ขนมโคโบราณจากแหล่งใต้

          ขนมไทยโบราณ เป็นอาหารคู่สำรับกับข้าวของคนไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ดังคำว่าสำรับกับข้าวคาว-หวาน เป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนประณีตในการทำตั้งแต่วัตถุดิบวิธีการทำที่กลมกลืน พิถีพิถันในเรื่องรสชาติ สีสัน ความสวยงาม กลิ่นหอม และรูปลักษณะที่ชวนน่ารับประทานตลอดจนกรรมวิธีการรับประทานขนมแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามลักษณะต้นกำเนิดของขนมในแต่ละภูมิภาค

ประวัติขนมโค

          “ขนมโค” มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับพื้นที่ภาคใต้มาอย่างยาวนาน จากความเชื่อของคนในพื้นถิ่นที่ว่า ขนมโคเป็นขนมมงคลใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ใช้บูชาผี-เทวดา  เช่น หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระพิฆเนศ เป็นต้น ขนมอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้นิยมนำวัสดุในท้องถิ่นมาทำเป็นขนมเพื่อบูชาองค์พิฆเนศ ซึ่งทางปักษ์ใต้เองก็มีขนมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ขนมดู ทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาล มะพร้าว เช่นเดียวกับขนมโค แต่ขน0E21ดูนั้นยังไม่อยู่ในความรับรู้ว่า สามารถนำมาใช้บูชาบนบานองค์พิฆเนศได้หรือไม่ หรืออาจไม่เป็นที่นิยมเพราะไม่อร่อยเหมือนกับขนมโค

          ขนมโคเป็นขนมที่รสชาติอร่อย ทำง่ายสามารถทำรับประทานในครัวเรือนได้ มีลักษณะทรงกลมและกรรมวิธีทำคล้ายกับขนมต้มในภาคกลาง ต่างกันที่ขนมโคไส้เป็นน้ำตาลแว่นหรือน้ำตาลโตนด ในขณะที่ขนมต้มเป็นไส้กระฉีก ซึ่งทำมาจากมะพร้าวทึนทึกขูดกวนกับน้ำตาลปึกให้เข้ากันแล้วนำมาอบกับควันเทียนให้หอม ขนมโคโบราณได้รับการประยุกต์เพื่อให้รสชาติของขนมโคถูกปากของคนไทยในยุคปัจจุบันมากขึ้น จึงเติมน้ำกะทิ เพิ่มความมันและมีหลากสีสัน ให้ชวนน่ารับประทานมากขึ้น ขนมโคในปัจจุบันจึงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ขนมโคแห้งและขนมโคกะทิ

ขนมโคแห้ง

 

รูปที่ 1 ขนมโคแห้ง
ที่มา : http://www.adrenalinerushdiaries.com/my-tiny.

 

          ส่วนประกอบ ได้แก่  แป้งข้าวเหนียว  สีธรรมชาติ  น้ำตาลแว่น  มะพร้าวขูด  เผือกหอมนึ่ง  เกลือป่นเล็กน้อย (ใช้สำหรับคลุกกับมะพร้าวขูด)

วิธีการทำขนมโคแห้ง

  1. นำเผือกมาล้างให้สะอาดและเอายางออกให้หมด เสร็จแล้วนำเผือกมานึ่งให้สุก
  2. เอาน้ำตาลแว่นมาตัดเพื่อนำไปทำไส้ โดยให้ขนาดพอดี เพราะหากมีขนาดใหญ่เกินไปจะทำให้ขนมมีขนาดใหญ่ รับประทานได้ยาก

 

รูปที่ 2 การนวดแป้งขนมโคแห้ง
ที่มา : http://www.adrenalinerushdiaries.com/my-tiny.

 

            3. นำเผือกที่นึ่งไว้มาบด จากนั้นนำไปผสมกับแป้งข้าวเหนียว ทำการนวดผสมกันจนเป็นก้อน ถ้าส่วนผสมแห้งเกินไปก็เติมน้ำหรือถ้ารู้สึกว่าเหนียวไปก็ให้เติมแป้งเพิ่ม ถ้าอยากได้แป้งสีชมพูก็ให้เอาน้ำหวานสีแดงผสมน้ำเปล่าเทใส่ลงไปแล้วนวดจนเข้ากัน

            4. แบ่งแป้งเป็นก้อนกลมๆ โดยปริมาณของแป้งต้องมากพอที่จะหุ้มน้ำตาลที่ตัดเตรียมไว้และปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆ แล้วให้แผ่เป็นแผ่บางๆ วางน้ำตาลลงไปและให้คลึงแป้งให้เป็นก้อนกลมๆ

 

รูปที่ 3  คลุกด้วยมะพร้าวขูด
ที่มา : http://www.adrenalinerushdiaries.com/my-tiny.
 

 

          5. เตรียมน้ำสำหรับลวกขนม ให้เติมน้ำสะอาดใส่ลงในหม้อ ตั้งไฟด้วยความร้อนปานกลาง เมื่อน้ำเดือดแล้วให้นำขนมโคลงไปในหม้อ

          6. เมื่อสุกแล้วตัวขนมโคจะลอยขึ้นแล้วให้เตรียมช้อนตักขึ้นแล้วน้ำขนมโคสุกไปแช่ในน้ำเย็น นำขนมโคมาคลุกกับมะพร้าวขูดที่คลุกกับเกลือป่นเล็กน้อยพอให้มีรสเค็มๆมันๆ    

ขนมโคกะทิ

 

รูปที่ 4 ขนมโคกะทิ
ที่มา : https://today.line.me/th/pc/article.

