ประเทศไทยเรามีวิถีชีวิตเกี่ยวกับสายน้ำมาช้านานการเดินทางในสมัยโบราณสัญจรทางน้ำเป็นหลักรวมถึงการดำเนินชีวิต การค้าขาย แม้กระทั่งใช้ในการสงคราม ทั้งในชนชั้นผู้ปกครองและชาวบ้านสามัญชนคนธรรมดา ย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรือคือยานพาหนะที่สำคัญที่สุด วัสดุที่นำมาทำเป็นเรือส่วนใหญ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นโดยนำต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์มาขุดหรือต่อขึ้นเป็นลำเรือ ต่างกันตรงที่การต่อเรือในราชสำนักจะมีความวิจิตรประณีตสวยงาม โดยมีการแกะสลักตัวลำเรือและโขนหัวเรือเป็นรูปสัตว์ในความเชื่อ เช่น เป็นรูปพญานาค พญาครุฑ และรูปหัวหงส์ เป็นต้น
“เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์” (ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา) ได้มีการจดบันทึกกล่าวถึงเรือเล็ก และเรือยาวในยุคนั้นว่า
“ในเรือยาวลำหนึ่ง ลางทีก็มีฝีพายตั้งแต่ 100 ถึง 120 คน นั่งขัดสมาธิเรียงคู่กันไปบนแผ่นกระดาน พวกฝีพายนั้นร้องเพลง
หรือออกเสียงให้จังหวะเพื่อที่จะพายได้พร้อมๆ กัน แล้วก็จ้วงพายเป็นจังหวะ ด้วยอาการเคลื่อนไหวแขนและไหล่อย่างแข็งขัน
แต่ก็ดูง่ายๆ และสง่างามมาก น้ำหนักตัวของฝีพายนี้ เป็นอับเฉาของเรือไปในตัว และทำให้เรือแล่นอยู่บนผิวน้ำอันเนื่องจาก
ด้ามพายนั้นสั้นมาก และอาการที่เรือบรรทุกฝีพายไว้มาก แล้วจ้วงพายพร้อมๆ กัน ด้วยกำลังแรง ทำให้เรือแล่นฉิวน่าดูนัก”
• รูปที่ 1 | หมายเหตุ ภาพเมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ จากเว็บไซต์ silpa-mag.com/,2567
• รูปที่ 2 | หมายเหตุ ภาพกระบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค จากภาพเขียนของชาวต่างชาติในสมัยอยุธยา จากเว็บไซต์ มติชนออนไลน์/,2562
• รูปที่ 3 | หมายเหตุ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1 จากเว็บไซต์ silpa-mag.com,2567
แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะสิ้นสุดการเป็นราชธานีของสยามใน พ.ศ. 2310 แต่มรดกทางวัฒนธรรมก็มิได้เลือนหายไปแต่ยังคงตกทอดมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 1 ในราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงรับสั่งให้ฟื้นฟู พิธีการ ศิลปวัฒนธรรมและแบบแผนในราชสำนักต่างๆ อย่างเมื่อครั้งกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา) หนึ่งในนั้นคือกระบวนเรือพระราชพิธีเพื่อใช้ในการเสด็จเรียบพระนครจัดเป็นส่วนหนึ่ง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการเสด็จถวายผ้าพระกฐิน ในรัชสมัยของพระองค์
โดยมีเรือพระที่นั่งปรากฏชื่อ ดังนี้ 1) เรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ์
2) เรือพระที่นั่งสวัสดิชิงชัย
3) เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาล
4) เรือพระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์
5) เรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรี
6) เรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ
7) เรือพระที่นั่งมณี-จักรพรรดิ
8) เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย ซึ่งโปรดให้สร้างใหม่กับเรือกระบวนอื่นๆ
รูปที่ 4 | ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จากเว็บไซต์ Bank of Thailand
ซึ่งผ่านมาหลายรัชกาลได้มีการซ่อมแซ่ม จัดสร้าง และเปลี่ยนชื่อเรือพระที่นั่งหลายครั้ง จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.10) พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันของประเทศไทย คราวพระองค์ทรงเสวยราชสมบัติ นอกจากจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคแล้ว ยังมีพระราชพิธีที่สำคัญสืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่านั่นก็คือ ราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (เสด็จโดยทางน้ำ) เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่ไม่เห็นได้บ่อยนัก ซึ่งในรัชกาลพระองค์ปัจจุบัน มีเรือพระราชพิธีที่สำคัญดังนี้
• เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ •
รูปที่ 5 | หมายเหตุ ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จาก www.sattahipport.navy.mi.th,2563
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454
โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2091
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ สมัยรัชกาลที่ 1 ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ และรัชกาลที่ 3 ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์
เป็นเรือที่ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็น เรือมรดกโลกจากองค์กรที่เรียกว่า World Ship Trust เมื่อพุทธศักราช 2535
• เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 •
รูปที่ 6 | หมายเหตุ ภาพเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จากเว็บไซต์ kapook.com,2559
นารายณ์ทรงสุบรรณมีความหมายเดียวกันกับพระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุส่วนสุบรรณก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ
ส่วนที่เติมสร้อยว่ารัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่าเรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
เรือนารายณ์ทรงสุบรรณสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2539 ดำเนินการโดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร
• เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช •
รูปที่ 7 | หมายเหตุ ภาพเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จากเว็บไซต์ สยามรัฐ,2567
ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ 3 คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา)
ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394)
แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2394 – 2411) ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันต-นาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พุทธศักราช 2453 – 2468) และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2457
• เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ •
รูปที่ 8 | หมายเหตุ ภาพเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จากเว็บไซต์ www.th-hellomagazine.com,2562
ชื่อเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก
คำภาษาสันสกฤตคือ ภุชงฺคะ มีความหมายเดียวกันกับ นาคะ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 (พุทธศักราช 2411 – 2453)
นี่คือความภาคภูมิใจของชาติที่แสดงถึงอารยธรรม และแสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติไทย เรือพระราชพิธีไม่ใช่เป็นแต่เรือไม้โบราณ และไม่ใช่เป็นเพียงแค่ขบวนเรือที่นำมาพายเพื่อให้เกิดความสวยงามเท่านั้น หากเปี่ยมไปด้วยเหตุและผลในการจัดขบวนเรือเหล่านี้ ดังเช่น ใช้เพื่อการรบในอดีตในยามว่างเว้นจากการศึก จะเตรียมความพร้อมของไพร่พลโดยอาศัยฤดูกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินยังอารามหลวงที่อยู่ริมแม่น้ำ พวกเราชนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสได้เห็นความงดงามอลังการของเรือเหล่านี้เลย หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มิได้ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูโบราณราชประเพณีเหล่านี้ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2501 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในฤดูกฐิน นับเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและประเพณีไทยให้ยืนยงอยู่คู่ชาติไทยตราบนานเท่านาน ดังพระราชดำรัสบางตอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 “โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวรเป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล”
ผู้รวบรวม/เรียบเรียงข้อมูล : ณกรณ์ ไตรบำรุง
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง
อ้างอิง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี. (2557-2558). เรือพระราชพิธี. http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges/index.php/th/
กองทัพเรือ Royal Thai Navy. (2559, 6 มิถุนายน). ขบวนเรือพระราชพิธี ๒๕๖๒. https://www.navy.mi.th/322f66ca246898ecbd21c2323e71bea8
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2558). เรือพระราชพิธี (พิมพ์ครั้งที่ 5). บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(๑๙๗๗) จำกัด