ฟ้อนรำตังหวาย : ศิลปะแขนงนาฏศิลป์ไทยคู่อีสาน

          นาฏศิลป์และนาฎยศิลป์เป็นศิลปะการฟ้อนรำ แขนงหนึ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ ถิ่นที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพต่างๆ ภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย วิถีชีวิตของคนในพื้นที่นี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ เกิดความเชื่อเรื่องเทพเจ้า บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา โดยเริ่มจากวิงวอนอธิษฐาน ด้วยการเล่นเครื่องดนตรี การร้องและการรำเพื่อให้เทพเจ้าเกิดความพึงพอใจมากที่สุด

 

 

 

 

ภาพที่ 1 ฟ้อนรำตังหวาย
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=xOgXEccL3sw

          “ฟ้อนรำตังหวาย” เป็นหนึ่งในการแสดงพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เดิมตังหวาย เป็นชื่อเมืองหนึ่งในแคว้นสะหวันนะเขต สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชน เป็นชุดการแสดงเมื่อนายประดิษฐ์ แก้วชิณ ได้พบเห็นการแสดงที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เห็นว่ามีลีลาการแสดงอ่อนช้อยงดงามน่าจะฟื้นฟูจึงได้นำมาทดลองฝึกให้เด็กรำ เห็นว่าเหมาะสมดี จึงได้นำชุดฟ้อนนี้ออกแสดงในงานปีใหม่ ที่ทุ่งศรีเมือง ในปี พ.ศ. 2514 ต่อมา อาจารย์ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์ หัวหน้าภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี นำต้นแบบมาดัดแปลงท่ารำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แล้ววงโปงลางวิทยาลัยครูอุบลราชธานีได้นำออกมาแสดงจนเป็นที่นิยมและเป็น เอกลักษณ์ของวงมาจนบัดนี้

ลักษณะการฟ้อนตังหวาย

          การฟ้อนตังหวายแบ่งที่มาออกได้ 2 ลักษณะ

          1. ฟ้อนตังหวายเป็นการฟ้อนเพื่อบวงสรวง เป็นพิธีกรรมของชาวบ้านที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงมีความเชื่อและยึดมั่นในการนับถือเทวดาฟ้าดิน ภูตผี วิญญาณ ต้นไม้ใหญ่ จอมปลวก งูใหญ่และหนองน้ำ เป็นต้น โดยชาวบ้านเหล่านี้มีความเชื่อว่าสิ่งที่ตนนับถือนั้นสามารถจะดลบันดาลให้เกิดผลสำเร็จ หรือเมื่อเกิดอะไรที่ผิดจากธรรมดาขึ้นมาก็เข้าใจว่าสิ่งที่ตนนับถือโกรธจึงบันดาลให้เป็นไปอย่างนั้นจึงจัดให้มีการบวงสรวงบูชา หรือจัดให้มีพิธีขอขมาขึ้นมาเพื่อขอให้มีโชคลาภ

          พิธีขอขมาจะมีล่ามเป็นผู้บอกขอขมา มีการฆ่าสัตว์  ไก่ หมู วัว ควาย และสิ่งอื่นๆ ตามกำหนดเพื่อนำมาบูชาเทพเจ้าหรือเจ้าที่เจ้าทางที่ตนเองนับถือ เท่านั้นยังไม่พอได้มีการตั้งถวาย ฟ้อนรำถวายเป็นการเซ่นสังเวย พอถึงฤดูกาลชาวบ้านต่างจะนำเอาอาหารมาถวายเจ้าที่เจ้าทาง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยถือว่าปีใด “ขนไก่ ไม่ตก ขนนก ไม่หล่น” ก็ถือว่าปีนั้นดี เทวดาจะให้ความคุ้มครอง จะต้องมีการจัดฉลองใหญ่โดยมีการ “ตั้งถวาย ฟ้อนรำถวาย” แต่ต่อมาคำว่า “ตั้งถวายฟ้อนถวาย” คำนี้ได้สึกกร่อนไปตามความนิยมเหลือเพียงคำสั้นๆ ว่า “ตั้งหวาย” หรือ “ตังหวาย”

          2. ฟ้อนตังหวายกับลำตังหวาย ลำตังหวายเป็นทำนองลำของหมอลำในแคว้นสวันนะเขต คำว่า   “ตังหวาย” น่าจะมาจากคำว่า “ตั่งหวาย” ซึ่งในสูจิบัตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมของคณะศิลปินและกายกรรมแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็ใช้คำว่า “ขับลำตั่งหวาย” คำว่า “ตั่งหวาย” ถ้าพิจารณาตามความหมายของคำแล้ว คำว่า “ตั่ง” หมายถึงที่สำหรับนั่งไม่มีพนัก อาจมีขาหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น “ตั่งหวาย” น่าจะหมายถึง ที่นั่งที่ทำมาจากหวาย