 

         ส่วนประกอบ ได้แก่  มะพร้าวขูด  น้ำตาลมะพร้าว  น้ำมะพร้าว  เกลือสมุทร  แป้งข้าวเหนียว  สีธรรมชาติ  หัวกะทิ  น้ำตาลทราย  เกลือสมุทร  ใบเตย  งาขาวคั่ว

วิธีการทำขนมโคกะทิ

          1. นำหม้อขึ้นตั้งไฟปานกลาง ใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไปตามด้วยมะพร้าวและเกลือ ผัดให้แห้งและหอม จากนั้นยกออกจากเตาและพักไว้ให้เย็นสนิท

          2. แบ่งแป้งข้าวเหนียวเป็น 4 ส่วนเท่าๆกัน ผสมน้ำแต่ละถ้วย ได้แก่ น้ำใบเตย น้ำดอกอัญชัน นวดให้เข้ากันจนแป้งไม่ติดมือ

          3. หยิบแป้งขึ้นมาหนึ่งหยิบแล้วปั้นเป็นลูกกลมๆ บีบให้แบบความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร  จากนั้นหยิบไส้ที่ผัดไว้ขนาดเล็กกว่าแป้ง จับให้เป็นก้อนๆแล้ววางลงบนแป้ง ห่อและปั้นให้เป็นลูกกลมๆ วางบนถาดเตรียมไว้ ทำจนแป้งและไส้หมด

          4. นำหม้อขึ้นตั้งไฟกลาง ใส่น้ำลงไป รอจนน้ำเดือด แล้วใส่ขนมโคที่ปั้นไว้ลงไปต้มจนสุก เสร็จแล้วตักไปพักไว้ในน้ำเย็น

 

รูปที่ 5 กะทิกับใบเตย
ที่มา : http://twistmedia.bid/save/video/aVWom9tV_r0/-.html
 

 

         5. นำหม้อขึ้นตั้งไฟปานกลาง เทหัวกะทิลงไป ตามด้วยเกลือสมุทร น้ำตาลและใบเตย คนจนละลายเป็นเนื้อเดียวกันจนเดือด ตักใบเตยออก โรยงาขาวคั่ว และยกออกจากเตาพักทิ้งไว้

          6. นำขนมโคใส่ถ้วย หรือหม้อที่จัดเสิร์ฟ ราดน้ำกะทิที่เตรียมไว้ลงไปและโรยงาขาวคั่วพร้อมเสิร์ฟ

ความแตกต่างของขนมโคแห้งกับขนมโคกะทิ

          ขนมโคกะทิ เป็นขนมที่ได้รับการวิวัฒนาการดัดแปลงมาจากขนมโคแห้ง ขนมโคกะทิจะมีกรรมวิธีในการทำคล้ายกับขนมโคแห้งจะแตกต่าง ในกรรมวิธีการทำไส้ โดยขนมโคแบบแห้งจะทำไส้ด้วยน้ำตาลแว่น ส่วนขนมโคกะทิจะใช้ไส้เป็นมะพร้าวผัดน้ำตาลและเติมน้ำกะทิลงไป

          รสนิยมการรับประทานขนมของคนไทยเปลี่ยนไปจากอดีต เกิดจากอิทธิพลวัฒนธรรมของต่างประเทศที่รับเข้ามาผ่านสื่อออนไลน์และการท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้ขนมไทยโบราณเริ่มเลื่อนหายไปจากสังคมไทย  การได้รับการสืบทอดจากคนรุ่นๆแรก สู่คนรุ่นปัจจุบัน โดยการพัฒนาให้รูปลักษณ์ของขนมให้เชิญชวนรับประทาน การเพิ่มสีสัน การออกแบบ และการจัดจานให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเป็นการเจาะตลาดของกลุ่มคนวัยรุ่นและคนวัยทำงานในยุคปัจจุบัน ให้รู้จักขนมไทยมากขึ้นและเพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนมไทยโบราณให้อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยตลอดไป

เรียบเรียงโดย  นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

คุณแมวโมจิ.[ออนไลน์]. “ขนมโค ตำรับปักษ์ใต้ แป้งนุ่มไส้หวานหอมอร่อยน่าลองทำ”. [สืบค้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562] https://cooking.kapook.com/view162011.htm.

เฉลิมพันธุ์ มีขำ, วันทิยา นัครี และสุนิสา ปูปาน.[ออนไลน์]. “ขนมโค ขนมท้องถิ่นแต่โบราณ”. [สืบค้นวันที่ 28  กุมภาพันธ์ 2562] http://kanomco.blogspot.com/2013/02/blog-post_28.html

WONGNAI.[ออนไลน์]. “วิธีทำ ขนมโคกะทิ เมนูขนมไทยโบราณหากินได้ยาก”. [สืบค้นวันที่ 28  กุมภาพันธ์ 2562] https://www.wongnai.com/recipes/ka-nom-ko.   

ADRENALINERUSH. [ออนไลน์]. “ขนมโค”. [สืบค้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562]  http://www.adrenalinerushdiaries.com/my-tiny-kitchen.