เยาวราช : ถิ่นย่านการค้าชุมชนชาวจีน

          ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “ชนชาติจีน” กลุ่มคนสำคัญที่มีบทบาทในสังคมไทย ขึ้นชื่อในเรื่องการค้าขายได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาได้นำวัฒนธรรม รูปแบบการใช้ชีวิต การกิน และเทศกาลต่างๆเข้ามาในดินแดนประเทศไทย

ประวัติย่านไชน่าทาวน์เยาวราช

 

 

 

 

 

ภาพที่ ๑ ไชน่าทาวน์เยาวราช
ที่มา: http://www.bangkok.com/chinatown/
 

          หากกล่าวถึง “เยาวราช” ทุกเพศทุกวัยคงไม่มีใครจะไม่รู้จัก ดินแดนแห่งนี้ที่ได้ชื่อว่า แดนของกิน  ซึ่งเป็นสถานที่หลงใหลของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่ชื่นชอบของอร่อย หากมองลึกลงไปถึง    ประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้จะพบว่า ชุมชนชาวจีนแห่งนี้มีมายาวนานเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ต่อเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร  ในปี  พ.ศ.2325 และมีพระราชดำริจะสร้างพระบรมมหาราชวัง พระองค์ทรงเลือกทำเลบริเวณวัดโพธารามและวัดสลัก ซึ่งพระยาราชาเศรษฐี และบรรดาชาวจีนอยู่อาศัยทำมาหากินอยู่ จึงโปรดเกล้าฯให้เวนคืนที่ดินบริเวณนั้นและพระราชทานที่ดินซึ่งเป็นที่สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างลงไป คือบริเวณวัดสามปลื้ม    (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ลงไปจนถึงวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคา) ให้แก่กลุ่มชาวจีน

       

 

 

 

 

ภาพที่ 2 ไชน่าทาวน์เยาวราช
ที่มา: https://www.soimilk.com/neighborhood/news/yaowarat-chinatown-photographs
 

          ชุมชนบริเวณ “สามเพ็ง” หรือ “สำเพ็ง” กลายเป็นชุมชนชาวจีนที่มีประวัติศาสตร์เติบโตมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  คนจีนทยอยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยอยู่ต่อเนื่องจนเริ่มมีการขยายตัวและมีประชากรหนาแน่นขึ้น ทางทิศเหนือกลุ่มคนจีนได้ขยายชุมชนข้ามคลองวัดสามปลื้มขึ้นมาคลองรอบกรุง ทางทิศใต้ได้ข้ามคลองวัดสำเพ็งลงไปถึงบริเวณที่ดินพระราชทานของเชียงลือ ทางตะวันออก ขยายจากริมแม่น้ำไปตามแนวคลองวัดสามปลื้ม คลองโรงกระทะ และคลองวัดสำเพ็ง ซึ่งทำให้ชุมชนจีนจากถนนหรือตรอกสำเพ็งขยายตัวจนก่อให้เกิดย่านการค้าขึ้นในแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้อย ตลาดวัดเกาะ ตลาดสำเพ็ง ตลาดเก่า ตลาดสะพานหัน

          ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯให้ตัดออกใหม่เพื่อให้เส้นทางการคมนาคมขยายกว้าง สะดวกแก่การสัญจรไปมา ถนนใหม่ได้แก่ ถนนทรงวาด ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนอนุวงศ์ และถนนพาดสาย และรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ขยายบริเวณชุมชนชาวจีนและเพิ่มทางสัญจรด้วยการตัดถนนแทรกกลางระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนสำเพ็ง เมื่อแล้วเสร็จจึงพระราชทานชื่อถนนแห่งนี้ว่า “ถนนเยาวราช” แปลว่า พระราชาผู้ทรงพระเยาว์ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงเจริญพระชนมายุเพียง 15 พรรษา เมื่อถนนตัดผ่านไปทำให้เยาวราชทวีความสำคัญในฐานะเป็นย่านการค้า เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบของสถานบันเทิงโรงแรม โรงระบำ บ่อนการพนัน โรงยาฝิ่น โรงงิ้ว แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการค้า ประเภทของสินค้า หรือเจ้าของกิจการ แต่เยาวราชก็ยังคงมีความเป็นแหล่งการค้า และแหล่งบันเทิงที่มีความเฉพาะตัว  ทั้งร้านทอง ร้านอาหารและร้านค้า

