กำเนิดระบำอัปสรา (Apsara Dance)

          “ชนชาติขอม” เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานได้ทิ้งร่องรอยทางโบราณสถานไว้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นพบประเทศไทยมีปราสาทขอมในที่ราบสูงอีสานทั้งสิ้น 155 แห่ง จังหวัดที่พบร่องรอยมากที่สุดคือ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 50 แห่ง การก่อสร้างปราสาทขอม สร้างขึ้นตามคติความเชื่อของชาวอินเดียที่ว่าเทพเจ้าทั้งหลายสถิตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล การสร้างปราสาทจึงเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุมายังโลกมนุษย์ เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้า ดังนั้นบริเวณภายในและภายนอกปราสาทจะปรากฏสัญลักษณ์ต่างๆที่แสดงถึงเทพเจ้า “นางอัปสรา” ถือเป็นเทวรูปสำคัญที่ปรากฏอยู่ตามส่วนต่างๆ ของปราสาทขอม

นางอัปสราคือใคร ?

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1 ระบำอัปสรา
 
          “นางอัปสรา” แปลว่า “ผู้กระดิกในน้ำ” น้ำในที่นี่คือทะเลน้ำนม (เกษียรสมุทร) ที่เหล่าเทวดาและอสูรใช้เวลา 1,000 ปีช่วยกันกวนเพื่อให้ได้ น้ำอมกฤต ระหว่างที่กวนน้ำอมกฤตบังเกิดนางอัปสราจำนวน 35 ล้านองค์ มีเพียงนางอัปสราเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เป็นพระฉายาของพระนารายณ์คือพระนางลักษมีเทวี ส่วน              นางอัปสราที่เหลือทุกองค์จึงตกเป็นของกลางแห่งสวรรค์เป็นข้าบริจาริกาของเทวดาทั่วไป นางอัปสรา หรือฉายา นางบำเรอแห่งสวรรค์ ซึ่งมีฐานะเทพที่ได้รับการยกย่องเป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม นางอัปสราปรากฏอยู่บนปราสาทที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของฮินดู เกือบทุกแห่งรวมทั้งปราสาทหินในประเทศไทย รูปร่างของนางอัปสราในยุคก่อนและหลังนครวัด ล้วนปรากฏรูปลักษณ์ หน้าอกใหญ่ เอวคอด รูปร่างเพรียวลม สันนิษฐานว่าเป็นรูปร่าง  ที่เป็นพิมพ์นิยมในสมัยพระชัยวรมันที่ 7

นางอัปสราสู่ระบำอัปสรา

          “ระบำอัปสรา” เป็นการแสดงที่ถือกำเนิดขึ้นมา โดยเจ้าหญิงบุปผาเทวี พระราชธิดาในเจ้านโรดมสีหนุ เพื่อเข้าฉากภาพยนตร์เกี่ยวกับนครวัดแต่กลายมาเป็นที่จดจำและเป็นระบำขวัญใจชาวพม่า ด้วยเครื่องประดับศีรษะและท่วงท่าร่ายรำ  มีลีลาการร่ายรำอันอ่อนช้อยงดงาม ตรึงตรา ตรึงใจ  อันเป็นเอกลักษณ์ที่ถอดแบบมาจากรูปสลักหินนางอัปสราในปราสาทนครวัด “ระบำอัปสรา” จึงเกิดจากแนวความคิดสร้างสรรค์ของอาจารย์เฉลย ศุขวณิช ผู้เชี่ยวชาญทาด้านนาฏศิลป์ไทย แห่งมหาวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร   ได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้น เพื่อให้สอดคล้องและกลมกลืนกับภาพจำหลักของนางอัปสราอันเป็นสถาปัตยกรรมศิลป์ขอมบายนตอนปลายต่อกับนครวัดตอนต้นที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์และอาจารย์มนตรี ตราโมท  ได้นำเพลงเขมรกล่อมลูกและเขมรชมดงจากของเดิมมาปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยใช้ท่ารำของนางอัปสราที่ถือดอกบัวเพื่อถวายบูชา ณ ศาสนสถานขอม ที่มีลีลาการร่ายรำอันอ่อนช้อยงดงาม  ตรึงตา ตรึงใจ ท่ารำจึงเกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้ประดิษฐ์ท่ารำที่ต้องการถ่ายทอดความงดงามของนางอัปสราจากแผ่นศิลา

 
 

 

 

ภาพที่ 2.  ภาพนางอัปสราบนแผ่นศิลา
ที่มา : https://sites.google.com/site/crmps2017/kar-taeng-kay
 
การแต่งกายของนางอัปสรา

          จากการศึกษาเบื้องต้น “ระบำอัปสรา”ถูกจัดขึ้นให้เป็นระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน ส่วนประกอบสำหรับของเครื่องแต่งกายนางอัปสราประกอบด้วย ชฏา 3 ยอด, เสื้อ และกระโปรง

