“กาแฟ” วัฒนธรรมแห่งความรุ่มรวย

          การดื่มกาแฟเป็นสิ่งที่หลายคนใบปัจจุบันลุ่มหลง  ด้วยความนิยมอย่างสูงทำให้เกิดมีร้านขายกาแฟอยู่แทบทุกแห่งหน  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกาแฟกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  กว่ากาแฟจะมีอิทธิพลกับคนไทยเช่นนี้  มีเส้นทางการเติบโตอย่างไร  เริ่มเข้ามาในแผ่นดินไทยตั้งแต่เมื่อใด  แล้ววัฒนธรรมการดื่มกาแฟมีความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคมไทยอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้

          เดิมคนไทยเรียกกาแฟว่า ข้าวแฝ่ และเพี้ยนมาเป็น  กาแฝ่  และ กาแฟ ในปัจจุบัน  กาแฟเริ่มเข้ามาสู่แผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  แต่เดิมคนไทยไม่นิยมดื่มกาแฟเพราะมีรสขมและคิดว่าเป็นยามากกว่าจะเป็นเครื่องดื่ม  ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์  ช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมาก  และมีการปลูกกาแฟกันอย่างแพร่หลาย  มีการทดลองปลูกกันในพระบรมหาราชวังและได้แจกจ่ายให้กับเสนาบดีไปปลูกกัน  และเริ่มปลูกกันมากขึ้นเมื่อนายดีหมุน  ชาวไทยเชื่อสายอิสลามได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟโรบัสต้ามาจากอินโดนีเซียเข้ามาปลูกที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา  ในช่วงปี พ.ศ. 2447  หลังจากนั้น  นายเจรินี ชาวอิตาลี  ก็ได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบีกาเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ. 2493

          วัฒนธรรมการดื่มกาแฟนั้น  ในอดีตการดื่มกาแฟถือเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชนชั้นสูง  และได้แพร่ขยายมาสู่ชนชั้นกลางและประชาชนทั่วไปในเวลาต่อมา  ร้านกาแฟในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพ  โดยชาวอเมริกันชื่อ Miss Edna S. Cole ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวังหลัง  หรือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน  โดยร้านตั้งอยู่บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี (บริเวณสี่แยกจุดตัดระหว่างถนนเจริญกรุง  ถนนเฟื่องนคร  และถนนบ้านหม้อ)  ชื่อร้าน “Red Cross Tea Room” ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 (สมัยรัชกาลที่ 6)  ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อหาเงินให้สภากาชาดช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร  ส่วนร้านกาแฟแห่งแรกที่ก่อตั้งโดยคนไทย  คือร้าน “คาเฟ เดอ นรสิงห์” โดย  พลเอก  พลเรือเอก  มหาเสวกเอก  เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ  พึ่งบุญ)  ท่านมีความต้องการจะเปิดร้านกาแฟแบบชาวตะวันตก  หรือที่เรียกว่า คาเฟ่  จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6  โดยตั้งร้านอยู่ในบริเวณบ้านนรสิงค์  ภายในรั้วของสนามเสือป่า  ซึ่งบ้านนรสิงห์ในปัจจุบันคือที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาลนั่นเอง  ร้านกาแฟแห่งนี้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ที่ได้รับความนิยมของเหล่าพ่อค้า  ชาวต่างชาติ  และผู้รับราชการเสือป่ารักษาพระองค์  ร้านกาแฟนรสิงห์ได้ปิดตัวลงในยุคของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ในปัจจุบันได้กลับมาเปิดอีกครั้งโดยย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ที่ห้องรอเฝ้า หน้าพระตำหนักพิมานจักรี ภายในดุสิตธานี  วังพญาไท  โดยใช้ชื่อว่า ร้านกาแฟ เดอ นรสิงห์ ณ วังพญาไท

 

 

 

 

 

ภาพ “ร้านกาแฟ เดอ นรสิงห์ ณ วังพญาไท” ที่มา http://eatandtraveldiary.com/กาแฟนรสิงห์

สภากาแฟ  คาเฟ่  และสตาร์บัคส์

          สภากาแฟ  ร้านกาแฟแบบชาวบ้านที่เกิดขึ้นตามชุมชนย่านตลาดเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและเป็นที่นิยมของคนในภาคใต้ของประเทศไทย  เป็นแหล่งพบปะกันของคนในชุมชน  การมานั่งดื่มกาแฟ  นั่งอ่านหนังสือพิมพ์  วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมือง  จึงทำให้ร้านกาแฟเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ขายกาแฟ  แต่เป็นที่ๆ คนมารวมกันเพื่อเข้าสังคม  พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน  กลายเป็นวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น  การมาพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในร้านกาแฟนี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย  ในต่างประเทศมีการรวมตัวลักษณะนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 คนในยุคสมัยนั้นถือว่าร้านกาแฟเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยใหม่  โดยในประเทศอังกฤษมีคำเรียกขานร้านกาแฟว่า “มหาวิทยาลัยเพนนี” (Penny Universities)  คือถ้ามีเงินเพนนีซื้อกาแฟก็จะได้ความรู้กลับไปมากมายเหมือนได้เรียนในมหาวิทยาลัย  หรือ ร้าน Llyod  ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอนซึ่งมักจะมีพ่อค้า  เจ้าของเรือ  นายธนาคาร  นายหน้าซื้อขายสินค้า  แวะเวียนมาเสมอ  เจ้าของร้าน Edward Lloyd จึงทำหน้าที่คอยให้ข่าวการเดินเรือ  คอยช่วยเหลือเรื่องสัญญาประกันภัย  จนสุดท้ายได้ก่อตั้งบริษัทประกันภัยทางทะเลขึ้น  หรือแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศส ร้าน Cafe Le Procope ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ใกล้โรงละคร Comedie-Francaise  ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นนักแสดง  นักเขียน  นักปรัชญา   คนในแวดวงศิลปะ  และนักคิดมากมาย จึงเห็นได้ว่าวัฒนธรรมการดื่มกาแฟจึงไม่ได้เป็นเพียงการดื่มกาแฟ  หากเป็นแหล่งรวมผู้คนที่มีความสนใจสิ่งต่างๆ ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ จากการถกเถียงประเด็นต่างๆ ร่วมกัน

