กะเหรี่ยงโปว์ :ชนชาติต่างถิ่นในแดนไทย

         สยามเมืองยิ้ม เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยปรากฏชนชาติต่างๆตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย อาทิ ชาวพม่า ชาวไทย ชาวลาว ชาวชวา ชาวมลายู หรือชาวกระเหรี่ยง และชนชาติอื่นๆอีก ซึ่งความหลากหลายของชาติพันธุ์ดังกล่าวนี้นำมาซึ่งความแตกต่างของ            วิถีชีวิต ภาษา และวัฒนธรรมที่ปะปนอยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน “กะเหรี่ยง” เป็นชนชาติเก่าแก่ชาติหนึ่ง ที่มีความเป็นมายาวนานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปรากฏการตั้งถิ่นฐานอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมและภาษาเฉพาะของตนเองและมักถูกเรียกว่า “ชาวไทยภูเขา” เพราะว่าโดยทั่วไปชาวกระเหรี่ยงนิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เขตภูเขาสูงที่มีความอุดมสมบูรณ์

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1 ชาวกะเหรี่ยงโปว์
ที่มา : http://petchpoom.com

1. ที่มาของชาวกะเหรี่ยง

          “กะเหรี่ยงโปว์” เป็นกลุ่มกระเหรี่ยงกลุ่มใหญ่ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย จากการศึกษาประวัติศาสตร์ชนชาติกะเหรี่ยงจะพบว่า ชนชาติกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ การอพยพเข้ามาในสมัยพระเจ้าอลองพญาทำสงครามหวาดล้างชาวมอญ ซึ่งในช่วงนั้นชาวกะเหรี่ยงเป็นพันธมิตรกับมอญและอีกคราวหนึ่งในปี ค.ศ. 1885 เมื่อจักรวรรณนิยมอังกฤษพยายามปราบปรามชาวกะเหรี่ยงโดยการนำของกลุ่มจ่อละผ่อที่ไม่ยอมรับอิทธิพลใดๆของอังกฤษ

         ความสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงและชาวไทย ปรากฏมากมายในเอกสารโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาจะพบว่าหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงโปว์ การกระจายตัวอยู่หลายจังหวัดในภูมิภาคของประเทศไทย เช่นเดียวกับกะเหรี่ยงโปว์ในภาคตะวันตกที่อาศัยอยู่ตามจังหวัดตาก อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ล้วนดำรงรักษาวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติกะเหรี่ยงโปว์ของตนได้ดี

2. สังคมและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์

 

 

 

 

 

ภาพที่ 2 ชาวกะเหรี่ยงโปว์
ที่มา : http://petchpoom.com

 2.1 ลักษณะรูปร่างหน้าตา  ชาวกะเหรี่ยงจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายชาติไต มีสีผิวตั้งแต่ผิวเหลืองจนถึงผิวสีน้ำตาลคล้ำ รูปหน้าค่อนข้างเหลี่ยม หน้าแบน จมูกแบนกว้าง มักไม่มีสันจมูก โหนกแก้มสูง ตาหยีเล็กน้อยผมสีดำเหยียดตรงเส้นผมใหญ่และหนา บางคนผมหยักสก ส่วนใหญ่ไม่นิยมไว้หนวดเครา นอกจากหัวหน้าผู้เป็นผู้นำในงานพิธีหรือพวกฤาษีเท่านั้น

2.2 การประกอบอาชีพและการอยู่อาศัย ในอดีตการประกอบอาชีพของชาวกะเหรี่ยงนิยมทำการเพาะปลูกแบบย้ายที่หรือแบบไร่เลื่อนลอย ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาปลูกแบบไร่หมุนเวียน โดยพืชที่ปลูกเป็นหลักคือ ข้าวไร่ วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมีความเป็นอยู่ที่กลมกลืนกับธรรมชาติที่แวดล้อมรอบตัวได้ดี ลักษณะบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงในอดีตเป็นเรือนเครื่องผูกใต้ทุนสูง ทำจากไม้ไผ่ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่มาก เนื่องจากเทคโนโลยีและความเจริญเข้ามาในพื้นที่ ทำให้บ้านแปรสภาพเป็นบ้านปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสีมากขึ้น

2.3 การแต่งกาย  ชาวกะเหรี่ยงจะทอผ้าใช้เอง ด้วยกี่เอว ซึ่งเป็นกี่ขนาดเล็ก กว้างไม่เกิน 150 เซนติเมตร เป็นนวัตกรรมที่นำมาใช้ทอผ้าแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ผู้ชายกะเหรี่ยงนิยมใส่เสื้อสีแดงบานเย็นหรือขาว ตอนล่างของเสื้อทอยกเป็นตาราง มีพู่ห้อยเป็นระยะ นุ่งโสร่งไม่เย็บติดเป็นถุง ส่วนผู้หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน จะนุ่งกระโปรงยาวสีขาว บางคนจะทอเป็นลวดลายสีแดงในแนวตั้ง ไม่ทอยกเป็นตาราง มีพู่ห้อยเป็นระยะ แขนเสื้อสั้น เป็นเสื้อคอแหลม หากเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่เสื้อผ้าสองท่อน คือใส่เสื้อแบบผู้ชายแล้วนุ่งผ้าซิ่น ทอยกดอกเป็นลายขวางมีสีสันสวยงาม

