสันหม้อตกแต่งด้วยลายเส้นนูนหรือขุดเป็นร่องลึก 1-3 เส้น หรือเป็นรอยกดเป็นระยะๆ ที่ตัวหม้อใต้แนวสันลงไปถึงก้น ตกแต่งด้วยลายขูดขีดและลายเชือกทาบ
3. หม้อก้นกลม มีลักษณะเนื้อแกร่งกึ่งสโตนแวร์ คอคอดสูง ผลิตด้วยฝีมือประณีตตกแต่งด้วยเทคนิคต่างๆ และเขียนสี บริเวณส่วนบ่านิยมตกแต่งด้วยลายลด เป็นแนวยาวคล้ายลายคลื่นขนานกัน 3-4 เส้น เรียกว่า ลายหวี
อาณาจักรลพบุรี
ในพุทธศตวรรษที่ 16-19 ในสมัยอาณาจักรลพบุรี นักโบราณคดีค้นพบเตาเผาที่บ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาลพบุรีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เครื่องถ้วยเขมร เป็นภาชนะเครื่องปั้นดินเผาทรงสูง เช่น ไหเท้าช้างไหมีหู ชามพาน กาน้ำ กระปุก และนิยมทำเป็นภาชนะรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง กระต่าย หมู และลิง ในสมัยนี้มีการพัฒนาในเรื่องการใช้น้ำเคลือบจากธรรมชาติมาผสมกับดินเคลือบสีดำ
ภาพที่ 2 จานเคลือบสีเขียว ตัวจานเซาะเป็นร่องขนานกันในแนวตั้งก้นถูกกดประทับด้วยลายปลาคู่
ที่มา: http://www.wangdermpalace.org/Pottery_th.html
โดยเครื่องปั้นเหล่านี้ โดยทั่วไปจะพบอยู่ตามโบราณสถานตามแบบขอมโบราณเรียกกันว่า ปราสาทหิน อยู่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พิธีเผาศพ ซึ่งเมื่อทำพิธีกรรมเสร็จจะนำศพมาบรรจุอัฐิและอังคาร โดยจะใช้ภาชนะดินเผาในการบรรจุอัฐิแล้วนำไปฝังไว้รอบอาคารสถาน
สมัยสุโขทัย
ในพุทธศตวรรษที่ 19-21 ในสมัยสุโขทัย เป็นยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา มีการผลิตอย่างจริงจังและจัดส่งเป็นสินค้า นักโบราณคดีขุดค้นพบแหล่งเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญในสมัยสุโขทัย จำนวน 600-800 เตา โดยภาชนะเครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์เน้นการใช้สอย เช่น จาม ชาม ไห เชิงเทียน กาน้ำ เป็นต้นและผลิตภัณฑ์เครื่องประดับสถาปัตยกรรม เช่น กระเบื้อง ท่อน้ำ ลูกกรง เป็นต้น สมัยนี้มีเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะโดดเด่นคือ ภาชนะเคลือบสีเขียว ฟ้าอมเขียว สีเขียวหยกที่เรียกว่า เซลาดอน และมีเคลือบสีต่างๆ เช่นสีน้ำตาล ดำ เป็นต้น
ภาพที่ 3 เตาเผาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี
ที่มา: http://libsis.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=24465
สมัยอยุธยา
ในพุทธศักราชที่ 2112 หลังจากอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 ทำให้หัวเมืองและอาณาจักรอื่นๆได้รับผลกระทบหลังจากเสียกรุงคือ จากการสลายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาในอาณาจักรสุโขทัย ต่อมาอยุธยาได้มีการสั่งซื้อเครื่องปั้นดินเผาจากจีนมาใช้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในราชสำนักอยุธยา และราวในปีพุทธศักราช 2143 ได้มีการสร้างเตาเผาขึ้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ชื่อว่าเตาเผาแม่น้ำน้อย พบอยู่ในบริเวณ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี นับเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าเครื่องปั้นดินเผาส่งออกภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่นิยมผลิตคือ ไหสี่หู เป็นภาชนะบรรจุสินค้าอาหารลักษณะเครื่องปั้นดินเผาของเตาแม่น้ำน้อย มีลักษณะเนื้อดินปั้นแบบเนื้อแกร่ง มีการเคลือบสีน้ำตาล ได้แก่ ภาชนะพวกไหสี่หู กระปุกขนาดเล็ก และกระปุกเต้าปูน ส่วนเนื้อดินปั้นไม่แกร่งได้แก่ ภาชนะไห ครก อ่าง นอกจากนี้ยังทำผลิตภัณฑ์ประดับสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง เช่น กระเบื้องเชิงชาย ท่อน้ำ เป็นต้น
สมัยอยุธยา
พุทธศตวรรษที่ 23 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เริ่มการติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น โดยมีการสั่งทำเครื่องถ้วยชามประเภทเบญจรงค์จากจีน โดยมีลวดลายเป็นของไทยเขียนสีบนเคลือบ 5 สี คือ เขียว แดง ขาว น้ำเงิน เหลือง และเครื่องถ้วยเขียนลายน้ำเงินขาวของจีน
เครื่องปั้นดินเผาในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มมีการฟื้นฟูเครื่องปั้นดินเผา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดให้มีการสั่งภาชนะเครื่องใช้ของหลวง ได้แก่ จาน ชาม จากเมืองจีนโดยส่งช่างไทยไปควบคุมการเขียนลวดลายให้เหมือนกับแบบที่ช่างหลวงเขียน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงทำนุบำรุงฟื้นฟูเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย ทรงให้สร้างเตาเผาแบบเตาทุเรียง ที่วัดสระเกศ เพื่อใช้ในการเผากระเบื้องมุงหลังคา ในต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยเริ่มมีโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อหยาบ เช่น กระถาง โอ่ง อ่าง และไห
สมัยปัจจุบัน
เครื่องปั้นดินเผาได้รับการพัฒนาและเติบโตขึ้นตามลำดับ โดยอาศัยหลักวิชาการและเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับความนิยม ปัจจุบันพบว่ามีโรงงานอุสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาหรือเซรามิคขนาดใหญ่กว่า 38 โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม มีการผลิตปริมาณเพียงพอต่อคนในประเทศ และยังสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าให้คนประเทศและต่างประเทศ
ภาพที่ 4 เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด
ที่มา: http://kpdpkkkuangpundinphaokohkred.blogspot.com/2014/11/
ถึงแม้ว่าการพัฒนาของเครื่องปั้นดินเผาจะเติบโตในวงการอุตสาหกรรมเซรามิค ยังมีชาวบ้านที่ยึดถือและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการปั้นดินเผาของบรรพบุรุษไว้ในท้องถิ่นของตน เช่น ชุมชนเกาะเกร็ด อำเภอ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับเครื่องปั้นดินเผามาตลอดหลายชั่วอายุคน ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง คือ หม้อน้ำลายวิจิตร จัดทำขึ้นเพื่อถวายพระสงฆ์และนิยมนำมาเป็นของกำนัลให้ผู้ใหญ่ในเทศกาลสำคัญต่างๆ ซึ่งลักษณะเครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ดจะแตกต่างกับเครื่องปั้นดินเผาในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทย อันเนื่องมาจากสภาพดินที่เหมาะสม ดินมีความเหนียวดี สีนวลหรือปนเหลือง ไม่ดำเกินไป เนื้อดินจับกันเป็นก้อน ไม่ร่วนซุย เป็นดินที่พบได้บริเวณเกาะเกร็ดเท่านั้น
เครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดจะมีลักษณะขอบปากจะกลมกลึงเหมือนกระบอกไม้ไผ่ครึ่ง ไหล่ผายออกลาดโค้งลงมาที่ก้น ทำเส้นลวดลายเน้นที่ขอบและไหล่เครื่องปั้น ตกแต่งลวดลายที่ผิวภาชนะตั้งแต่ไหล่จนถึงก้นโดยไม่ปล่อยให้เหลือพื้นที่ว่าง โดยเฉพาะภาชนะก้นกลมจะฉลุลวดลายอย่างวิจิตรงดงามด้วย ส่วนภาชนะก้นตัดซึ่งสามารถตั้งได้โดยไม่ต้องใช้ขารองจะเน้นลวดลายที่ก้นเป็นพิเศษ นอกจากลวดลายที่ไหล่และก้นแล้วที่ฝาก็ตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตรให้เข้ากับส่วนตัวและฐาน เรียกว่า ทรงเครื่อง
เครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ด เกือบจะสูญหายไปเนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ.2539 ชาวบ้านได้รวมตัวขึ้นอีกครั้งเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ประกอบกับขณะนั้นเริ่มมีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะเกร็ด จึงทำให้เครื่องปั้นดินเผาได้รับความนิยมอีกครั้ง ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาที่ เกาะเกร็ดกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง เครื่องปั้นดินเผา เพราะมีการเปิดโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ได้จัดให้ที่แห่งนี้เป็นบ้านสาธิตการแกะสลักเครื่องปั้นดินเผา เตาเผาโบราณ และเปิดเป็นตลาดชุมชนสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและคนในชุมชนอีกด้วย
ไม่เพียงแต่ชุมชนในท้องถิ่นที่ร่วมอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาได้ฟื้นฟูและสนับสนุน อาทิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราชเป็นหนึ่งหน่วยงานด้านการศึกษาที่ให้ความสนใจเรื่องเครื่องปั้นดินเผาได้เก็บรักษาเครื่องปั้นดินเผาบางส่วนที่ชาวบ้านในท้องถิ่นมอบให้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ไว้
ตลอดระยะเวลาที่ได้ศึกษาข้อมูลเครื่องปั้นดินเผาจะเห็นการพัฒนาการของมนุษย์ทีมีต่อเครื่องปั้นดินเผามาอย่างยาวนาน จากวัสดุที่ผลิตมาเพื่อใช้สอยและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันผ่านการใส่ ลวดลาย รูปทรง และสีสัน สร้างเอกลักษณ์และเพิ่มคุณค่าสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน กลายเป็นของดีประจำจังหวัดต่างๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางจิตใจที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยสืบต่อไป
เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ
ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
บรรณานุกรม
Phirakit Thephawan. [ออนไลน์]. “วิวัฒนาการเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย ข่าวสารในแวดวงเซรามิค” [สืบค้นวันที่ 4 ตุลาคม
2561]จาก http://ceramicnews.blogspot.com/2014/08/blog-post_26.html.
วัชรพล แก้วเสน่ห์.[ออนไลน์]. “องค์ความรู้ภูมิปัญญาช่างฝีมือเครื่องปั้นดินเผา บ้านเทิดไทย หมู่ที่1 ตำบลเทิดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด”. [สืบค้นวันที่ 4 ตุลาคม 2561]จาก https://www.m-culture.go.th/roiet/images/din.pdf.