“ผ้าไหมแพรวา” ราชินีแห่งไหม ชาวภูไทกาฬสินธุ์

เมื่อกล่าวถึง “ผ้าไหมแพรวา” ศิลปหัตถกรรมของชาวผู้ไทที่ได้รับสมญาณนามว่า “ราชินีแห่งผ้าไหม” ของดีประจำจังหวัด กาฬสินธุ์ สิ่งทอมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวภูไทที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศและก้าวสู่เวทีระดับโลก แต่เดิมผ้าไหมแพรวามาพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวภูไท ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณ แคว้นสิบสองจุไทย ได้อพยพย้ายถิ่นฐานผ่าน เวียดนาม ลาวและข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพานทางภาคอีสานของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร โดยชาวภูไทยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของตนและได้รับการพัฒนาจากคนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่องผ้าแพรวาจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของชาวภูไท


ภาพที่ 1 สืบทอดความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาวผู้ไท

ที่มา: โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๓ จังหวัดสกลนครhttp://www.rpg53.ac.th

“แพรวา” มาจาก แพร หมายถึง ผ้า ส่วน วา หมายถึง ความยาวของผ้า 1 วา ผ้าแพรวาจึงมีความหมายรวมกันว่า ผ้าทอเป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียง ชาวภูไทจึงเรียกว่า “ผ้าเบี่ยง” หรือแพรเบี่ยง โดยมาจากลักษณะการเบี่ยงสะพายพาดหน้าอกใช้กับผู้หญิง ส่วนผู้ชายจะใช้ผ้าชนิดนี้พันคอหรือเป็นผ้ากราบในกรณีที่บูชาพระ ไหว้พระ เป็นผ้าที่สืบเนื่องจากความเชื่อของชาวผู้ไท มาจากความเชื่อที่ว่า บ้านไหนที่มีลูกสาว ผู้เป็นแม่จะต้องสอนลูกสาวให้ทอผ้าถึงจะออกเรือนได้ ส่วนครอบครัวฝ่ายชาย แม่ฝ่ายชายจะหาลูกสะใภ้ที่ดี โดยจะดูนิสัยใจคอหญิงสาวผ่านงานทอผ้าและสายผืนผ้าที่ทอมีความละเอียดอ่อน ประณีตเพียงไรนั้นแสดงถึงความใจเย็น ความสุขุม ซึ่งไม่แปลกใจว่าการทอผ้าไหมแพรวาส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่นิยมทอผ้าชนิดนี้ และนิยมสวมใส่ผ้าไหมแพรวาในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ โดยประเพณีทางวัฒนธรรมของหญิงสาวชาวภูไทจะยึดถือปฏิบัติคือ ตัดเย็บผ้าทอ 3 อย่างคือ เสื้อดำ ตำแพร (หมายถึง การทอผ้าแพรวา) และซิ่นไหม

รูปแบบของผ้าไหมแพรวา

ผ้าไหมแพรวาที่บ้านโพนส่วนใหญ่มีลักษณะโครงสร้างของผืนผ้าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความกว้างประมาณ 50-55 เซนติเมตร มีขนาดความยาวประมาณ 1 วา ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะ จะนำไปใช้ห่มพันหน้าอกรอบลำดับส่วนบนของสตรี และพาดคลุมบ่าด้านหนึ่งลงมา ทิ้งชายห้อยสั้นๆที่ด้านหน้าอกและด้านหลังของสตรีพอดี

ภาพที่ 2 การสาธิตการทอผ้าไหมแพรวาโดยการเกาะเกี่ยวลายด้วยปลายนิ้วก้อย
ที่มา: ศุนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประขาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหมยะบุศย์, 2545
ลักษณะผ้าจะทอด้วยไหมน้อย ซึ่งเป็นไหมเส้นละเอียดอ่อน ย้อมด้วยสีแดงซึ่งเป็นสีที่ได้จากครั่ง และเมล็ดต้นชาตรี มีการทอให้เป็นลวดลายทั้งผืน ลวดลายบนผ้าเกิดจากการจกผสมกับการขิด เมื่อนำผืนผ้าแพรวามาทบครึ่งผืนจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนของชายครุย กับส่วนของผืนผ้า

กรรมวิธีในการทอผ้าไหมแพรวา

ทอผ้าแพรวาของชาวผู้ไท ลักษณะคล้ายกับการทอผ้าพื้นเมือง ของหลายๆจังหวัดของภาคอีสาน คือ เริ่มตั้งแต่เลี้ยงตัวไหม สาวไหม และย้อมไหม เพื่อนำมาใช้ในการทอ แต่ผ้าแพรวาจะแตกต่างกับผ้าทอชนิดอื่นๆ ที่ความประณีต ลวดลายและสีสันของผ้าทอ โดยมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าในรูปแบบของ “ผ้าแซ่ว” คือผ้าที่รวบรวมลายเพื่อใช้เป็นแม่แบบในการประดิษฐ์ลายผ้าของแต่ละครอบครัว ผ้าแซ่วจะมีขนาด 30 × 30 เซนติเมตรและมีการทอลวดลายไว้เต็มผืนผ้า โดยทุกบ้านจะมีผ้าแซ่ว ที่ใช้สำหรับการทอผ้าไหมแพรวา 1-2 ผืน เพื่อใช้ในกระบวนการขิดและกรรมวิธีการจก