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 3 เครื่องแต่งกายนางอัปสรา
 
          1. ชฏา 3 ยอด หมายถึง ยอดของปราสาท 3 ยอด ประกอบด้วยดอกไม้ ยอดละ 2 ดอก บริเวณกระบังหน้า จอนหู และหางพวงมาลัยข้างละอัน ส่วนทรงผมจะแสกกลางตรงหน้าแล้วเก็บปลายผมเข้าเหน็บหูไว้ ด้านหลังปล่อยผมยาวประดับด้วยดอกลั่นทมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนางฟ้านำไปทัดหูขวา 1 ดอก ส่วนชฎาด้านซ้ายติดพวงมาลัยอุบะ ถ้าจอนหูของชฎา ไม่ครอบหูล่างให้ใส่ต่างหู ที่มีระย้าห้อยลง เป็นลูกปัดทองและทรงหยดน้ำ

          2. เสื้อ ปรับให้ใส่เสื้อเป็นบอดี้สูทรัดช่วงตัวสีเนื้อหรือสีขาวนวล ประดับด้วยกรองคอผ้ากำมะหยี่สีแดงที่ประดับด้วยเครื่องทองมีระย้าทรงใบไม้ ไม่ใส่จี้นาง แต่กรองคอ ตรงกลางจะทำเป็นรูปทรงจี้นางขนาดเล็กแทน ใส่สังวาล 1 เส้นอ้อมหลัง กลัดตรงกลางด้านหน้าขึ้นติดกับกรองคอ แขนประดับด้วยรัดต้นแขนสลักลายนูนต่ำ (ไม่ใส่กรองแขนที่มีลักษณะที่เป็นสัตว์ในวรรณคดียื่นออกมา เช่น หงษ์ นกยูง นาคราชฯลฯ) กำไลแขน แบ่งเป็น ห่วง 2 วงต่อข้าง ลูกปัด 2 เส้นต่อข้าง มาลัยกร ข้างละพวง หรือ กำไลที่ทำเป็นรูปมาลัยกร

  
 

 

 

 

ภาพที่ 4 ระบำนางอัปสรา 
 

          3. กระโปรง(ซิ่น) จะใช้ผ้ายกสีขาวนวล ยกดิ้นเงินหรือทอง (ตัวเอก) ส่วนตัวอื่นๆ จะไล่สีดังนี้ คู่แรกสีแดง คู่ที่สองสีน้ำเงิน คู่ที่สามสีเขียว วิธีการใส่เหมือนใส่ผ้ายกหน้านางปกติเพียงแต่จับหน้านางเฉลียงไว้ด้านซ้าย(เป็นตัวใน) เหน็บไว้ จับหน้านางกลีบเล็กทับด้านขวาดึงขึ้นให้ระดับผ้าอยู่ที่ตาตุ่มข้อเท้าหรือสูงกว่า   ดึงปลายหน้านางเฉลียงที่อยู่ด้านในออกมาทับหน้านางตัวนอกไปทางขวามือ(ผู้นุ่ง)แล้วพับหน้านางตัวนอกลงมาทับ จัดเรียงให้สวยโดยเฉลียงไปทางขาวมือ(ผู้นุ่ง) รัดเข็มขัดให้แน่นจนเอวขอดเล็กน้อยใช้ดึงปลายหน้านางเฉลียงขึ้นจับไว้แล้วใช้ผ้าคาดเอวกำมะหยี่สีแดงประดับเครื่องทองลายเข้ากันกับกรองคอมีระย้ารูปใบไม่เช่นกัน กลัดให้แน่นเพื่อให้เห็นเอวขอดชัดเจนสวยงามแล้วนำหน้านางเลียงพับอ้อมมาลงฝั่งซ้ายมือ(ผู้นุ่ง) กลัดเข็มกลัดเพื่อความเรียบร้อยทุกส่วนเก็บรายละเอียดความสวยงามให้เรียบร้อยและสวมใส่กำไลข้อเท้าข้างละ 2 คู่

ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง

          ระบำอัปสรา นิยมแสดงในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2481 โดยความคิดของท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณ จากวัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ โดยท่านเจ้าคุณเล็งเห็นความสำคัญประเพณีขึ้นเขาเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญพบปะสังสรรค์กัน จึงเริ่มให้จัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน 5 ปี พ.ศ.2485 และปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งจะเกิดปรากฏการณ์สำคัญเป็นวันที่เราจะมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงตามกรอบประตูต่างๆกว่า 10 กรอบ ทะลุผ่านประตูปรางค์ประธานและทะลุออกซุ้มประตูหน้า ความยาว 88 เมตรมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกรอบประตูพอดี   

 

 

 

 

 

ภาพที่ 5 ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
ที่มา : https://www.imgrumweb.com/post/BWrqojoh3sV
 
  
 

 

 

 

 

ภาพที่ 6 ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
ที่มา : https://www.imgrumweb.com/post/BWrqojoh3sV
 
           การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบเรื่องราวของอารยธรรมขอมโบราณที่เข้ามามีอิทธิพลกับประเทศไทยมาอย่างช้านาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ประเพณี และมรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติไทย การแสดงระบำอัปสราเป็นหนึ่งในการแสดงสำคัญที่ถ่ายทอดความงดงามของนางอัปสราจากแผ่นศิลาที่ปรากฏอยู่ตามโบราณสถานขอมต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ท่ารำอันอ่อนช้อย วิจิตรบรรจง ที่ดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป อยากที่จะร่วมอนุรักษ์สืบสานการแสดงนี้ให้คงอยู่คู่เป็นมรดกของชนชาติไทย

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

วงศกร รัตนมาลา.[ออนไลน์]. “ระบำอัปสรา” .[สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562] https://sites.google.com/site/crmps2017/home/tha-ra