          การเติบโตทางเศรษฐกิจในย่านเยาวราชนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรมทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับความเจริญดังกล่าว ซึ่งทางการเห็นความสำคัญจึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อรักษาขนมธรรมเนียม เทศกาลสำคัญต่างๆของจีนไว้โดยเทศกาลที่จัดขึ้นในย่านเยาวราช จะมี 4 กลุ่มที่เป็นผู้จัดงานเป็นประจำ แต่ละชุมชนก็จะไม่จัดทุกเทศกาล ยกเว้นงานที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์หรือหน่วยงานราชการเป็นผู้จัด “เทศกาลตามประเพณีจีน” ในย่านเยาวราช ได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลบ๊ะจ่าง เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลกินเจ เป็นต้น

 

 

 

 

ภาพที่ 3 เทศกาลตรุษจีน
ที่มา : http://www.techa.or.th/navatecha/เทศกาลตรุษจีน-春節
 

          เทศกาลตรุษจีน เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการเปลี่ยนศักราชใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของจีนอยู่ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีกิจกรรมที่สำคัญ 3 วัน ได้แก่

          วันจ่าย เปรียบเหมือนวันสุกดิบของเทศกาล เป็นวันที่ชาวจีนจะเตรียมของและอาหารสำหรับเซ่นไหว้เทพเจ้า บรรพบุรุษ และผีไม่มีญาติ ก่อนหน้าวันจ่ายยังเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้าน หิ้งบูชา เพื่อเตรียมรับปีใหม่ รวมทั้งมีวันที่ทำพิธีส่งเทพเจ้าที่หรือเต้าเตากลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์ตามความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าที่เหล่านี้จะกลับไปรายงานความประพฤติหรือความเป็นไปของบรรดาสมาชิกครอบครัวที่ตนคุ้มครองดูแลอยู่

          วันไหว้หรือวันส่งท้ายปีเก่า เป็นวันที่ชาวจีนจะประกอบพิธีกรรมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพชน  เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าจะไหว้เจ้าที่ในบ้านคนไทยเชื้อสายจีนจะมีการตั้งอาหารคาวหวานเพื่อบูชาพระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆด้วย ช่วงกลางวันหรือก่อนเที่ยงจะตั้งโต๊ะเพื่อไหว้บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และช่วงบ่ายจะตั้งเครื่องเซ่นไหว้ที่พื้นเพื่อไหว้ผีไม่มีญาติ การเซ่นไหว้ในตอนบ่ายจึงมีนัยความผูกพันของจีนอพยพโดยเรียกดวงวิญญาณที่รับเครื่องเซ่นไหว้ว่า “เจ๊กแปะ”(ลุงและอา) หรือ “เฮียตี๊” (พี่น้อง)

          วันที่สามได้แก่ วันถือ วันเที่ยว หรือวันชิวอิก คือวันเริ่มต้นปีใหม่เป็นวันที่ชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้อาวุโส หรือผู้ที่ตนเคารพรัก จะมีการแลกเปลี่ยนส้มกัน ผู้ไปเยี่ยมเยียนจำนำส้มไปมอบให้กับเจ้าบ้านเป็นการอวยพรให้โชคดีตามคำเรียกส้มในภาษาจีน

          ซึ่งเทศกาลตรุษจีนในเยาวราชเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว โดยการดูแลควบคุมสำนักเขตสัมพันธ์วงศ์ และหน่วยงานราชการอื่นๆร่วมกันจัดด้วย จะใช้พื้นที่จัดงานดังกล่าวคือบริเวณซุ้มประตูเฉลิม     พระเกียรติ 6 รอบ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวในย่านเยาวราชและยังเป็นตราสินค้าของพื้นที่เยาวราช

 

 

 

 

 

ภาพที่ 4 เทศกาลไหว้พระจันทร์
ที่มา : https://www.modernpublishing.co.th
 

          เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญในย่านเยาวราช ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกเทศกาลนี้ว่า “ตงชิวโจ่ย” แปลตามรูปศัพท์ได้ว่าเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง จัดขึ้นในคืนวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ของจีน พิธีกรรมพิเศษคือ ในช่วงค่ำจะมีการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์กลางแจ้ง