2.4 ความเชื่อและการนับถือศาสนา   ชาวกะเหรี่ยงโปหรือโพล่ว กลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับชาวมอญมาก่อนจึงได้รับอิทธิพลพุทธศาสนามาจากชาวมอญ เกือบทุกหมู่บ้านจึงมีวัดประจำหมู่บ้านเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจให้กับคนในพื้นที่ ส่วนวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติดั้งเดิม จะนับถือผีและเทวดาหรือเทพเจ้าที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัว เช่น เทพที่ให้ความคุ้มครองโลก (ผิชะโร่) พระแม่ธรณี (ซ่งทะรี) พระแม่คงคา (โพ่โตกุ๊) เป็นต้น ซึ่งชาวกะเหรี่ยงจะเคร่งครัดมีธรรมเนียมปฏิบัติต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ด้วยความเคารพเป็นประจำทุกปี

ประเพณีห่อข้าวกะเหรี่ยงในจังหวัดเพชรบุรี

         จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ตั้งถิ่นฐานอยู่และยังรักษาวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าตนได้ดี โดยหน่วยงานราชการจังหวัดเพชรบุรีได้จัดกิจกรรมและให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณี “ข้าวห่อกระเหรี่ยง” หรือที่เรียกกันว่า “อั้งมีถ่อง” เป็นการประกอบพิธีกรรมผูกแขนเรียกขวัญ เพื่อให้ลูกหลานอยู่สุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขความเจริญ มีความรักสามัคคี ข้าวห่อกะเหรี่ยง เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

 

ภาพที่ 3 ประเพณีห่อข้าวกะเหรี่ยง
ที่มา : http://thaifest.tourismthailand.org/index.php?page=content&id=1033

         สำหรับประเพณีกินข้าวห่อกระเหรี่ยง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน วันแรกจะเป็นวันเก็บใบผากคล้ายกับต้นไผ่ เพื่อนำมาห่อข้าวเหนียว วันที่ 2 จะเป็นวันห่อข้าวเหนียวพร้อมต้มเพื่อให้ข้าวเหนียวสุก วันที่ 3  จะเป็นวันกินข้าวห่อ โดยช่วงจะถึงวันที่ 3 แต่ละบ้านจะทำพิธีเรียกขวัญ จะใช้ด้ายสีแดง ผูกที่ข้อมือสมาชิกที่อยู่ในบ้านทุกคน จะทำ 2 ช่วงๆแรกจะทำก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เรียกว่าพิธีเรียกขวัญ ช่วงที่ 2 จะทำก่อนพระอาทิตย์ตกดินเรียกว่าผูกขวัญ ในพิธีกรรมจะมียอดข้าวห่อ ก็คือข้าวเหนียวห่อด้วยใบผากต้มจนสุก แต่ที่เรียกยอดข้าวห่อ มี อ้อย 9 ชิ้น ห้วย บุหรี่ หมาก นำทุกอย่างมาใส่ตะกร้า จุดเทียน 1 เล่ม เพื่อบอกผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย เมื่อทำพิธีเสร็จช่วงกลางวันจะกินข้าวห่อที่ทำกันไว้ พร้อมทั้งแจกจ่ายให้สมาชิกภายในหมู่บ้านได้รับประทาน ประเพณีกินข้าวห่อกระเหรี่ยงนิยมทำกันในช่วงเดือน 9 ไทย หรือเดือนสิงหาคม ของทุกปี

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 4 ประเพณีห่อข้าวกะเหรี่ยง
ที่มา : https://sites.google.com/site/praphenikhawhx/xupkrn-kar-tha-khaw-hx

กรรมวิธีในการทำข้าวห่อกะเหรี่ยงโปว์
วัตถุดิบที่ใช้ในการทำข้าวห่อกะเหรี่ยงโปว์  แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
1. อุปกรณ์ทำข้าวห่อ ประกอบไปด้วย ข้าวเหนียว, ใบผากหรือใบตอง, ตอกมัดข้าวห่อ
2. อุปกรณ์ทำน้ำจิ้ม ประกอบไปด้วย มะพร้าว, น้ำตาลปี๊บ, น้ำเปล่า

วิธีทำข้าวห่อและน้ำจิ้ม
1. นำข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบผากหรือใบตองคล้ายรูปทรงกระบอก
2. จากนั้นนำดอกที่เตรียมไว้มามัดให้แน่นเสร็จแล้วนำข้าวเหนียวที่ห่อเสร็จแล้วไปต้มจนสุกใช้เวลาต้มจนสุกประมาณ 6-8 ชั่วโมง

วิธีทำน้ำจิ้ม
1.นำมะพร้าวมาขูดแล้วคันน้ำออก
2. แล้วนำมาเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บใส่น้ำเปล่าพอประมาณ เคี่ยวจนเหนียวให้สีออกน้ำตาลแดงสวย

         “กะเหรี่ยง” เป็นชนชาติที่มีความสัมพันธ์กับคนไทยมาอย่างช้านาน เป็นชนชาติที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันทรงเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่า ผู้นำเผ่าและหน่วยงานราชการยังคงอนุรักษ์ สืบทอดไว้ให้ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงและชาวไทยได้เรียนรู้ โดยการนำเทคโนโลยีและการศึกษาเป็นตัวกลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยง อีกทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมให้ไม่เลือนหายไปจากสังคม

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

ฐานข้อมูลองค์ความรู้แม่น้ำเพชรบุรี.[ออนไลน์]. “ประเพณีข้าวห่อกะเหรี่ยง (แก่งกระจาง)”.[สืบค้นวันที่ 26  กุมภาพันธ์ 2562] https://catlovecatza.wordpress.com/tag/ประเพณีข้าวห่อกะเหรี่ยง

ฟ้อน เปรมพันธุ์, จักกฤช โพธิ์แพงพุ่ม, สุพรรณี โพธิ์แพงพุ่ม, จุไรรัตน์ เพียงโงก “ภูมิปัญญากะเหรี่ยงกาญจนบุรี” (หน้า 9-20). กาญจนบุรี:มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี