ลายไทย : พุ่มข้าวบิณฑ์

 ลายไทย เป็นแขนงหนึ่งของวิชาศิลปะซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ลวดลายต่างๆที่ถูกรังสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมและสถาปัตยกรรมที่ตั้งตระหง่านอยู่ในแต่ละภูมิภาคของไทย ซึ่งลวดลายต่างๆ จะให้ความรู้สึกอ่อนช้อย งดงาม นุ่มนวล เป็นลักษณะนิสัยของคนไทย จึงมีการสืบสานและวางแผนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 “ลาย” ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า รูปแบบทางทัศนศิลป์ประเภทหนึ่ง ประกอบขึ้นด้วยเส้นเป็นสำคัญ ลักษณะเป็นแบบซ้ำๆ เป็นหมู่ๆ หรือต่อเนื่องกันไป มีทั้งลายแบบธรรมชาติและลายแบบประดิษฐ์ใช้เขียน ปั้น หรือแกะสลัก จึงแบ่งความหมายของลายไทยตามลักษณะวิธีการสร้างสรรค์ได้ 3 รูปแบบ

          1. ลายไทยในเชิงจิตรกรรม หมายถึง ลักษณะของลายที่เขียนลงไปบนพื้นเรียบๆ เป็นการเขียนลวดลายที่มีลักษณะ 2 มิติ

          2. ลายไทยในเชิงประติมากรรม หมายถึง ลายที่มีลักษณะยกจากพื้นขึ้นมาเล็กน้อย โดยจะมีความตื้นลึกมากกว่าลวดลายในงานจิตรกรรม อาจเป็นลายนูนต่ำ ลายนูนสูง หรือลอยตัวก็ได้

          3. ลายไทยในเชิงสถาปัตยกรรม หมายถึง ลายที่ประกอบอยู่ในงานสถาปัตยกรรมมีทั้งแบบ 2 และ 3 มิติ

ความเป็นมาของ “ลายไทย”

มีข้อสันนิษฐานว่า ลวดลายไทยเกิดขึ้นจากอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาที่เผยแพร่เข้าสู่ดินแดนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เห็นได้จากลวดลายที่ถูกรังสรรค์จากช่างฝีมือเป็นรูปทรงต่างๆ ซึ่งได้แนวคิดมาจาก ดอกบัว พวงมาลัย ควันธูป และเปลวเทียน เกิดการพัฒนาเป็นลวดลายที่สำคัญ ที่ปรากฏอยู่ในประติมากรรมและสถาปัตยกรรมในส่วนต่างๆของภูมิภาคในประเทศไทย ลวดลายเหล่านี้ได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนานภายใต้การอุปถัมภ์ของราชสำนักเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว

วิวัฒนาการของลายไทยสืบเนื่องตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-16  ช่วงสมัยศิลปะทวารวดีตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดนครปฐม อู่ทอง ราชบุรี ลพบุรีและปราจีนบุรี งานลวดลายแบบทวารวดีได้รับการผสานสานกับลวดลายประดับร่วมสมัยของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ลวดลายที่มีชื่อเสียงในสมัยทวารวดีมีชื่อเรียกในหมู่ช่างปัจจุบันว่า กระหนกผักกูด มีลักษณะใกล้เคียงกับใบผักกูดที่มีขอบใบหยักคดโค้งคล้ายคลึงกัน หากนำลายกระหนกผักกูดมาประกอบร่างรวมกันกับลายอื่นๆ จะได้ลวดลาย  ที่มีลักษณะคล้ายเถาพรรณไม้ เรียกว่า ลายกระหนกเครือเถา

ลวดลายไทยได้รับพัฒนามาจนถึงศตวรรษที่ 19 สมัยอยุธยา ช่างหลวงของกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีพื้นฐานเดิมอันเกิดจากวัฒนธรรมการสั่งสมประกอบกับการปรุงแต่งด้วยการผสมผสานของวัฒนธรรมขอมและวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาค้าขายทำให้เพิ่มเติมความหลากหลายในงานช่างเช่นกัน

แม้ราชธานีกรุงศรีอยุธยาผ่านช่วงระยะเวลากว่า 400 ปี หลักฐานทางด้านงานช่างได้แสดงว่าลวดลายไทยเป็นศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมในพระพุทธศาสนา ภายใต้พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงนำในการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัด ศิลปะของช่างหลวง จึงสืบทอดเป็นแบบแผนประเพณีที่แพร่หลายสู่สังคมระดับล่างทั้งในราชธานีและเมืองต่างๆในพระราชอาณาจักร ลายไทยได้รับการรักษาและบูรณะจนพัฒนามาเป็นแนวประเพณีร่วมสมัยอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

ลายไทยธำรงอยู่ควบคู่กับศาสนาและสถาบันกษัตริย์ มีการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดที่เปลี่ยนไปตามความนิยมใหม่ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จนมาถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บทบาทของเอกชนได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เพิ่มความหลากหลายให้แก่งานช่างไทย ช่างโบราณ หรือที่เรียกกันว่า งานช่าง แนวแบบแผนประเพณี ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในวัด หรือในปราสาทราชวัง ดังเช่นอดีตที่ผ่านมา แต่ได้แพร่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในหน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน หรือตามห้องแสดงภาพและมีการประยุกต์กับศิลปะร่วมสมัยของวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกเกิดการเลือกวัสดุสำหรับการสร้างลวดลายและพื้นที่การแสดงออกที่แยกประเด็นออกไปจากเดิม

ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์

ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของศิลปะสุโขทัยที่ได้รับความนิยมจากช่างศิลป์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปะประจำชาติไทย กนก นารี กระบี่ คช (ม.ป.ป.) กล่าวว่า พุ่มข้าวบิณฑ์  คือเป็นลายทรงพุ่มมีโครงภายนอกคล้ายดอกบัวสัดส่วนถอดออกจากรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน สูง 3 ส่วน คอนบนเป็นรูปกระจังใบเทศยอดตั้งขึ้น ตอนล่างเป็นกระจังใบเทศกลับยอดลงมา แต่เล็กกว่าส่วนบน 1 เท่า ระหว่างต่อกันมี ตัวห้ามโดยใช้บัวเล็กๆ ภายในตรงกลางเขียนเป็นทรงพุ่มเล็กๆ โดยเลียนแบบตามโครงภายนอกรอบนอกประกอบด้วยแข้งสิงห์ต่อๆกันเหมือนใบเทศ สอดไส้และบากแบ่งตัวเพื่อความเหมาะสม               พุ่มทรงข้าวบิณฑ์เป็นลายประเภทดอกสำหรับใช้ออกลาย ห้ามลายและยังใช้ประกอบลายอื่นๆได้อีกด้วย ซึ่งอาจจำแนกลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ได้ดังนี้

1. ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์

ภาพโครงสร้างและขั้นตอนการเขียนลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์
ที่มา: การศึกษาลายผ้าในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ,รศ.ดร. จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง : 2553

2. ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์กระหนกเปลว

 พุ่มทรงข้าวบิณฑ์กระหนกเปลว มีลักษณะลายที่มีเค้าโครงของพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ส่วนภายในใช้ลายของทรงลักษณะหางสิงโตและรูปร่างคล้ายทรงดอกบัว

ภาพโครงสร้างและขั้นตอนการเขียนลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์กระหนกเปลว
ที่มา: การศึกษาลายผ้าในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ,รศ.ดร. จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง : 2553
 

3. ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ผักกูด

ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ผักกูดอยู่ในรูปทรงของดอกบัวเช่นกัน โดยนำเอาธรรมชาติจากต้นผักกูดมาประดิษฐ์ดัดแปลง

ภาพโครงสร้างและขั้นตอนการเขียนลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ผักกูด
ที่มา: การศึกษาลายผ้าในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ,รศ.ดร. จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง : 2553
 

4. ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์หน้าขบ

ลายพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบเป็นลายที่ใช้กระหนกประดิษฐ์เป็นลักษณะของหน้าสิงห์

ภาพโครงสร้างและขั้นตอนการเขียนลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์หน้าขบ
ที่มา: การศึกษาลายผ้าในงานจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ,รศ.ดร. จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง : 2553
 

นอกจากพุ่มข้าวบิณฑ์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังปรากฏลายพุ่มข้าวบิณฑ์รูปทรงอื่นๆ เช่น ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์น่องสิงห์ ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์เปลวน่องสิงห์ ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ใบเทศ ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์เปลวใบเทศ ลายพุ่มเทียนหรือพุ่มยุรฉัตร และลายพุ่มบังแทรก เป็นต้น

ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์น่องสิงห์

ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์เปลวน่องสิงห์

ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ใบเทศ

ลายพุ่มเทียนหรือพุ่มยุรฉัตร

ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ได้รับการพัฒนาจากช่างศิลป์สมัยใหม่มีการผสมผสานกับชาติตะวันตกและชาติตะวันออกกับความเป็นไทย ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมใหม่ๆที่ใช้ลวดลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ อาทิ ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยได้รับการออกแบบโดย ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ โดยรูปทรงศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ได้รับการประยุกต์จากสถาปัตยกรรมสุโขทัย มียอดเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้กลายเป็นนิทรรศการให้ความรู้พระราชกรณียกิจของพระราชาและรอบนอกของอาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นสถานพักผ่อนของนักศึกษา บุคลาการของมสธ. และบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยสำหรับพักผ่อนภายใต้การดูแลของฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มสธ.

ลายไทยคือศิลปะอันทรงคุณค่าของไทยที่อยู่คู่กับวัฒนธรรม ศาสนาและความเชื่อของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาและประยุกต์กับศิลปะร่วมสมัยซึ่งเป็นการอนุรักษ์อย่างหนึ่งให้สอดคล้องและเหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเพื่อรักษาและคงคุณค่าของลายไทที่ทรงคุณค่าให้อยู่คู่กับมรดกของชาติไทยสืบไป

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ 
ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมธิราช

บรรณานุกรม

จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง.2553.“ภาพโครงสร้างและขั้นตอนการเขียนลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์หน้าขบ”. ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา,2553

บ้านจอมยุทธ .[ออนไลน์]. “ความเป็นมาของลายไทย”.[สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561] จาก https://www.baanjomyut.com/library_2/extension- 3/evolution_of_thai_art/06.html.