          เครื่องสักการะในการไหว้พระจันทร์ประกอบด้วยอาหารเสสดหรือแห้ง 5 อย่าง ธัญญาหาร เช่น   ถั่วชนิดต่างๆ งา ข้าว ลูกเดือย เครื่องสำอางรวมถึงสบู่ แป้งฝุ่น ยาสีฟัน ผ้าขนหนู ผ้าตัดชุด ผลไม้พิเศษ ได้แก่ ส้มโอ หัวเผือก ต้นอ้อยหนึ่งคู่ทำเป็นซุ้มหน้าโต๊ะไหว้ กระดาษไหว้พระเจ้าที่ประดิษฐ์อย่างสวยงาม เช่น  ม่านกระดาษทอง ตำหนักเจ้าแม่กวนอิม กระดาษเงินทองลายโป๊ยเซียน โคมกระดาษทอง ชุดถวายเจ้าแม่หรือพระโพธิสัตว์ และที่สำคัญคือขนมไหว้พระจันทร์หรือขนมเปี๊ยะแบบต่างๆ เทศกาลการไหว้พระจันทร์มีความเชื่อเชื่อมโยงกับตำนานพื้นบ้านเทพกระต่ายกับนางฉางเอ๋อที่เป็นเทพีอยู่บนดวงจันทร์ บางมีความเชื่อว่าเป็น                การไหว้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิม ตลอดจนชาวบ้านจะไหว้ขอบคุณและขอพรจากพระจันทร์ที่มีอิทธิพลต่อฤดูกาลต่างๆ ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายจีนยังคงมีการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ในช่วงค่ำคืนตามบ้านเรือนอยู่แม้จะลดน้อยลงมากกว่าในอดีต แต่บางแห่งจัดงานไหว้พระจันทร์ในระดับชุมชนและบางแห่งมีหน่วยงานรัฐสนับสนุนการจัดงาน เช่น ตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ชุมชนจีนโบราณบ้านซากแง้ว จังหวัดชลบุรีและอื่นๆ

อัตลักษณ์อาหารในย่านไชน่าทาวน์เยาวราช

          ย่านไชน่าทาวน์เยาวราชได้เติบโตกลายเป็นสถานที่เศรษฐกิจสำคัญในด้านค้าขายโดยใช้อาหารเป็น    อัตลักษณ์สำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอัตลักษณ์ ด้านอาหารของย่านเยาวราชเสนอผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ คือเป็นแหล่งรวมอาหารเลิศรสโดยเฉพาะอาหารจีน เป็นอัตลักษณ์ที่คนในพื้นที่เป็นผู้ประกอบสร้างมาตั้งแต่อดีต  แม้ปัจจุบันร้านค้าต่างๆเปลี่ยนแปลงไปเป็นร้านของคนนอกเข้ามาประกอบกิจการมากขึ้น ร้านอาหารใหม่อย่าง “Street food” ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น  ลูกชิ้นเยาวราช เกาลัดเยาวราช เป็นต้น

          ร้านอาหารในเยาวราชถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล จากเพจแนะนำร้านอาหารชื่อดังอย่าง “วงใน” ที่มีผู้ชื่นชอบของกินตั้งกระทู้ไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือกระทู้ที่ชื่อว่า “คัมภีร์เยาวราช 60 ร้านเด็ดต้องแวะ” ซึ่งรวมรวบร้านอาหารในเยาวราชไว้มากมาย ที่มีรสชาติ อร่อย สะอาดและถูกหลักอนามัย

          ร้านแรกที่ปรากฏในบทความคือ ร้านฮั่วเซ่งฮง เจริญกรุง 14 ตั้งอยู่ ซอยเจริญกรุง 14, สัมพันธวงศ์,กรุงเทพมหานคร ร้านตั้งอยู่ข้างห้างทองเลียมเซ่งเฮง เมนูอหารส่วนใหญ่เอาใจคอคนไทยเชื้อสายจีน ได้แก่ ขนมจีบกุ้ง ซาลาเปา เป็ดปักกิ่ง หูฉลามน้ำแดง เปิดทุกวันตั้งแต่ 09.00-20.30 น.