กระบวนการขิดจะใช้วิธีเก็บลายขิดบนผ้าพื้นเรียบโดยใช้ไม้เก็บขิด คัดเก็บขิดยกลายโดยต้องนับจำนวนเส้นไหมแล้วใช้ไม้ลายขิดสานเป็นลายเก็บไว้ ในการทอเก็บลายจะแบ่งเป็นช่วง แต่ละช่วงเก็บลายไม่เหมือนกัน ส่วนที่อยู่ตรงปลายต่อกับผ้าเรียบเป็นการเก็บขิดดอกเล็ก ส่วนต่อไปเป็นการเก็บขิดดอกใหญ่ เรียกว่า “ดอกลายผ้า” ใช้ไม้ในการเก็บลายต่างกัน ส่วนกรรมวิธีการจกคือ การยกเส้นด้ายยืนแล้วสอดเส้นไหมสีซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในผืนผ้า ทำให้เกิดลวดลายผ้าที่ต้องการนั้น การทอแพรวาแบบผู้ไทแท้นั้นจะไม่ใช้อุปกรณ์อื่นช่วย ไม่ว่าจะเป็นเข็ม ไม้ หรือขนเม่น แต่จะใช้นิ้วก้อยจกเกาะเกี่ยว และสอดเส้นไหมสีซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษแล้วผูกเก็บปมเส้นด้ายด้านบนเพื่อให้เกิดลวดลาย โดยใช้การเกาะลายด้วยนิ้วก้อยตลอดจากริมผ้าข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งตลอดทั้งแถว เขาไม้หนึ่งจะเกาะสองครั้งเพื่อให้ลวดลายมีความสวยงาม โดยลวดลายจะอยู่ด้านล่างของผืนผ้าในขณะทอ

เอกลักษณ์ของผ้าไหมแพรวา

ลวดลายของผ้าไหมแพรวาจะมีลักษณะเฉพาะ ลวดลายที่ได้จะมาจากผ้าแซ่ว ซึ่งจะระบุชื่อและลวดลายต่างๆ มากกว่า 60 ลาย เช่น ลวดลายดอกดาวน้อย ลายตาบ้ง ลายดอกจันทร์ เป็นต้น โดยลักษณะเด่นของลายผ้าแพรวาที่ดีจะลักษณะคล้ายคลึงกับลายขิดอีสาน รูปทรงขนมเปียกปูน แตกต่างที่มีความหลากลายของสีสัน แต่เดิมนิยมพื้นสีแดงคล้ำย้อมด้วยครั้ง มีลายจก สีเหลือง สีน้ำเงิน สีขาว และสีเขียวเข้มกระจายทั้งพื้น  ลายสม่ำเสมอตลอดทั้งผืน ไม่มีรอยด่าง และผืนหนึ่งจะมีอยู่ประมาณ 10 หรือ 12 ลาย จะใช้เส้นไหมในการทอตั้งแต่ 2-9 สี สอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว ลวดลายที่ปรากฏจะประณีตเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งผืนผ้า ผ้าทอแพรวาจะประกอบด้วยตัวลายทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้

ภาพที่ 3 ลวดลายผ้าไหมแพรวา
ที่มา: ศุนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประขาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหม
 

1. ลายหลัก คือลายที่มีขนาดใหญ่อยู่ในแนวนอน กว้างประมาณแถวละ 8-12  เซนติเมตร ผ้าแพรวาผืนหนึ่งจะมีลาย หลักประมาณ 13 แถว ได้แก่ ลายนาคสี่แขน ลานพันธุ์มหา ลายดอกสา ฯลฯ ส่วนประกอบสำคัญของลายหลัก คือ ลายนอก ลายใน และลายเครือ

2. ลายคั่น หรือลายแถบ คือลายที่มีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางผืนผ้า ความกว้างของลายประมาณ 4-6 เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วงๆสลับกันไป เช่น ลายตาไก่ ลายงูลอย ลายขาเข ฯลฯ

3. ลายช่อปลายเชิง หรือลายเชิงผ้า คือลายที่ปรากฏอยู่ตรงช่วงปลายของผ้าทั้งสองข้าง ทอติดกับลายคั่นทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มและตัวจบของลายผ้า มีความกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร เช่น ลายช่อขันหมาก ลายดอกบัวน้อย ลายใบบุ่นน้อย ฯลฯ

ลักษณะลายผ้าของแพรวาที่ทอในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ผ้าแพรวาลายล่วง ผ้าแพรวาลายจก และผ้าแพรวาลายเกาะ ดังนี้

1. ผ้าแพรวาลายล่วง หมายถึง ผ้าแพรวาที่มีลวดลายเรียบง่าย มีสองสี สีหนึ่งเป็นสีพื้นส่วนอีกสีเป็นลวดลาย

