ศิลปะการแสดงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากอารมณ์ ความรู้สึกและภูมิปัญญาถ่ายทอดมาสู่การแสดงนั้นๆ มีการรักษาให้คงอยู่ต่อไปและปรับเปลี่ยนให้มีรูปแบบที่ทันยุคสมัยในปัจจุบัน การแสดงหนังประโมทัยอีสาน เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและกลายเป็นมหรสพประจำถิ่น ที่มีชื่อเรียกต่างๆกันไปหลายชื่อ เช่น หนังปราโมทัย หมายถึง ความบันเทิงใจ, หนังปะโมทัย หมายถึง เป็นชื่อคณะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียง, หนังบักตื้อ หรือปลัดตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว เป็นต้น
ภาพที่ 1 : การแสดงหนังประโมทัยอีสาน
ที่มา: https://www.isangate.com/new/drama-acting/156-pramo-tai.html
ต้นกำเนิดหนังประโมทัย
หนังประโมทัยอีสานมีต้นกำเนิดมาจากหนังตะลุงของภาคใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่กระจายมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม เนื่องจากแรงงานจากภาคอีสานได้เข้ามาทำงานในภาคใต้เป็นจำนวนมาก เมื่อได้สัมผัสและปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมทางได้แล้ว จึงได้นำเอาวัฒนธรรมที่ตนพบเห็นกลับไปยังภาคอีสาน แล้วปรับศิลปะการแสดงดังกล่าวให้เกิดความเหมาะสมกับวัฒนธรรมของตนที่มีอยู่เดิม หนังประโมทัยโด่งดังมากในจังหวัดอุบลราชธานี และกลายเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของหนังประโมทัยที่มีคณะหนังประโมทัยที่เก่าแก่ที่สุด คือ คณะฟ้าบ้านทุ่ง ซึ่งได้รับความนิยมมากในระหว่าง พ.ศ.2469-2472 หลังจากปี 2472 ความนิยมลดน้อยลงอีกครั้ง เนื่องจากมีการแสดงลิเกในภาคกลางเข้ามาแสดงในภาคอีสาน และหนังประโมทัยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
องค์ประกอบของการแสดงหนังประโมทัย
องค์ประกอบสำคัญที่สำคัญในการแสดงหนังประโมทัยคือ ผู้เชิด ตัวหนัง โรงและจอหนัง บทพากย์ บทเจรจา ดนตรีประกอบ ตลอดจนแสงเสียงที่ใช้ในการแสดง
ภาพที่ 2 : องค์ประกอบการแสดงหนังประโมทัยอีสาน
ที่มา: https://www.isangate.com/new/drama-acting/156-pramo-tai.html
คุณสมบัติของผู้แสดงหนังประโมทัย
ในคณะหนึ่งๆของการแสดงหนังประโมทัยจะประกอบด้วยบุคลากร 5-10 คน โดยแบ่งหน้าที่ออกกันได้แก่ คนเชิดหนัง คนพากย์ และนักดนตรี ซึ่งคุณสมบัติพึงประสงค์ที่ผู้แสดงหนังประโมทัยควรจะมี
- เป็นบุคคลที่มีเสียงดีและสามารถทำเสียงได้หลายเสียงเพื่อให้เข้ากับลักษณะของตัวละคร รวมทั้งบางครั้งสามารถร้องและรำในรูปแบบต่างๆได้
- มีศิลปะในการเชิด สามารถสวมวิญญาณให้กับรูปหนังที่ตนเชิดได้ทุกตัวและสามารถสับเปลี่ยนเล่นเป็นตัวอื่นๆได้โดยฉับพลัน
- เป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบดี
- เป็นผู้มีอารมณ์ขัน มีมุขตลกที่ดี
- เป็นผู้มีความรู้ ทั้งในคดีโลกและคดีธรรม
- เป็นผู้ที่มีความสามารถในการจดจำ ในเรื่องราว ข้อคิด บทกลอนต่างๆมาใช้ในการแสดง
ตัวหนังประโมทัย
ตัวหนังประโมทัยทำจากหนังวัวหรือหนังควาย บางที่อาจจะใช้หนังลูกวัว ลูกควาย เพราะมีลักษณะพิเศษคือ โปร่งแสงมากกว่า ตัวหนังมีขนาดสูงประมาณ 1-2 ฟุตเหมือนกับหนังตะลุงทางภาคใต้ แต่จะมีรูปลักษณ์และสีที่แตกต่างกัน ในคณะหนึ่งจะใช้ตัวหนังราว 80-200 ตัว โดยทั่วไปๆ ตัวหนังจะไม่มีลักษะเฉพาะทำให้ใช้แสดงได้หลายเรื่อง เช่น ตัวพระ ตัวนาง และตัวยักษ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ตัวหนังที่ต้องใช้ เช่น รูปฤษี พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ทศกัณฑ์ หนุมาน รูปยักษ์ รูปลิง รูปตลก เป็นต้น
ภาพที่ 3 : ตัวหนังการแสดงหนังประโมทัย
ที่มาhttp://www.lib.ubu.ac.th/localinformation/file/pramothai.pdf:
บทพากย์และบทเจรจา
ในการแสดงหนังประโมทัยจะมีทั้ง การพากย์และการเจรจา มีลักษณะท่วงทำนองและลีลาการพากย์ตลอดจนรูปแบบอื่นๆคล้ายกับโขนและหนังตะลุงของภาคใต้ ซึ่งชาวอีสานเรียกการพากย์หนังประโมทัยว่า “ฮ้องหนังตะลุง”และเรียกการเจรจาว่า “ความเว้า”