Circa 1740, A London coffee house. (Photo by Hulton Archive/Getty Images)

 

 

 

 

 

 

ภาพ “London coffee house” ที่มา https://thonyc.wordpress.com/2015/09/29/the-penny-universities/

 

 

 

 

 

 

ภาพ “ร้านกาแฟเอี๊ยะแซ” ร้านกาแฟดั้งเดิมในเยาวราช  ที่มา https://masii.co.th/blog/5-ร้านกาแฟโบราณ

 

 

 

 

ภาพบรรยากาศร้านสตาร์บัคส์  ที่มา https://www.tnews.co.th/headshot/317930/คนไทยจ่ายได้สบายมาก-สุดอึ้ง!!-สตาร์บัคไทย-ติดอันดับราคาแพงที่สุดในโลก!!-อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกสถานะรสนิยมทางสังคมหรือไม่-%28รายละเอียด%29

          ในปัจจุบันยุคที่ร้านกาแฟยังคงเฟื่องฟูเช่นในอดีตและเพิ่มขึ้นอย่างทบทวีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  ความนิยมในการดื่มกาแฟยังคงปรากฏอยู่ในชนทุกระดับชั้น  การนั่งดื่มกาแฟในร้านกาแฟยังคงเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยใหม่เช่นเดียวกับในสมัยศตวรรษที่ 16 หากแต่ร้านกาแฟในปัจจุบันมิได้เป็นแหล่งพบปะของคนในการแลกเปลี่ยนหรือถกเถียงทางปัญญาเช่นในอดีต  การนั่งดื่มกาแฟในร้านที่มีการตกแต่งสวยงามเป็นร้านที่มีแบรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นการแสดงความเป็นตัวตนของชนยุคใหม่  หรือแม้แต่การนั่งทำงานในร้านกาแฟ  การถ่ายภาพในมุมสวยๆ ของร้านกาแฟ  เป็น lifestyle ของการใช้ชีวิตอย่างอิสระซึ่งเป็นสิ่งที่หนุ่มสาวยุคใหม่ต้องการ  ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น  วัฒนธรรมนี้ปรากฏในชุมชนเมืองทั่วโลก การดื่มกาแฟจึงเป็นวัฒนธรรมที่มีการวิวัฒน์ไปตามยุคสมัย  ผันแปรไปตามสภาพและบริบทของสังคม  จึงอาจกล่าวได้ว่า  หากจะศึกษาวัฒนธรรมในยุคสมัยใดสามารถศึกษาได้จากวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของยุคนั้นนั่นเอง

 เรียบเรียงโดย  นางสาวจินตนา  ปรัสพันธ์  ฝ่ายอุทยานการศึกษา  สำนักการศึกษาต่อเนื่อง  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. กาแฟในประเทศไทย. [สืบค้นวันที่  23 มีนาคม 2563]. จาก http://www.arda.or.th/kasetinfo/south/coffee/history/01-02.php

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC). [ออนไลน์]. จากวัฒนธรรมนำเข้า สู่แบรนด์สินค้าส่งออก : ว่าด้วยเรื่องของ “กาแฟ” กับ “ชีวิตคนไทย”. [สืบค้นวันที่ 23 มีนาคม 2563]. จาก  http://www.tcdc.or.th/articles/ business-industrial/15144/#จากวัฒนธรรมนำเข้า-สู่แบรนด์สินค้าส่งออก–ว่าด้วยเรื่องของ -กาแฟ-กับ-ชีวิตคนไทย-

วิกิพีเดีย. [ออนไลน์]. สี่กั๊กพระยาศรี. [สืบค้นวันที่ 23 มีนาคม 2563]. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/สี่กั๊กพระยาศรี

Jidapa Leelaseat. [ออนไลน์]. กาแฟนรสิงห์ ร้านกาแฟแห่งแรกของสยาม. [สืบค้นวันที่ 23 มีนาคม  2563]. จาก https://medium.com/@jidapaleelaseat/กาแฟนรสิงห์-ร้านกาแฟแห่งแรกของสยาม-3eda130dfe9c

Seetala Chanvised. [ออนไลน์]. ร้านกาแฟกับการเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนมาแต่ไหนแต่ไร!. [สืบค้นวันที่  24 มีนาคม 2563]. จาก https://thematter.co/brandedcontent/class-cafe-coffee-house-02/75266