“สังขละบุรี” : วิถีชีวิตชาวมอญลุ่มแม่น้ำซองกาเลีย

          ช่วงปลายฝนต้นหนาวกำลังมาถึง เหล่านักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยกำลังวางแพลนในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อไปสัมผัสอากาศที่หนาวเย็น เห็นได้จากโลกออนไลน์จากเพจแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้กดไลค์และให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งได้รับการกล่าวขานในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความน่ารักของชาวบ้านไทย-มอญที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1  อำเภอสังขละบุรี
ที่มา: https://pantip.com/topic/34907371

ประวัติอำเภอสังขละบุรี
          สังขละบุรี หรือนักท่องเที่ยวรู้จักในนาม สังขละ เป็นอำเภอหนึ่งใน 13 อำเภอของจังหวัดกาญจบุรี  ซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศพม่าทางด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย มีพื้นที่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 215 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากอำเภอทองผาภูมิ 74 กิโลเมตร ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่มีเชื้อชาติ แตกต่างทางด้านวัฒนธรรมถึง 3 สัญชาติ ได้แก่ ชนชาติกระเหรี่ยง ชาวไทย และชาวมอญ โดยใช้สะพานไม้อุตตมานุสรณ์ ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยข้ามแม่น้ำซองกาเลียเป็นจุดศูนย์กลางในการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อำเภอสังขละบุรีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสบูรณ์เป็นบริเวณที่มีลำน้ำสามสายมาไหลบรรจบกัน ได้แก่ ห้วยซองกะเลีย ห้วยบี่คลี่ และห้วยรันตี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำแควน้อย และพื้นโดยรอบล้อมรอบด้วยภูเขา ป่าไม้และสัตว์ป่า อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติเขาแหลมที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจบุรี

  
 
 
 
 

 

 
 
ภาพที่ 2 ชาวมอญบนสะพานไม้   
ที่มา: https://pantip.com/topic/34907371

กลุ่มมอญพม่าในสังขละบุรี
          กลุ่มชนชาติมอญ (MON) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการตั้งถิ่นฐานบนที่ราบอพยพมาจากประเทศพม่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย กลุ่มมอญในอำเภอ สังขละบุรี เป็นชุมชนชาวมอญที่อพยพเข้ามาทำงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย หรือชาวกาญจบุรี มักจะเรียกว่า “มอญพม่า” ใช้ภาษาสายโมนิกในการสื่อสารซึ่งเป็นสายหนึ่งในกลุ่มภาษามอญ – เขมร ตระกูลออสโตร-เอเชียติค ที่พบในกลุ่มมอญทางฝั่งตะวันออกติดกับประเทศกัมพูชา กลุ่มชนชาติมอญส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่กลมกลืนและคล้ายคลึงกับคนไทยทั่วไป  คือประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งหาของป่า ลักษณะบ้านเรือน นิยมสร้างบ้านไม้หลังใหญ่ สร้างด้วยไม้ไผ่และคลังหามุงแฝง  ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมไปตามวัฒนธรรมของชุมชนเมือง ต่อมากาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยีและความทันสมัยได้นำความเจริญมาเยี่ยมชุมชนชาวบ้าน  มีการสร้างเขื่อนเขาแหลม ถนนในการสัญจร ได้นำพานักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน ส่งผลให้ปัจจุบันอาชีพของชุมชนชาวมอญสังขละบุรีที่เกิดนอกเหนือจากการดำรงชีพแบบเกษตรกรรมตามเดิม คือการค้าขายของที่ระลึกและธุรกิจที่พักแบบโฮมสเตย์และการรับจ้างขับเรือโดยสารแก่นักท่องเที่ยว ความเจริญที่เข้ามาเยี่ยมชุมชนชาวมอญส่งผลให้วิถีชีวิตเดิมๆของชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนไปแต่ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมอญยังได้รับการสืบทอดรุ่นสู่รุ่นซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น และเป็นสิ่งน่าสนใจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศให้มาเยือนชุมชนชาวมอญ ได้แก่ การชมวิถีชีวิตและการทำบุญตักบาตรบริเวณสะพานมอญ เป็นต้น

มหัศจรรย์สังขละบุรี
          การจัดการท่องเที่ยวในอำเภอสังขละบุรีในปัจจุบันเมื่อมีการท่องเที่ยวขยายตัว เริ่มมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยอาศัยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชนมอญเป็นจุดขายทางการตลาด เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่และรายได้เข้าสู่จังหวัด  โดยเน้นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ปรากฏในอำเภอสังขละบุรี เช่น สะพานมอญ  วัดวังก์วิเวกการาม เจดีย์พุทธคยา เมืองบาดาล และด่านเจดีย์สามองค์

 

 

 

 

     

