เที่ยววันเดียวจบครบรสที่เมืองแม่กลอง

          สังคมในเมืองปัจจุบันให้ความสนใจในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชนมากขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมที่แออัดของคนในกรุงเทพมหานครทำให้การพักผ่อนในรูปแบบท่องเที่ยวจึงเป็นที่ต้องการของคนในยุคปัจจุบัน จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนในเมือง ด้วยระยะทางใกล้กับกรุงเทพมหานคร สถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู สมุทรสงครามในวันนี้จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตในวันสุดสัปดาห์ที่นักท่องเที่ยวหลายคนติดใจในเสน่ห์และวิถีชีวิตคนในเมือง

ประวัติจังหวัดสมุทรสงคราม

          “เมืองแห่งวิถีชีวิต 3 น้ำอย่างยั่งยืน แหล่งอาหารทะเลและการเกษตรปลอดภัย การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง” คำขวัญประจำจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเล็กๆที่ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทยค่อนลงมาทางใต้ตามแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันตก ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบชายฝั่งทะเลบริเวณปากน้ำแม่กลอง จึงได้นามว่า “เมืองแม่กลอง” แต่เดิมเมืองแม่กลองเป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานชื่อเมืองในพระไอยการนาทหารหัวเมืองกฎหมายตราสามดวงซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีอายุมากกว่า 500 ปี ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสงครามประกอบ ด้วย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที ซึ่งแต่ละอำเภอจะมีลักษณะการท่องเที่ยวแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

 

ภาพที่ 1 วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
ที่มา : https://www.wongnai.com/attractions/324372b

 

          สถานที่ลำดับแรก “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” ชื่อเดิม “วัดศรีจำปา” ตั้งอยู่บนถนนเพชรสมุทร เขตตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติศาสตร์วัดเพชรสมุทรวรวิหารสร้างขึ้นในราวสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยาและปรากฏหลักฐานพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขากล่าวถึงชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีอพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า“บ้านแหลม” และช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปา เรียกวัดใหม่ว่า “วัดบ้านแหลม”

          ต่อมาวัดแห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร”มีสิ่งสำคัญคือพระรูปหล่อหลวงพ่อบ้านแหลม มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 167 เซนติเมตรและเป็น 1 ใน 5 พระพุทธรูปตามตำนานที่ลอยน้ำมาพร้อมกันจากภาคเหนือ โดยมีความเชื่อกันว่าหากได้มาสักการะปิดทองหลวงพ่อบ้านแหลมแล้วจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ภายในบริเวณวัดเพชรสมุทรวรวิหารยังมีพิพิธภัณฑ์สงฆ์ จัดแสดงพระพุทธรูป และพระเครื่องสมัยต่างๆ โบราณวัตถุเครื่องลายคราม และธรรมาสน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยา

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

 

 

ภาพที่ 2 ป่าชายเลนคลองโคลน
ที่มา https://travel.mthai.com/blog/14647.html

          สถานลำดับที่สอง “กิจกรรมปลูกป่าชายเลนคลองโคลน” ที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคลน       อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ป่าชายเลนคลองโคลนเป็นพื้นที่สีเขียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูป่าชายเลยคลองโคลน พระองค์เสด็จมาทรงปลูกป่าชายเลนตั้งแต่ปี พ.ศ.2540-2547 ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของบ้านคลองโคนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เกิดมีสัตว์น้ำชายฝั่งมากมาย สามารถทำการประมงเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียงและเกิดเป็นการเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นมา นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมป่าชายเลนคลองโคลนจะได้ร่วมทำกิจกรรมการปลูกป่า การเยี่ยมธรรมชาติและชมวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น   การเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ หอยนางลม การล้อมกล่ำปลาดุก และการดักเคยหรือช้อนเคยตามชายฝั่ง (เพื่อเอามาทำกะปิตาดำคลองโคน) หากนักท่องเที่ยวสนใจเยี่ยมชนสามารถติดต่อ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคนและผู้ใหญ่ชงค์โฮมเตย์ โทร 0-347-31188

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 

 

 

ภาพที่ 3 โรงเคี่ยวน้ำตาล อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์
ที่มา https://www.thairath.co.th/content/491115l
 

          สถานที่ลำดับที่สาม “โรงเคี่ยวน้ำตาล อัมพวาชัย พัฒนานุรักษ์” ตั้งอยู่ที่โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุ-รักษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ศิลปกรรม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา ในอดีตอัมพวาเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่รู้จักกันในชื่อ “น้ำตาลแม่กลอง” ในรูปของน้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊บ ปัจจุบันนี้ยังมีการทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่ แต่ด้วยกระบวนการที่ต้องใช้แรงงานและเวลา ทำให้ผู้ผลิตบางรายลดต้นทุนการผลิตลง ทางโครงการเล็งเห็นความสำคัญจึงได้สร้างเตาตาลเอง เพื่ออนุรักษ์การผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้แบบดั้งเดิมและสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้ ด้วยกรรมวิธีแบบดั้งเดิมโดยมอบหมายให้คนในท้องถิ่นที่มาทำงานกับโครงการเป็นผู้ดำเนินการร่วมกัน มีการเก็บข้อมูล จดบันทึกสถิติต่างๆ เป็นแหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับการทำน้ำตาลมะพร้าว จนได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนสอนทำน้ำตาลมะพร้าวแท้แบบดั้งเดิมของชาวอัมพวา นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับการทำน้ำตาลมะพร้าวยังได้ความรู้ที่หลากหลาย เช่น ชมสวนเกษตรแบบผสมผสานไม่ใช้สารเคมี  ห้องนิทรรศการชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นต้น หากนักท่องเที่ยวสนใจเยี่ยมชมโรงเคี่ยวน้ำตาลอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์และเตาตาลชาวบ้าน สามารถติดต่อโครงการอัมพวาชัย-พัฒนานุรักษ์ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-3475-2199 และ 0-3475-2245 ดูข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เฟซบุ๊ก “โรงเรียนทำ น้ำตาลมะพร้าว อัมพวา”

การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต

 

ภาพที่ 4 ตลาดน้ำอัมพวา
ที่มา https://www.thairath.co.th/content/491115l
 

 

 

          สถานที่ลำดับสุดท้าย คือ “ตลาดน้ำอัมพวา” ตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงในจังหวัดสมุทรสงครามตั้งอยู่ริมคลองใกล้วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นตลาดน้ำยามเย็นแห่งแรกที่นักท่องเที่ยวจะนึกถึงเมื่อมาเยือนจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยเสน่ห์ของบ้านเรือนสองริมฝั่งคลองที่ยังคงความดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี ตลาดน้ำอัมพวาจะมีทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในช่วงเวลาเย็นตั้งแต่ช่วงเวลา 15.00-21.00 น. ในตอนเย็นชาวบ้านจะเริ่มทยอยพายเรือนำสินค้าหลากหลายนานาชนิด อาทิ อาหาร ผลไม้ พืชผัก ขนม ของกินของใช้ มาขายให้กับนักท่องเที่ยว หรือคนในท้องถิ่นที่สัญจรไปมาที่ตลาดอัมพวา ทำให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติของชีวิตของชุมชนริมน้ำ ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถที่จะหาซื้ออาหารมานั่งรับประทาน บริเวณริมคลองอัมพวาติดกับตลาดน้ำ ซึ่งได้มีการจัดสถานที่ไว้ ทำให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้สามารถนั่งเรือท่องเที่ยวตามแม่น้ำแม่กลอง และไหว้พระตามวัดริมแม่น้ำได้อีกด้วย สำหรับ ไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ก็คือ ในตอนค่ำๆ คุณสามารถเช่าเรือไปเที่ยวชมดูหิ่งห้อยได้ ค่าบริการคนละ 60-80 บาทเท่านั้นเอง

 

ภาพที่ 5 แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสงคราม
ที่มา https://krittayoch03.wordpress.com
 

         

 

          จังหวัดสมุทรสงครามนอกจากจะมีสถานที่ๆสวยแล้วให้ท่องเที่ยวเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบ้านแล้ว ยังขึ้นชื่อเรื่องของฝากยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวพลาดไม่ได้ ประเดิมด้วยอาหารคาว “ปลาทูแม่กลอง” ของดีประจำจังหวัดสมุทรสงครามที่ได้รับการยกย่องว่าสุดยอดแห่งปลาทูเมืองไทย ด้วยเอกลักษณ์ “หน้างอ คอหัก ลำตัวอ้วนสั้น แบน เนื้อเยอะ หวาน มัน หนังบาง” จึงเป็นที่ถูกใจนักชิมที่ชอบลิ้มลองปลาทู ปลาทูแม่กลองสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ปลาทูต้มมะดัน ปลาทูทอดกระเทียม ปลาทูฉู่ฉี่ และปลาทูซาเตี๊ยะ

 