ลักษณะบทพากย์หนังประโมทัยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การพากย์ทำนองหนังตะลุง จะเป็นลักษณะบทกลอนสั้นๆที่นำมาจากหนังสือวรรณคดีภาคกลาง ถ้าถ้าเป็นกลอนลำยาวมากๆ จะใช้พากย์พระฤาษี บรรยายเรื่อง บรรยายาชรถ ความรู้สึกนิกคิดของตัวละคร ใช้เป็นทำนองหลักของคณะที่เล่นเรื่องรามเกียรติ์ มีทำนองเหมือนกับอ่านทำนองเสนาะ จะแตกต่างกันบ้างที่สำเนียงเพี้ยนๆ จากสำเนียงกลางเป็นสำเนียงอีสาน บางคนเรียกว่า “พากย์ทำนองอ่านหนังสือ” และการพากย์ทำนองแบบหมอลำ มีลักษณะการลำทำนองช้าๆ เรียกว่า “ลำอ่านหนังสือ” และทำนองลำเต้ย ซึ่งเป็นทำนองที่มีความครึกครื้นสนุกสนานเพิ่มเติม ตัวหนังที่ทำหน้าที่ลำเต้ย ได้แก่ ตัวตลกเช่น ปลัดตื้อ บักป่อง บักแก้ว โดยจะใช้ทำนองแบบหมอลำจากทางอุดรธานีและขอนแก่นในการแสดง
ส่วนลักษณะบทเจรจาของหนังประโมทัย คือบทสนทนาธรรมดาเหมือนพูดคุยทั่วไปซึ่งมีลักษณะคล้ายหนังตะลุงภาคใต้ทั่วไป โดยบทเจรจาจะใช้ภาษากลาง นิยมใช้กับตัวพระ นาง ยักษ์ ลิงและภาษาอีสาน นิยมใช้กับตัวตลกและเสนา
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดง
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงหนังประโมทัยจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบที่ 1 ใช้ระนาดเอกเป็นหลักของวง มักจะใช้เล่าเรื่องรามเกียรติ์ ประกอบด้วย ระนาดเอก กลอง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น
ภาพที่ 4 : เครื่องดนตรีหนังปราโมทัย
ที่มาhttp://www.lib.ubu.ac.th/localinformation/file/pramothai.pdf:
รูปแบบที่ 2 ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานประกอบการแสดง ประกอบด้วย พิณ แคน ซอ กลอง ฉิ่งและฉาบ ใช้การร้องหมอลำเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเครื่องดนตรีให้ทัน
การสืบสานหนังประโมทัย
นับได้ว่าหนังประโมทัยเป็นศิลปะการแสดงที่อยู่คู่กับท้องถิ่นอีสานมาอย่างช้านาน ต้องยอมรับว่าสังคมไทยได้รับอิทธิจากวัฒนธรรมตะวันตกทำให้ศิลปะการแสดงอย่างหนังประโมทัยเริ่มที่จะสูญหายไปตามการเวลา ซึ่งสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เล็งเห็นความสำคัญของศิลปะการแสดงอีสานที่กำลังจะเลือนหายไป ได้จัดโครงการในการร่วมอนุรักษ์โดยเอาศิลปะการแสดงนี้มาใช้ในชุดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้รู้จักศิลปะการแสดงพื้นบ้านนี้ โรงเรียนบ้านหนองแวง (โสวรรณีวิทยาคม) ต.หนองแวง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยมี พ่อใหญ่หิน พรมดี เป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้กับนักเรียนด้วยตนเอง เริ่มขึ้นในปี 2545 เป็นต้นมา ทำให้หนังประโมทัยจึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนแห่งนี้
ปัจจุบันคณะหนังประโมทัยยังคงหลงเหลือบ้างในบางพื้นที่อีสาน แม้จะไม่ได้รับความนิยมเหมือนก่อนมากนัก คณะน้ำปลักบันเทิงศิลป์ จังหวัดยโสธร คณะพ่อคำตา อินทร์สีดา จังหวัดอุดรธานี และคณะ ฟ.บันเทิง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นคณะที่ได้ยังรับทำการแสดงตามความประสงค์ของนายจ้าง ซึ่งค่าแรงเป็นไปตามระยะทางที่แสดง ในช่วงที่คณะหนังประโมทัยไม่มีงานแสดงทางคณะจะร่วมมือกับผู้นำชุมชนและโรงเรียนในท้องถิ่น ในการส่งเสริมและรักษ์ศิลปะการแสดงดังกล่าวให้คงอยู่ โดยเพื่อให้เด็กๆรุ่นใหม่และคนในพื้นที่ได้เรียนรู้ ภูมิปัญญาซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย
ภาพที่ 5 : คณะน้ำปลักบันเทิงศิลป์ จังหวัดยโสธร
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=TWIYyW9MzyY
การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของหนังตะลุงภาคใต้จนเกิดเป็นหนังประโมทัยอีสานที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากคนในท้องถิ่นตนไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กาลเวลาจะทำให้หนังประโมทัยอีสานเลื่อนหายไปจากความทรงจำไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือความร่วมมือของหน่วยงานราชการร่วมกันอนุรักษ์และหาผู้สืบทอดศิลปะการแสดงที่ทรงคุณค่านี้ให้อยู่กับสังคมไทยไปอย่างช้านาน
เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บรรณานุกรม
ขนิษฐา ทุมมากรณ์.[ออนไลน์]. “หนังประโมทัย : ศิลปะการแสดงอีสานที่กำลังเลือนหาย” [สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562]. http://www.lib.ubu.ac.th/localinformation/file/pramothai.pdf