ภาพที่ 3  สะพานไม้อุตตมานุสรณ์
ที่มา: https://pantip.com/topic/34907371

          “สะพานไม้อุตตมานุสรณ์” สะพานไม้ที่ยาวที่สุดแห่งแรกในประเทศไทยเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในอำเภอสังขละบุรีที่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมควรค่าแก่การมาสัมผัส สะพานแห่งนี้มีความยาว 850 เมตร มีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่อให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ได้เดินทางไปหาสู่กันได้โดยสะดวก และเป็นการเชื่อมระหว่างหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงกับหมู่บ้านชาวมอญเป็นสะพานที่ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย ในช่วงเช้าตรู่จะพบชาวมอญ ผู้ชายชาวมอญจะสวมเกลิดนุ่งผ้าเวลาไปงานสำคัญจะนุ่งผ้าผืนยาวเรียกว่าเกลิดฮะเหลิ่น  นุ่งผ้าแบบลอยชาย  สวมเสื้อคอกลมผ่าอกตลอด  แขนกระบอกมีกระดุมผ้าหรือเชือกผูกเข้ากัน  ผ้านุ่งคล้ายโสร่งจะเป็นสีแดง  ส่วนเสื้อจะเป็นลายตารางพื้นขาวตารางสีแดง  ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงมอญจะสวม  หมิ่น  คล้ายผ้านุ่งของชายแต่ลายผ้าของผู้หญิงจะมีความสวยงามกว่าวิธีการนุ่งต่างกัน  สวมเสื้อตัวในคอกลมแขนกุด  ตัวสั้นแค่เอวเล็กพอดีตัวสีสด  สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอกเป็นผ้าลูกไม้เนื้อบาง  สีอ่อนมองเห็นเสื้อตัวในถ้ายังเป็นสาวโสดแขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ  หากแต่งงานแล้วแขนเสื้อจะเป็นแขนสามส่วน  ผู้หญิงมอญนิยมเกล้าผมมวยค่อนข้างต่ำไปทางด้านหลังโดยมีเครื่องประดับ  2  ชิ้น  คือ  โลหะรูปตัวยูคว่ำแคบๆ  และโลหะรูปปีกกาตามแนวนอน  ภาษามอญเรียก  อะน่ดโซ่ก  แล้วประดับด้วย “แหมะเกวี่ยปาวซ่า”  รอบมวยผม  ในเวลาไปทำบุญที่วัดก็จะมีผ้าสไบเรียกว่า  หยากโก  วิธีห่มผ้าสไบ  คือพาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลังอ้อมใต้รักแร้ขวาแล้วขึ้นไปทับบาไหล่ซ้าย  หากไปงานรื่นเริงหรือเที่ยวเล่นจะใช้คล้องคอแทนผู้ชายสูงอายุมักจะใช้ผ้าขาวม้าแทนผ้าสไบ นอกจากการแต่งกายแล้วสัญลักษณ์ที่เห็นก็จะรู้ทันทีว่าเป็นสาวมอญคือการทูนสิ่งของไว้บนศีรษะ  ส่วนใบหน้าจะทาแป้งที่เรียกว่าทะนาคาอย่างสวยงาม ข้ามฝั่งมาเพื่อรวมทำบุญตักบาตรในยามเช้า

 

 

 

 

 

ภาพที่ 4  การแต่งกายของชาวมอญสังขละบุรี
https://www.posttoday.com/travel/463799#img-1

 

 

 

 

 

ภาพที่ 5  เมืองบาดาล
ที่มา https://th.readme.me/p/7949

           “เมืองบาดาล” สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพของชาวกระเหรี่ยงและขาวมอญจากประวัติศาสตร์กล่าวว่า เมืองบาดาลแห่งนี้คือวัดวังก์วิเวการาม  เดิมที่หลวงพ่อ อุตตมะเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น   ในปี 2496 โดยชาวกระเหรี่ยงและชาวมอญที่อพยพเข้ามาช่วยกันก่อสร้างในบริเวณดังกล่าวเรียกว่า “สามประสบ”ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี และแม่น้ำรันตีไหลผ่าน

          ต่อมาปี 2527 มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลมทำให้น้ำท่วมวัดนี้ “หลวงพ่ออุตตมะ” จึงได้ย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขาส่วนวัดเดิมได้ขมอยู่ใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน น้ำจึงจะลดทำให้สามารถมองเห็นโบสถ์ของวัดได้อย่างชัดเจนและนักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปเที่ยวชมได้ แต่ในช่วงน้ำขึ้นน้ำจะท่วมสูงเกือบทั้งหมด เหลือเพียงยอดโบสถ์ให้เห็นเท่านั้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรี ในชื่อเมืองบาดาล หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า วัดใต้น้ำ สังขละบุรี

          การเดินทางมาท่องเที่ยวยังอำเภอสังขละบุรีสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว  โดยใช้เส้นทางจากตัวเมืองกาญจบุรีมาถึงอำเภอทองผาภูมิ และใช้เส้นทางหลวง 323 ใช้ระยะทาง 70 กิโลเมตร ไปยังอำเภอสังขละบุรี และนักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถขนส่งสาธารณะได้แก่ รถตู้ รถทัวร์ และรถไฟ นั่งมาลงที่อำเภอเมืองกาญจบุรีและนั่งรถต่อไปยังอำเภอสังขละบุรี

          กาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้ชีวิตดั้งเดิมของชาวมอญลุ่มแม่น้ำซองกาเลียที่อุดมไปด้วยอารยธรรมมอญ ต้องการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมเมือง การเรียนรู้ปรับตัวที่จะอยู่กับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่สำคัญยิ่งนัก การรู้จักนำทรัพยากรทางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้สู่คนในครอบครัวและจังหวัด เป็นการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสากลซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การรักษาไว้

เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

อัญชัน ตัณฑเทศ.[ออนไลน์].“การศึกษาสภาพวัฒนธรรมมอญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มมอญในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจัดการท่องเที่ยวชุมชนอยาสงยั่งยืน”. [สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561] จาก https://www.tcithaijo.org/index.php/cultural_approach/article/view/102319/79183