ตามรอยราชินีดอกไม้ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

          หากกล่าวถึง “ราชินีดอกไม้” จะนึกถึงดอกกุหลาบภูพิงค์ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์    พระตำหนักทรงไทยที่ตั้งอยู่ท่ามกลางดอกกุหลาบหลากสีหลายร้อยพันธุ์ ที่ส่งกลิ่นหอมตลบและประชันความงามอยู่ทั่วบริเวณพระตำหนักแห่งนี้ส่งผลให้ภูพิงคราชนิเวศน์สดสวยราวอุทยานสวรรค์ กุหลาบภูพิงค์ขึ้นจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนพันปีหลวงทรงพระราชเสาวนีย์ในการปลูกกุหลาบภูพิงค์ เป็นเวลาเกือบ 50 ปีทีได้มีสั่งสมประสบการณ์นอกเหนือตำรา จนก่อกำเนิด “กุหลาบภูพิงค์” ซึ่งได้รับคำชมว่าเป็นกุหลาบที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

รูปที่ 1 พระตำหนักคราชนิเวศน์
ที่มา : http://www.bhubingpalace.org/

 

กำเนิดกุหลาบภูพิงค์ ณ พระตำหนักคราชนิเวศน์

          พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เริ่มการก่อสร้างในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2504 แล้วเสร็จในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2505 ทันรับเสด็จพระราชอาคันตุกะ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริกพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์กในเดือนมกราคมปีนั้น ในระยะแรกพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ยังคงเป็นสวนไม้ใบและสวนหิน จวบกระทั่งวันหนึ่งเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินผ่านมาทอดพระเนตรเห็นกุหลาบกอหนึ่ง จึงมีพระราชปรารถว่า โปรดไม้ดอกที่มีหลากสีและกลิ่นหอมเช่นนี้มากกว่าไม้ใบที่มีแต่สีเขียวอย่างเดียว นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “กุหลาบภูพิงค์”

         สวนหินไม้ใบค่อยๆถูกรื้อออกและและปลูกกุหลาบแทน โดยมีอาจารย์ประชิด วานนนท์และนายไพลิน มหาวณิช ผู้มีประสบการณ์เรื่องกุหลาบมาช่วยกันปลูกและร่วมกันดูแล แรกทีเดียวยังคงปลูกกุหลาบรวมปนๆกันทั้งพันธุ์และสีต่างกัน เมื่อคราวต่อมาพระองค์มีพระราชเสาวนีย์ให้สั่งกุหลาบพันธุ์ จากต่างประเทศมาปลูกเพิ่มจำนวน 37 สายพันธุ์ และได้นำมาปลูกประดับตกแต่งในสวนรอบๆพระตำหนัก

 

รูปที่ 2 พระตำหนักคราชนิเวศน์
ที่มา : http://www.bhubingpalace.org/

          จวบปี 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสุวรีเทพาคำ นางสนองพระโอษฐ์ผู้มีประสบการณ์ในการปลูกและดูแลกุหลาบ ดำเนินการจัดทำสวนกุหลาบในบริเวณพระตำหนัก การวางแผน การออกแบบแปลน และการจัดหมวดหมู่กุหลาบจึงเริ่มขึ้นมีการแยกปลูกแปลงละสี แปลงละพันธุ์ ท่านผู้หญิงสุวรีดูแลกุหลาบที่ภูพิงค์ถวายด้วยใจ จนกระทั่งเต็มด้านหน้าพระตำหนักทั้งหมดถึงหน้าเรือนรับรอง ในเวลาต่อมามีการสั่งดอกกุหลาบพันธุ์ต่างๆโดยเฉพาะกุหลาบ “ควีนสิริกิติ์” ซึ่งปรากฏในเอกสารของเรือนกุหลาบ “Grandes Roseraies du Val de Loire” แห่งประเทศฝรั่งเศสที่นายอังเดร เฮนดริก ผู้อำนวยการเรือนกุหลาบ เป็นผู้ขอพระราชทานชื่อตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1971  เอกสารมีคำบรรยายว่า “…ดุจพระราชินีแห่งประเทศไทยผู้ทรงพระสิริโฉม เป็นเสน่ห์แบบตะวันออกที่เหนือตะวันตก” นอกจากนี้ยังมีกุหลาบพันธุ์ต่างประเทศที่สั่งเข้ามาเช่น มิสเตอร์ลินคอล์น ฟรากรานท์คลาวด์ และอันฟอร์เกตเตบิล

