มาลัยข้าวตอก : ธัญพืชแห่งศรัทธาแห่งลุ่มน้ำชี

          ประเทศไทยเป็นประเทศการเกษตรมีพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก “ข้าว” เป็นอาหารหลักของคนในประเทศและเหลือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย สังคมไทยนิยมปลูกข้าวเพื่อบริโภคมาตั้งแต่ยุคโบราณ เรียกได้ว่า ข้าวเป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงคนในสังคมไทย พิธีกรรมการปลูกข้าว การแปรรูปข้าวจึงเกิดขึ้น กลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ชาวบ้านในแต่ละท้องที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งประเพณีที่เกิดจากข้าว ได้แก่ พิธีแห่นางแมวขอฝน พิธีแรกนาขวัญ พิธีขนข้าวเข้ายุ้ง พิธีล้อมข้าว และพิธีแห่มาลัยข้าวตอก

 

ภาพที่ 1 ประเพณีมาลัยข้าวตอก
ที่มา : http://www.fayardmun.go.th/index.php
 

 

ต้นกำเนิดของพิธีแห่มาลัยข้าวตอก

          พิธีแห่มาลัยข้าวตอกเป็นประเพณีอันขึ้นชื่อของชาวบ้าน ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่งจัดขึ้นทุกปี เพื่อนำไปถวายพระที่วัดช่วงวันมาฆบูชาและก่อนวันงานบุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) โดยตำนานคนโบราณได้เล่าขานกันมาว่า  ในพระไตรปิฏกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวคือ ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เวลาที่ดอกมณฑารพจะบานหรือร่วงหล่น ต้องมีเหตุการณ์สำคัญๆ เท่านั้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จตุรงคสันนิบาต และทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพ นี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเหมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพัน ต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงเหล่าพระภิกษุ หมู่เหล่าข้าราชบริพาร ประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพ อีกทั้งยังได้พากันเก็บนำดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อไปสักการะบูชา และรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปดอกมณฑารพ ที่เก็บมาสักการะบูชาเริ่มเหี่ยวแห้งและหมดไป เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ รวมทั้งเหตุการณ์ในวันสำคัญต่างๆ ชาวพุทธจึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการะบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้

          แต่เดิมจะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนาต่อมาจึงมีการนำมาประดิษฐ์ตกแต่งที่เห็นว่าสวยงาม  สืบทอดกันเรื่อยมา จากการตกแต่งมาลัยเพื่อความสวยงาม ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นการประกวดประชันกัน เมื่อมาลัยร้อยได้สวยงามก็เริ่มมีการแห่แหน ให้เป็นการเป็นงานขึ้นมาด้วยเพื่อประกอบพิธีนั้น จนกลายเป็นงานที่ใหญ่ขึ้นมีการฟ้อนรำประกอบขบวน และกลายเป็นประเพณีแห่มาลัยในปัจจุบันและจัดให้มีขึ้น ในวันมาฆบูชา ของทุกๆปี บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนเดียวที่มีประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกทุกปี

 

ภาพที่ 2 วิธีการทำมาลัยข้าวตอก
ที่มา : http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4090&filename=index
 

 

วิธีการทำมาลัยข้าวตอก

          ขบวนแห่บุญพวงมาลัยจัดขึ้นในช่วงงานบุญเดือน 3 ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 หรือก่อนวันมาฆบูชาหนึ่งวัน ก่อนจะถึงวันบุญใหญ่แห่งปี ชาวบ้านในอำเภอมหาชนะชัย จัดจะเตรียมข้าวตอกแตกจำนวนมากเพื่อนำมาร้อยมาลัย โดยนำข้าวเปลือกข้าวเหนียวพันธุ์ดั้งเดิมที่มีขนาดเมล็ดใหญ่และเป็นข้าวใหม่ นำมาคั่วด้วยไฟปานกลางในหม้อดินเผาบนเตาถ่าน เกลี่ยไปมาด้วยก้านกล้วยอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ข้าวเปลือกไหม้ดำ (ชาวบ้านนิยมใช้ก้านกล้วยแทนด้ามไม้หรือตะหลิว เพราะก้านกล้วยมีความชื้นช่วยคุมอุณหภูมิให้เนื้อข้าวเหนียวค่อยๆสะสมความร้อนจนขยายบานออกนอกเปลือกโดยไม่ไหม้ดำ) นอกจากนี้ชาวบ้านเชื่อว่า                  การคั่วข้าวตอกขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ชาวบ้านทุกคนจะสามารถคั่วข้าวแล้วแตกถึงแม้ทำในระยะเวลาเดียวกัน หม้อเดียวกัน อุปกรณ์เดียวกันก็ตาม จากนั้นน้ำข้าวตอกแตกคั่วใหม่ไปคัดแยกเปลือกข้าว โดยการฝัด(ร่อน)ในกระด้งเพื่อคัดเอาเฉพาะเมล็ดข้าวตอกแตก หรือข้าวพองสีขาวล้วนๆออกจากเศษเปลือกข้าว การเก็บรักษาข้าวตอกแตกที่ได้อย่างดี โดยไม่ให้สัมผัสความชื้นในอากาศก็สามารถเก็บไว้ได้นาน  ไม่เสียหาย และถือกันว่าเป็นสิ่งมงคล การร้อยมาลัยข้าวตอกให้ดูบริสุทธิ์และเมล็ดไม่แตกต้องใช้เข็มขนาดเล็ก เบอร์ 9 และใช้ด้ายสีขาว เบอร์ 10 ร้อยเมล็ดข้าวตอกแตกทางด้านที่มีสีหมองหรืออมเหลือง โดยร้อยติดต่อกันแบบอุบะ เมื่อร้อยเสร็จพวงมาลัยข้าวตอกแตกจะมีความยาวแตกต่างกันไม่ต่ำกว่า 3 ขนาด ความยาวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4 เมตร จำนวนสายมากน้อยใหญ่ขึ้นอยู่กับพลังศรัทธาและความสามารถของผู้สร้าง

          พวงมาลัยเหล่านี้จะถูกนำมามัดเข้ากับกงไม้ไผ่ซึ่งอาจทำขึ้นเป็นรูปวงกลมต่างๆขนาดซ้อนกัน หรือเป็นรูปกรอบไผ่ สามเหลี่ยม 2 อันที่นำมาผู้ไขว้ทับกันจนมีลักษณะเป็นดาว 6 แฉก กงไม้ไผ่ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขึ้นสายมาลัยข้าวตอกเพราะใช้เป็นที่มัดยึด สายมาลัยให้เกิดเป็นรูปทรงงดงามในแบบต่างๆตามที่ต้องการ เมื่อผ่านขั้นตอนการขึ้นสายจนได้รูปทรงมาลัยตาม ต้องการแล้ว ผู้สร้างสรรค์ยังสามารถต่อเติมลวดลายต่างๆ และประดับตกแต่ง สร้อยระย้า ให้ดูงดงามขึ้นอีก โดยการแต้ม  สีสันด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ พู่สีสวย รวมไปถึงการผูกสายมาลัย ให้มีลวดลายสวยงามแปลกตาในแบบต่างๆ อาทิ ลายตาข่าย ลายเกล็ด ลายก้านสามดอก ลายกระเบื้อง ลายสี่ก้านสี่ดอก ลายดาวกระจาย ลายแก้ว ชิง ดวง ลายแมงมุม ลายดาวล้อมเดือน ลายวิมานแปลง หรือลายแบบอื่นๆ ตามแต่ฝีมือและความคิด สร้างสรรค์

 

ภาพที่ 3 มาลัยข้อและมาลัยสายฝน
ที่มา : http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4090
 

       

          ปัจจุบันพวงมาลัยข้าวตอกมี 3 รูปทรง ได้แก่ มาลัยแบบข้อ มาลัยสายฝน และมาลัยจิ๋ว  มาลัยแบบข้อ มีลักษณะตามชื่อเรียก คือการนำข้าวตอกแตกมาร้อยต่อกันเป็นสายแล้วมัดรวมเป็นข้อ มีลักษณะเหมือนนำแท่งดอกข้าวตอกแตกหลายๆ อันมาผูกไว้ด้วยกันจนดูสวยเด่น ส่วนมาลัยแบบสายฝนเป็นการร้อยข้าวตอกแตกด้วย เส้นด้ายยาว เมื่อนำหลายๆ เส้นมารวมเข้าด้วยกันก็กลายเป็น พวงมาลัยที่ประกอบด้วยเส้นข้าวตอกแตกจำนวนมาก พลิ้วไหว ตามกระแสลมได้ง่ายจนดูคล้ายกับสายฝน และมาลัยจิ๋ว ซึ่งมีลักษณะเหมือนมาลัยสายฝนทุกประการแต่ ย่อส่วนให้เล็กลง เพื่อใช้เป็นของฝากของที่ระลึกแด่ผู้มาเยือน

เส้นทางของมาลัยข้าวตอกสู่ประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอก

          มาลัยที่ทำจากเมล็ดข้าวตอกแตกจำนวนมากถูกนำมาร้อยเข้าเป็นสาย ให้ดูสวยงาม บริสุทธิ์ดุจมวล บุปผาจากสรวงสวรรค์ ถูกนำมาจัดแสดงในขบวนแห่งมาลัยข้าวตอกเพื่อนำไปบูชาพระพุทธเจ้า โดยชาวบ้านจะนัดรวมตัวกันที่ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอแต่เช้า เพื่อประกวดความสวยงามของมาลัยข้าวตอกของแต่ละชุมชน หลังจากตัดสินมอบรางวัลกันแล้ว จึงเริ่มตั้งขบวนแห่งดงามตระการตา ไปทอดถวายมาลัยยังวัดสำคัญต่างๆในตัวอำเภอ เช่น วัดฟ้าหยาดและวัดหอก่อง

 

ภาพที่ 4 งานจัดแสดงมาลัยข้าวตอก
ที่มา : http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4090
 

 

ประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอกสู่วิถีสังคมในปัจจุบัน

          ประเพณีการแห่มาลัยข้าวตอกกลายเป็นประเพณีที่เกิดจากการแพร่กระจายของการใช้ข้าวเป็นเครื่องบูชา ปรับเปลี่ยนจนเป็นมาลัยที่ใช้แขวนเป็นเครื่องบูชานั้นได้เกิดจากการะบวนการสั่งสมประสมการและภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่น ตลอดจนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่แฝงเร้นในการจัดพิธีกรรมการแห่งข้าวตอก คือ

  • เป็นพิธีที่สร้างความสมานฉันท์คนในชุมชน การจัดประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกจะเกิดขึ้นและสำเร็จ- ลุลวงไปด้วยดีต้องเกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจของคนในชุมชน เกิดการจัดกิจกรรมร่วมกัน การแบ่งภาระงานต่างๆ ทำให้คนในชมชุนเกิดความรักและความเข้าใจร่วมกันกลายเป็นความสมานฉันท์ในชุมชน
  • เป็นการสร้างชิ้นงานที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น การทำมาลัยนั้นเกิดจากภูมิปัญญาที่เกิดจากการทดลองของคนในท้องถิ่นมาหลายรุ่น มีการปรับปรุง คิดค้น จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ เช่น การนำก้านกล้วยมาคนเพื่อทำให้เม็ดข้าวแตกเป็นดอก แทนไม้หรือวัสดุชนิดอื่นๆ เนื่องจาก ก้านกล้วยมีความชื้นจะทำให้ข้าวตอกไม่ไหม้ และภูมิปัญญาในการคัดแยกระหว่างดอกข้าวตอกและกากเปลือกข้าวโดยการนำไปร่อนในกระด้งเพื่อให้กากข้าวนั้นปลิวเหลือเพียงเม็ดดอกข้าวตอกเท่านั้น
  • เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสามารถและความต้องการของคนในชุมชน ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกเป็นแหล่งแสดงออกถึงความสามารถของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการร้อยมาลัย การคั่วข้าวตอกให้แตกเป็นดอก และเป็นการแสดงถึงความสุขทางจิตใจและบุญ ความต้องการในการดำรงชีวิต เช่นการขอให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านข้าวปลาอาหาร จึงใช้ข้าวเป็นเครื่องบูชา เป็นต้น

 

ภาพที่ 5 ร่วมกันร้อยมาลัยข้าวตอก
ที่มา : https://pharm.kku.ac.th/psthai/index.php/newsmanager/pharm
 

 

          ซึ่งปัจจุบัน มาลัยข้าวตอกภูมิปัญญาของชาวบ้านได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้กลายเป็นสินค้า  OTOPของชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ไม่เพียงแต่ชาวบ้านตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ชาวบ้านในจังหวัดระแวงใกล้เคียง ประธานกลุ่มอาชีพทำขนมไทย อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้กล่าวถึง “ขนมข้าวตอกแตก” ได้นำข้าวตอกมาผ่านกรรมวิธีในการแปรรูปโดยการทรงเครื่องจะได้รสชาติที่หอมหวาน กรอบ อร่อย ถูกใจผู้ลิ่มลอง แล้วนำมาอัดเป็นก้อน สามารถวางจำหน่ายได้อันละ 5 บาท บรรจุถุง ถุงละ 20 บาท บางทีจะมีพ่อค้าจากจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร มุกดารหาร ร้อยเอ็ด และประเทศลาว สั่งไปขายเดือนละ 300-500 ถุงสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านและชุมชนได้อย่างดี

          ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกเกิดจากพลังศรัทธาทางภูมิปัญญาและงานฝีมือของชาวบ้านที่ทุ่มเทพลังกายและพลังใจสรรค์สร้างงานหัตถกรรมฝีมือซึ่งได้รับการสืบทอดเป็นมรดกให้ลูกหลานอำเภอมหาชัยชนะ จังหวัดยโสธรและจังหวัดอื่นๆระแวงใกล้เคียงได้รวมสัมผัสแลกเปลี่ยน เรียนรู้ วัฒนธรรมร่วมกัน ประเพณีแห่งนี้กลายเป็นประเพณีที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดยโสธรและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม สร้างรายได้               สร้างงาน ให้กับชาวบ้านในจังหวัดยโสธรอีกด้วย

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

ทิดหมู มักม่วน.[ออนไลน์]. “ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก บ้านฟ้าหยาด เทศกาลงานบุญมาฆบูชา”. [สืบค้นวันที 28 มิถุนายน 2562] https://www.isangate.com/new/tradition/327-malai-kao-tok.html

วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ 2 ปี 2559.[ออนไลน์]. “ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก พลังศรัทธาอันงดงามแห่งลุ่มน้ำชี”.[สืบค้นวันที 28 มิถุนายน 2562] http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4090&filename=index