ภาพที่ 6 ปลาทูแม่กลอง
ที่มา https://www.xn--72c5aba9c2a3b8a2m8ae.com
 

 

          “หอยหลอด”อาหารคาวอีกหนึ่งชนิดที่ที่พบอยู่ในพื้นที่ของสมุทรสงครามเป็นจำนวนมาก บริเวณดอนหอยหลอด มีลักษณะหอยทะเลสองฝา หน้าตาคล้ายหลอดกาแฟสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง นิยมนำมาประกอบอาหารเป็นเมนูยอดฮิตอย่าง หอยหลอดผัดฉ่า ซึ่งเป็นเมนูยอดฮิตที่แทบทุกร้านในสมุทรสงครามต้องมี และอาหารคาวชนิดสุดท้ายที่มาในรูปของเครื่องเทศ คือ “กะปิคลองโคน” ของตำบลคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่นรวมกันแปรรูปสัตว์น้ำเค็มจำพวกกุ้งแต่ตัวเล็กจิ๋ว มองด้วยตาเปล่าแทบจะไม่เห็นตัว จะเห็นเพียงแต่ตาสีดำๆ ชาวบ้านในพื้นที่นิยมเรียกว่า “เคยตาดำ หรือ เคย” สามารถมานำมาทำกะปิได้อร่อยและกลายเป็นของฝากยอดฮิตของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมจังหวัดสมุทรสงคราม

 

ภาพที่ 7 ลอดช่องวัดเจษ
ที่มา http://www.xn--72ccec0cc6gjtxyzrc6dgp1wlf.com/
 

 

          ตบท้ายด้วยผลไม้และของหวาน ลำดับแรก “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” พันธุ์ลิ้นจี่อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยลักษณะพิเศษรูปทรงคล้ายรูปหัวใจโย้ ไม่สมดุลทีเดียว เปลือกมีหนามแต่ไม่หนา เนื้อแห้ง กรอบ ไม่แฉะ กลิ่นหอมรสหวาน ลำดับต่อมา “ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่” ผลไม้พันธุ์พื้นบ้านที่มีลักษณะโดดเด่นด้วยรสชาติหวาน เก็บไว้ได้นาน ไม่โอ่เพราะเนื้อแห้งกำลังดี มีขนาดผลใหญ่ เปลือกนอกผิวสีเขียวอมเหลือง ส่วนเนื้อในเป็นสีน้ำผึ้ง มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ตามด้วย “ลอดช่องวัดเจษ” ผลิตภัณฑ์ของหวานขึ้นชื่อจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยกรรมวิธีในการผลิตอย่างพิถีพิถันและใส่ใจในการทำ ความโดดเด่นในเรื่องเส้นที่มีลักษณะเหนียวนุ่ม เรียวยาว ตลอดทั้งเส้น ทำจากใบเตยและน้ำกะทิที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าว ที่สรรหามาอย่างดีผสมกับเทคนิคสูตรและฝีมือของผู้ผลิตที่ได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ลอดช่องวัดเจษมหาชัยมีหลากหลายสาขาและได้รับการยอมรับการเป็นของดีประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

          สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพไปสมุทรสงครามอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 72 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางรถประจำทาง โดยสารบริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม โดยมีรถจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.50-21.00 น. รถปรับอากาศ (ดำเนินทัวร์) โทร. 0-2435-5031 หรือ www.transport.co.th หรือนักท่องเที่ยวสะดวกเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลสามารถขึ้นทางด่วนไปลงดาวคะนอง ไปตามทางหลวงหมายเลข 35 ถนนสายธนบุรี-ปากท่อ (พระราม 2) ผ่านสี่แยกมหาชัย-นาเกลือ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 63 จะมีทางแยกต่างระดับ เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม

          จังหวัดสมุทรสงครามยังคงเป็นจังหวัดเล็กๆที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ได้แก่เช่น วัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ ตลาดบก ตลาดน้ำและมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาร่วมสัมผัส เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

เรียบเรียงโดย  นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์.[ออนไลน์]. “โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์” [สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562]. https://www.thairath.co.th/content/491115

Another Planet.[ออนไลน์]. “ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ป่าชายเลนคลองโคน จ.สมุทรสงคราม” [สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562]. https://www.thairath.co.th/content/491115 

Kapook .[ออนไลน์]. “20 ที่เที่ยวสมุทรสงคราม ที่เที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ไปเช้า-เย็นกลับสบาย ๆ” [สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562]. https://travel.kapook.com/view207361.html