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 5 ร้าน ฮั่วเซ่งฮง เจริญกรุง 14
ที่มา : https://www.wongnai.com/listings/yao-wa-rad

          ร้านที่ 2 ก๋วยจั๊บ อ้วนโภชนา ร้านตั้งอยู่ถนนเยาวราช หน้าโรงหนังไชน่าทาวน์รามา ร้านก๋วยจั๊บแห่งนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ก๋วยจั๊บหน้าโรงหนัง” ที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความอร่อยของน้ำซุปและครบเครื่องด้วย กระเพาะ หมูกรอบ ไข่ และไม่มีกลิ่น ร้านก๋วยจั๊บ อ้วนโภชนา เปิดให้บริการทุกวัน 18.00 น.

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 6 ร้าน ก๋วยจั๊บ อ้วนโภชนา
ที่มา : https://www.wongnai.com/listings/yao-wa-rad

          ร้านที่ 3 เชี้ยเหล่ายี่ห้อ หรือร้านข้าวหมูแดงแปลงนาม ตั้งอยู่ บนถนนแปลงนาม เยาวราช,  สัมพันธวงศ์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องหมูแดงชิ้นโต เนื้อนุ่ม ไม่แห้งพร้อมกับน้ำซุปร้อนๆเป็นเกี๊ยวกุ้ง ร้ายเชี้ยเหล่ายี่ห้อเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 7.30-14.00 น.

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 7 ร้านเชี้ยเหล่ายี่ห้อ
ที่มา : https://www.wongnai.com/listings/yao-wa-rad

          ตบท้ายด้วยของหวานที่ขายยามค่ำคืนที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้สองร้านที่โด่งดังในย่านเยาวราชคือ ร้าน Sweettime เยาวราช ร้านของหวานที่ขึ้นชื่อเรื่อง สาคูแคนตาลูป เสิร์ฟมาแบบสดใหม่ รสชาติอร่อย หอมกลิ่นใบเตย เอาใจคนรักขนมหวาน ร้าน Sweettime เยาวราชตั้งอยู่ที่ ถนนเยาวราชตรงข้ามโรงแรม Royal Bangkok ติดกับร้านขายทุเรียน ร้านเปิด อังคาร-อาทิตย์ เวลา 18.00-02.00 น.

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 8 ร้าน Sweettime เยาวราช
ที่มา : https://www.wongnai.com/listings/yao-wa-rad

          ร้านลอดช่องสิงคโปร์ เจ้าแรก แยกหมอมี สามแยกเจริญกรุง ร้านของหวานที่เจ้าของการันตีด้วยอายุของร้านที่เปิดมานานกว่า 60 ปี ลอดช่องที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังนวดจนเหนียว ชอบที่รสชาติหอมๆหวานๆราดด้วยกะทิสด ตั้งอยู่ที่ ซอยเจริญกรุง (เลยแยกหมอมี 50 เมตร ร้านอยู่ขวามือตรงข้ามธนาคารยูโอบี) ร้านเปิด จันทร์-พุธ และ ศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.30-21.30 น.

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 8 ร้านลอดช่องสิงคโปร์ แยกหมอมี
ที่มา : https://www.wongnai.com/listings/yao-wa-rad

          เยาวราชคือแหล่งการค้าย่านชุมชนชาวจีนมีบทบาทสำคัญในประเทศไทยมาอย่างช้านาน ท่ามกลางความเจริญที่เข้ามาทำให้คนในพื้นที่แห่งนี้ต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับความเจริญดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่ชุมชนเยาวราชยังรักษาไว้ได้ดีคือวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ที่ได้รับการสืบทอด รวมไปถึงมรดกการค้าขายของคนในพื้นที่ ถึงแม้จะมีร้านค้าเกิดใหม่มากมาย แต่ชาวบ้านยังคงความเป็นพื้นที่แห่งการค้าขาย โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ในโลกออนไลน์เพื่อสร้างรายได้ต่างๆเพื่อเข้าสู่คนในพื้นที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัว เยาวราชหรือไชน่าทาวน์จึงเป็นสถานที่สำคัญที่ถือว่าเป็นมรดกทางวิถีชีวิตที่ควรค่าแก่การรักษาไว้

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์. [ออนไลน์].“ ย่านไชน่าทาวน์เยาวราช: พื้นที่การนำเสนออัตลักษณ์เชิงซ้อนของวัฒนธรรม ความเป็นจีนในสังคมไทยร่วมสมัย”.[สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561] จาก   http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50679.

“คัมภีร์เยาวราช 60 ร้านเด็ดต้องแวะ” [ออนไลน์]. [สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561]. จาก https://www.wongnai.com/listings/yao-wa-rad.