          จึงสันนิษฐานว่า การลำตั่งหวายเป็นทำนองลำที่นิยมลำของหมอลำในหมู่บ้านที่มีอาชีพผลิตตั่ง หวายออกจำหน่าย แต่เมื่อทำนองลำนี้เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยจึงกลายมาเป็น “ลำตังหวาย” ลำตังหวายเป็นทำนองลำที่มีความเร้าใจ สนุกสนานและมีความไพเราะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะลักษณะของกลอนลำจะมีการยกย่องทั้งฝ่ายชายและหญิง กลอนลำมีลักษณะโต้ตอบกัน จะมีคำสร้อยลงท้าย เช่นคำว่า หนาคิงกลม คนงามเอย ซำบายดี และคำขึ้นต้นว่า ชายเอย นางเอย

ตัวอย่างฟ้อนตังหวาย

(เกริ่นนำ) โอ….. บุญเอ๋ย บุญอีนางที่เคยสร้าง ซางบ่เป็นหนทาง โอ๊ยหนทาง พอให้น้องได้เที่ยว ละซางมีบาปมาแล่นเข็น ละซางมีเวรมาแล่นต้อง ทำให้น้องห่างพี่ชาย ห่างพี่ชาย โอ๊ยละนา ….

(กล่าวคำกลอน) 
ตังหวายนี้มีมาแต่โบราณ                ชาวอีสานบำรุงไว้อย่าให้หาย 
ของเขาดีมีไว้อย่าทำลาย                ขอพี่น้องทั้งหลายจงได้ชม
เขมราฐอำเภอถิ่นบ้านเกิด               ช่วยกันเถิดรักษาไว้อย่าได้สูญ
ท่าฟ้อนรำต่างๆช่วยเพิ่มพูน              อย่าให้สูญเสียศิลปะเรา
…………………

(ขึ้นทำนองลำ) 

(หญิง)  บัดนี้ข้าขอยอนอแม่นมือน้อม     ชุลีกรเด้อแม่นก้มกราบ ชูสลอนนอนบนอบนิ้ว ถวายไท้ดอกผู้อยู่เทิง อ้ายพี่คนงามนี่นา หนาคิงกลม (เยือกๆๆๆ)

(หญิง) ชายเอย จุดประสงค์นอแม่นหมายแม้น เพื่อเผยศิลป์นอพื้นบ้านเก่า ของไทยเฮานอตั้งแต่ก่อน โบราณผู้ให้เฟื่องให้ฟู  อ้ายพี่ของน้องนี่นา คนงามเอย (เยือกๆๆๆ)

การแต่งกายฟ้อนตังหวาย

          การแต่งกายฟ้อนตังหวายใช้นักแสดงผู้หญิงล้วน เครื่องแต่งกายนิยมแต่งกายอยู่ 2 แบบ คือ

          1. สวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น นุ่งผ้าถุงมัดหมี่คาดเข็มขัดเงินทับ ผมเกล้ามวย ใช้ฝ้ายสีขาวมัดผมคล้ายอุบะ

          2. ใช้ผ้าแพรวารัดอกทิ้งชายทั้งสองข้าง นุ่งผ้าถุงมัดหมี่ยาวครึ่งแข้ง เกล้าผมมวยใช้ผ้ามัดหรือใช้ดอกไม้ประดับรอบมวยผม

 

 

 

 

ภาพที่ 2 การแต่งกายฟ้อนตังหวายด้วยผ้าแพรวารัดอก ที่มา :
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/index.php?transaction=ubol01.php 

 

 

 

 

ภาพที่ 3  การแต่งกายฟ้อนตังหวายด้วยสวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น
ที่มา :http://www.isangate.com/new/isan-dance-list/284-isan-dance-74.html        

          นาฏศิลป์คือศิลปะแขนงหนึ่งที่มีวิวัฒนาการคงอยู่วิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างช้านาน เกิดจากความเชื่อของชาวบ้านสู่การละเล่นที่สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลินให้กับผู้เล่นและผู้ชมการแสดง ภายใต้การส่งเสริมภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนรวมในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะแขนงนี้ของไทยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม โครงการศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาซึ่งจัดขึ้นในทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนและร่วมอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ให้คงอยู่สืบต่อไป

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. [ออนไลน์]. “การฟ้อนรำ….จังหวัดอุบลราชธานี” .[สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562] http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance  /index.php?transaction=ubol01.php.