2.ผ้าแพรวาลายจก หมายถึง ผ้าแพรวาลายล่วงที่มีการเพิ่มความพิเศษโดยการจกเพิ่มดอกเข้าไปในลายล่วงบนผืนผ้า เพื่อแต้มสีสันให้สวยงามยิ่งขึ้นแต่สีจะไม่หลากหลายสดใสเหมือน แพรวาลายเกาะ

3.ผ้าแพรวาลายเกาะ หมายถึง ผ้าแพรวาที่มีลวดลายและสีสันหลายสีเกาะเกี่ยวพันกันไป ลวดลายที่ใช้ทอแพรวาลายเกาะส่วนใหญ่เป็นลายดอกใหญ่ซึ่งเป็นลายหลักของการทอผ้าแพรวา

เส้นทางสู่สากลของผ้าไหมแพรวา

เส้นทางของผ้าไหมแพรวามีระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุคนทำให้ผ้าทอมือชนิดนี้เกือบจะ สูญหายไปจากท้องถิ่นไทย จวบจนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับงานทอผ้าไหมแพรวาไว้ในโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาการทอผ้าไหมแพรวา ให้เพิ่มสีสัน ลวดลาย ขยายฟีมให้มีขนาดกว้างและทอผ้าสีพื้นประกอบให้มีความยาวสามารถตัดเป็นชุดสุภาพสตรีและเสื้อสุภาพบุรุษได้

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงส่งเสริมการผลิตรวมทั้งสร้างสรรค์ฝีมือให้ประณีต สวยงาม ส่งเสริมการทอผ้าไหมแพรวาให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎร เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน ขยายผลไปยังหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ/จังหวัดใกล้เคียง ผ้าไหมแพรวาได้รับการยอมรับว่า แพรวาราชินีแห่งไหมและขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

 ภาพที่ 4 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเกล้าให้ช่างทอผ้าแพรวาเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด
ที่มา: https://www.esarntoday.com/1683

 

ภาพที่ 5 ออกร้านจัดจำหน่ายผ้าไหมแพรวาตามงานเทศกาลต่างๆ               
ที่มา: ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, 2545
 

ปัจจุบันผ้าไหมแพรวากลายเป็นศิลปหัตถกรรมดีเด่นประจำจังหวัด กาฬสินธุ์ ดั่งที่ปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไท ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี” เพื่อเป็นการอนุรักษ์ผ้าไหมแพรวาให้เป็นสิ่งทอคู่บ้านคู่เมืองของชาวกาฬสินธุ์ ทางราชการได้จัดงาน วิจิตรแพรวาราชินีไหมไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งจังหวัด โดยผู้ร่วมงานจะสวมชุดที่ตัดเย็บจากผ้าแพรวา รวมเดินขบวนแห่ จัดแสง สี และเสียง ขึ้นทุกปี

นอกจากนี้จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ และสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันเปิดศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทผ้าไหมแพรวา บ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัด กาฬสินธุ์ ภายในศูนย์จะจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวภูไท ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมแพรวา และการจัดจำหน่ายผ้าไหมแพรวาจากชาวผู้ไทโดยตรง

เส้นทางผ้าแพรวาของชาวภูไทได้เริ่มต้นผ่านสายตาชาวโลก โดยผ่านโครงการ Twinning Project   ณ ประเทศอิตาลีและการประกวด Miss Globe Beauty  Pageant 2016 ที่ประเทศอัลบาเนีย ในชุดประจำชาติที่ชื่อว่า “ชุดควีนอ๊อฟผู้ไทไหมแพรวา” เป็นผ้าไหมไทยที่มีความงดงามละความประณีตในการทอ  ผ้าไหมแพรวาจึงเป็นภูมิปัญญาชั้นสูงจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีแห่งไหม”

ระยะเวลาของการเดินทางของผ้าไหมแพรวา หัตถกรรมสิ่งทอที่เกิดจากภูมิปัญญาเล็กๆของชาวภูไท บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ลวดลาย สีสัน ที่ผ่านการถักทอด้วยจิตวิญญาณ ความประณีตของผู้ทอ จนกลายมาเป็นของดีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ประเทศชาติ และก้าวสู่สายตาชาวต่างชาติ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของคนไทยและโลกต่อไป

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ                                                                                           
ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมธิราช    

บรรณานุกรม

ณัฐฐิญา ศังขจันทรนันท์.[ออนไลน์].“ผ้าไหมแพรวา : กระบวนการกลายเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นในบริบท

อัตลักษณ์วัฒนธรรมชาติ ”.[สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561] จากhttp://www.journal.msu.ac.th/upload/articles/article1933_63019.pdf

ศุภชัย สิงห์ยะบุษย์.(2545).[ออนไลน์]. “รูปแบบศิลปะและการจัดการผ้าทอที่ส่งผลต่อความเข้มแข็ง

และการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่น : ศึกษากรณีผ้าไหมแพรวาสายวัฒนธรรมผู้ไท จังหวัดกาฬสินธุ์”.[สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561] จากhttp://research.culture.go.th/index.php/research/item/324-2012-09-16-04-30-22.html.