          บางครั้งเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็จะทรงเลือกกุหลาบพันธุ์ที่สวย ดอกใหญ่มาปลูกเพิ่มรวมกับกุหลาบงามอีกหลายพันธุ์จากบ้านท่านผู้หญิงสุวรีที่กรุงเทพฯ ที่นำมาปลูกถวาย ทำให้แปลงกุหลาบภูพิงค์ขยายออกไปยังฝั่งผาหมอน และรอบอ่างเก็บน้ำแทนไม้ล้มลุกที่ปลูกไว้เดิม ด้วยความอุสาหะเอาใจใส่ของผู้ดูแล ประกอบกับอากาศ ความชื้นที่พอเหมาะทำให้กุหลาบบนภูพิงค์อวดดอกใหญ่สวยงามทั่วบริเวณของพระตำหนักภูพิงคราชทำให้พระตำหนักแห่งนี้งดงามและหอมกรุ่นราวสวนสวรรค์

ดัชนีพันธุ์กุหลาบภูพิงค์

          กุหลาบที่นำมาปลุกที่พระตำหนักภูพิงค์ ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ที่สั่งมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่เริ่มมี  การปลูกกุหลาบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้พันธุ์กุหลาบที่นำมาปลูกมีมากกว่า 200  สายพันธุ์ ซึ่งจำแนกได้ 5 ประเภท คือ

  1. ดอกกุหลาบดอกเดี่ยว
  2. ดอกกุหลาบพวง
  3. ดอกกุหลาบพวงดอกใหญ่
  4. ดอกกุหลาบหนู
  5. ดอกกุหลาบเลื้อย

          ดัชนีพันธุ์กุหลาบในที่นี้ถูกจัดเรียงตามลำดับตัวอักษรชื่อกุหลาบ เพื่อสะดวกแก่การค้นคว้าสำหรับผู้สนใจ  โดยจะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่

          ส่วนที่ 1 เป็นพันธุ์กุหลาบที่ได้รับรางวัลจากที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 35 พันธุ์ เช่น Angel Face (เอนเจิลเฟซ) Blue Nile (บลูไนด์) Brigadoon (บริกาดูน) และอื่นๆอีกมากมาย  

          ส่วนที่ 2 เป็นพันธุ์กุหลาบที่ปลูกอยูในบริเวณพระตำหนัก ภูพิงคราชนิเวศน์ รวมไว้จำนวน 263 พันธุ์  เช่น Diana (ไดอานา) Black tea (แบล็คที) Blue Nile (บลูไนล์) และอื่นๆอีกมากมาย  ตัวอย่าง พันธุ์กุหลาบ

 

Angel Face (เอนเจิลเฟซ)
ผสมพันธุ์โดย     Swim,Usa,1968
ประเภท          Floribunda
ลักษณะพันธุ์      เป็นกุหลาบพวง ทรงพุ่มขนาดกลาง สูง 1-1.5 เมตร
ดอกมีขนาดกลาง 3-4 นิ้ว สีม่วง เป็นดอกพวงกลับดอกเรียงซ้อนกัน
30 กลีบ กลับหยักเป็นคลื่นตรงกลางดอกเปิดกว้าง
รางวัลที่ได้รับ     All – America Rose Selection 1969,  America Rose Soceity John Cook Medal 1971

 

 

 

 

รูปที่ 3 กุหลาบเอนเจิลเฟซ
ที่มา : http://www.instahu.com/tag/

Brigadoon (บริกาดูน)
ผสมพันธุ์โดย     Warriner,USA,1991
ประเภท          Hybird Tea
ลักษณะสายพันธุ์ เป็นกุหลาบพุ่ม สูง 1-1.5 เมตร ลำต้นใหญ่แข็งแรง
มีหนามขนาดใหญ่และดก ดอกมีขนาดใหญ่ 5-6 นิ้ว สีชมพูเหลือบ ปลาย
กลับดอกหยักเป็นคลื่นที่กลีบดอกเป็นปื้นสีขาวเล็กน้อย ก้านช่อดอกใหญ่  แข็งแรงให้ดอกดก
รางวัลที่ได้รับ     All-America Rose Selection 1992

 

 

 

 

รูปที่ 4 กุหลาบบริกาตูน
ที่มา : http://www.bhubingpalace.org/

คุณค่าของกุหลาบภูพิงค์

          กุหลาบภูพิงค์กลาย เป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากดอกกุหลาบที่พระตำหนักภูพิงค์มีความสวยงาม มีดอกโต กลิ่นหอม และมีจำนวนมาก หลากหลายสายพันธุ์ เป็นดอกกุหลาบที่ปลูกเพื่อประดับสวนได้รับการดูแลอย่างดีให้มีความสวยงานตามธรรมชาติ ประกอบกับสภาพแวดล้อมเป็นภูเขา ป่าไม้ มีอากาศเย็น และอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมความงามของกุหลาบ ณ พระตำหนักภูพิงค์เป็นจำนวนมาก

          พระตำหนักภูพิงค์ นอกจากเป็นที่ประทับเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานแล้ว ยังเป็นที่ประทับแรมของพระราชอาคันตุกะและประมุขของประเทศต่างๆ ที่ได้โดยเสด็จมาเยือนภาคเหนือของประเทศไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์เป็นประจำทุกปี เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคเหนือ ในโอกาสนี้จะมีการนำดอกกุหลาบมาประดับตกแต่งตามมุมห้องต่างๆ รอบพระตำหนัก สำหรับโอกาสที่พระราชทานเลี้ยงรับรองแก่ทูตานุทูตและข้าราชการ จะมีการประดับตกแต่งด้วยกุหลาบ “ควีนสิริกิติ์” มากขึ้น

 

 

รูปที่ 5 พระตำหนักคราชนิเวศน์
ที่มา : http://www.bhubingpalace.org/

 

          นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯให้จัดแจกันกุหลาบควีนสิริกิติ์ประดับโต๊ะหมู่บูชาในห้องทรงนมัสการ   โดยบางครั้งทรงปักดอกกุหลาบด้วยพระองค์เอง และจัดเป็นดอกไม้ถวายพระในคราวเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีและพิธีทางศาสนาต่างๆ

          กุหลาบภูพิงค์ยังใช้เป็นประโยชน์เป็นต้นแบบในงานศิลปาชีพต่างๆ หลายอย่าง เช่น เป็นต้นแบบลายผ้าปักซอยแบบโบราณ ภาพวาด ภาพเขียน งานปั้นเซรามิก ซึ่งมีการเขียนเป็นลายกุหลาบควีนสิริกิติ์ นำมาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์แบบดอกเดี่ยวหรือประดิษฐ์เป็นช่อโดยการใช้ผ้าตัดย้อมเลียนแบบเทียบสีจากดอกจริงเพื่อให้มีสีสันเหมือนของจริงที่สุด

          ความงดงามของกุหลาบภูพิงค์มิใช่เพียงความงดงามยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางจิตใจและคุณประโยชน์แก่ประชาชนนานัปประการ ด้วยสายใยแห่งพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงยังเผื่อแผ่ถึงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า พระองค์ทรงพลิกฟื้นแผ่นดินว่างเปล่า ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แม้ว่าการปฏิบัติพระราชกรณียกิจจะต้องทรงตรากตรำพระวรกายสักเพียงใดก็ตาม ก็มิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากหรือทรงเหน็ดเหนื่อยแต่ประการใดจึงกล่าวได้อย่างแท้จริงว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงเป็น “พระราชินี” ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ดำเนินพระราชจริยวัตรตามหลักคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง เปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่ออาณาประชาราษฎร์อย่างหาที่สุดมิได้

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์.[ออนไลน์]. “ประวัติความเป็นมาพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์” . [สืบค้นวันที่ 7  มิถุนายน 2562] http://www.bhubingpalace.org/index2

วทัญญู ปรัชญานนท์, สุนีย์ ศีลพิพัฒน์, นภาลัย สุวรรณธาดา และศิริน โรจนสโรช.กุหลาบภูพิงค์.  2548. กรุงเทพมาหนคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด,2548

สัญญา จันทร์เหนือ.[ออนไลน์]. “ตามรอย “กุหลาบ” ประวัติศาสตร์ดอกไม้ ราชินี”.[สืบค้นวันที่ 7   มิถุนายน 2562] https://workpointnews.com/2018/08/12