นายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปี 2565

โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ดำเนินการคัดเลือกบุคคล
ที่สมควรได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม “รางวัลเพชรพระนคร ประจำปี 2565 ”
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565  สาขาคหกรรมศิลป์ “การแกะสลักผักผลไม้”

นายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา  เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2513 ณ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นบุตรคนที่  9  ในพี่น้อง 10 คน ของนายอยู่ อิศรางกูร ณ อยุธยา  และนางใคล อิศรางกูร ณ อยุธยา  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) วิชาเอกนาฏศิลป์ไทย ปัจจุบันปฏิบัติงาน ตำแหน่งพ่อครัว ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

จุดเริ่มต้นของการทำงานแกะสลัก จากการเห็นแผนกแต่งหัวจาน แกะสลักผักผลไม้เพื่อการตกแต่งจานอาหารสวยงามดูน่ารับประทานเพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกหัด แกะสลัก แบบครู พักลักจำ “พยายามลักดูหรือจดจำเอาเอง”  ซึ่งใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างตามความเข้าใจของตัวเองฝึกฝนตนเองหลายปีและต่อมาไปศึกษาเพิ่มเติมจนมีฝีมือและความชำนาญในด้านแกะสลักผักผลไม้

จากนั้นตัดสินใจชวนเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันลงแข่งขันการแกะสลักเพื่อหาประสบการณ์ในโอกาสและได้รับรางวัล ดังนี้

  1. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรางวัล Popular Vote

งาน Makro Horeca แม็คโคร โฮเรก้าอคาเดมี วันที่ 25 มีนาคม 2553 มีผู้แข่งขันทั้งหมด 16 ทีม

  1. รางวัล Gold The Winner

งาน Thai Fex Asia วันที่ 7 สิงหาคม 2554  แข่งประเภทงานเดี่ยว มีผู้แข่งขันทั้งไทยและต่างชาติ 40 คน ทำให้เป็นที่รู้จักของคนในวงการในนามนักแกะมือใหม่แห่งวงการแกะสลัก งานสาธิต งานโชว์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดความรู้โดยมีงานสอนเทคนิคการแกะสลักเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและต่างประเทศ และได้นำความรู้ความสามารถภูมิปัญญาด้านการ “แกะสลักผักผลไม้” ไปเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณชน
เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและประเทศไทย ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ นำผลงานไปจัดแสดงที่ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย /เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน/ เมืองพนมเปญ และเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

งานแสดงผลงานที่ได้รับเชิญในโอกาสสำคัญต่างๆ  อาทิ งานประเพณีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช /การสาธิตและแสดงผลงานการแกะสลักผักผลไม้หน้าพระพักตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช /งานกาลาดินเนอร์ ต้อนรับท่านทูตฝรั่งเศส โรงแรมโฟร์ซีซันส์ ราชประสงค์ /งาน“International Conference ” มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
/งานกาลาดินเนอร์ ห้องชมวัง กรมอู่ทหารเรือ /งาน THAILAND LIFELONG LEARNING & EDUCATION EXPO 2022 หรือมหกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพอย่างยั่งยืน อาคาร 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นอกจากการนำผลงานไปจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาด้าน “การแกะสลักผักผลไม้” และนายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา  ได้ถ่ายทอดความรู้ทักษะด้าน “การแกะสลักผักผลไม้” แก่ผู้ที่สนใจ อาทิ นักเรียนของโรงเรียนราชวินิตประถม กรุงเทพมหานคร/ชาวจีนผู้สนใจแกะสลักขั้นพื้นฐานในโครงการ
“สานสัมพันธ์ ไทย-จีน” ณ สถานทูตไทย

ชาวกัมพูชาผู้สนใจแกะขั้นพื้นฐานในโครงการ “แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา” ณ เกาะเพชร อารีน่า ประเทศกัมพูชา /วิทยากรงานฝึกอบรม
ด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผลงานโดดเด่น

นายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา มีผลงานโดดเด่นกว่าคนอื่นโดยสร้างขึ้นจากประสบการณ์และภูมิปัญญางานแกะสลักผักผลไม้ คือ “น้องหมาส้มโอ”

โดยมีแนวคิดการทำ “น้องหมาส้มโอ” นายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า “หลังจากที่เราแกะสลักผักผลไม้มานานแล้วพอไปดูงานที่ไหนก็จะเห็น
แต่ลายเดิมๆ ซ้ำๆ จึงคิดหาวิธีที่จะทำอะไรที่แหวกแนวไปจากคนอื่นบ้าง จึงลองเอาส้มโอมาทำเป็นตัวสัตว์ และปีนั้นเป็นปีขาลจึงคิดจะทำเสือ ลองผิด
ลองถูกอยู่หลายวันก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจ จนความบังเอิญมาเกิดขึ้น ตอนที่กำลังประกอบหัวเสือลูกชายบังเอิญเดินผ่านมาเห็นแล้วทักว่า “มันไม่เหมือนเสือ
เหมือนหมามากกว่า” วัตถุประสงค์ก็เลยเปลี่ยน จาก “เสือ” เป็น “หมา” ตั้งแต่นั้นมาและคนก็รู้จัก นายนิคม อิศรางกูร ณ อยุธยา ในนาม“เชฟหมาส้มโอ”

ผลงาน “น้องหมาส้มโอ”  ได้สร้างคุณค่า ประโยชน์ ในด้านต่างๆ อาทิ  มีความสวยงาม สะดวกในการรับประทานนำมาใช้ในโอกาสพิเศษ ตามงานเลี้ยงต่างๆ  สร้างสมาธิแก่ผู้ที่แกะสลัก  สร้างความคิดสร้างสรรค์  สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตัวเอง  และอนุรักษ์สืบสานศิลปะต่อยอดภูมิปัญญาการ
แกะสลักของไทยให้ยั่งยืนสืบไป

วิดีโอกิจกรรม : https://youtu.be/kqmLLGdM2d0

สามารถอ่านประวัติและผลงานได้ที่นี่ https://anyflip.com/uozsu/hlmd/

 

ข้อมูลข่าวและที่มา ภาพ/ผู้เรียบเรียง : บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว

ภาพ : สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายอุทยานการศึกษา) สำนักการศึกษาต่อเนื่อง