ประเพณีสงกรานต์

 

 

 

ภาพที่ 1 การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
ที่มา : (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม,2551น.1)

             ประเพณีสงกรานต์ จัดเป็นประเพณีที่สำคัญของไทยเราที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทรและเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ความสนุกสนาน ความอบอุ่น เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือและเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี และ “น้ำ” ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ดังภาษิตไทลื้อว่า “ดินก่อเกิด น้ำก่อเป็นดินเป็นแหล่งที่ให้พืชพันธุ์เกิดและน้ำทำให้มีชีวิตอยู่ได้ น้ำยังเป็นสัญลักษณ์ของความเย็น ความสดชื่นและความสะอาดจึงเหมาะที่จะใช้เพื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกัน และใช้แสดงถึงความสะอาดผ่องแผ้วของกายและใจที่จะเริ่มชีวิตใหม่ในโอกาสขึ้นปีใหม่ และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วย

ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคู่กับประเพณีตรุษ หรือที่เรียกรวมๆ ว่าประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้วันที่ ๓๑ ธันวาคมเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ.2483 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

          ในสมัยโบราณไทยเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งคนสมัยก่อนจะถือว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกอยู่ราวปลายเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติ และฤดูการผลิตวันปีใหม่ จึงเปลี่ยนแปลงเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือประมาณเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการนับปีใหม่ตามเกณฑ์ จุลศักราช โดยถือเอา“วันมหาสงกรานต์”  (วันที่ 13 เมษายน เรียกว่ามหาสงกรานต์ หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้วคนครบ 12 เดือน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นในปี พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้กำหนดให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติแทน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่  อันเป็นการนับปีใหม่แบบสากล ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 เป็นต้นมาประเทศไทยเราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี รัฐบาลก็ได้กำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าว เป็นระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัวอยู่แล้ว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรักความอบอุ่น ที่จะได้พบกันพร้อมหน้าพร้อมตา และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันในครอบครัว

  

 

 

 

ภาพที่ 2 วันครอบครัว
ที่มา : (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม,2551น.8)

กิจกรรมในวันสงกรานต์

          จะเห็นได้ว่าประเพณีสงกรานต์นอกจากจะเป็นวันปีใหม่ของไทยแล้ว ยังเป็นวันที่มีกิจกรรมที่บ่งบอกถึงความกตัญญู ความโอบอ้อมอารี เอื้ออาทรทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงถึงวิถีชีวิต ความสนุกสนานรื่นเริง ตลอดถึงเรื่องของการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นช่วงที่ลูกหลานได้รำลึกถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้วด้วย จึงมีกิจกรรมทางศาสนาเพื่อให้ใจผ่องแผ้วก่อนการขึ้นปีใหม่ ทำให้มีกิจกรรมที่หลากหลายในวันสงกรานต์

          • ก่อนวันสงกรานต์        
เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และต้อนรับชีวิตใหม่ในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง จึงมีการทำกิจกรรม อาทิ

               -การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ข้าวของในบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ รวมทั้งสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น วัด ศาลา บริเวณชุมชน เป็นต้น

              -การเตรียมจัดหาซื้อเสื้อผ้าที่สวมใส่ไปทำบุญ ซึ่งควรจะใหม่สวยสะอาดหมดจดสวมใส่ไปทำบุญต้อนรับปีใหม่ รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ สำหรับตัวเองและลูกหลาน นอกจากนี้ลูกหลานอาจจะต้องมีการเตรียมผ้าใหม่สำหรับไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำขอพรด้วย

            -การเตรียมอาหารในการไปทำบุญ ทั้งของคาว หวาน ไปร่วมทำบุญกับลูกหลานที่วัดหรือการเตรียมขนมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษและสงกรานต์ นั่นคือข้าวเหนียวแดงสำหรับวันตรุษ และขนมกวนหรือขนมกาละแมสำหรับวันสงกรานต์ เพราะการที่จะทำขนมเหล่านี้ต้องใช้แรงคนมากๆ จึงนิยมทำในวันสงกรานต์
เพราะเป็นวันที่ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา มาช่วยกันทำขนมได้

 

 

 

 

ภาพที่ 3 : ข้าวเหนียวแดงและขนมกาละแม

ที่มา :  https://thaikalamare.wordpress.com/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/

ช่วงวันสงกรานต์

          เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็จะเป็นเวลาที่ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส ทำใจให้สดชื่นเบิกบาน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

          – การทำบุญตักบาตรตอนเช้าหรือนำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

          – การปล่อยนกปล่อยปลา คนไทยมีความเชื่อว่าการปล่อยนกปล่อยปลา ถือว่าเป็นการล้างบาปบางส่วนที่ตนเป็นผู้ก่อ อีกทั้งทำให้เคราะห์ร้ายที่จะเกิดขึ้นหมดไป 

          – การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ อาทิทำบุญอัฐิ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

          – การสรงน้ำพระทั้งพระภิกษุสงฆ์และสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา

           – การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่/ผู้บังคับบัญชา/ครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ “การรดน้ำผู้ใหญ่”ควรจะรดเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้หรือบางพื้นที่ก็จะเป็นการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่แล้วอาบน้ำให้ท่านไปเลย (กรณีนี้จะทำในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นญาติ เช่น ปู่ – ย่า – ตา – ยาย) หรือบางท้องถิ่นเช่นภาคใต้ เรียกว่าประเพณีอาบน้ำคนแก่ (เป็นการตักน้ำมารดอาบให้คนแก่จนเปียกโชกทั้งตัว) ดังนั้นจึงควรจัดเตรียมผ้านุ่งห่ม
ผืนใหม่ไปมอบให้ท่านด้วย

– การเล่นรดน้ำสงกรานต์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ความสามัคคี ของพี่น้อง เพื่อนฝูงและมิตรสร้างความสนุกสนานด้วยการรดน้ำ

– การก่อเจดีย์ทราย จะทำวันใดวันหนึ่งก็ได้ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือการถมพื้นต่อไป ถือเป็นกุศโลบายอีกลักษณะหนึ่ง ที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน

– การละเล่นรื่นเริงหรือมหรสพต่างๆ เป็นการเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนานรวมทั้งยังเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไปเช่น ลิเก ลำตัด หมอลำ หนังตะลุง เพลงฉ่อย

          ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในวันสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่น มีค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการจัดกิจกรรมจึงเป็นไปด้วยความเหมาะสมและอาจเปลี่ยนแปลงได้บ้างตามสถานการณ์ รวมถึงการรับการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม และสิ่งใหม่ๆ ที่แทรกซึมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง

 

 

 

 

ภาพที่ 4 : การแสดงลำตัด    
ที่มา : (การละเล่นการแสดงและกีฬาของชาวไทย,[ออนไลน์])                                            

 

 

 

 

ภาพที่ 5 : การเล่นน้ำสงกรานต์ 
ที่มา : (Facebook สีทน การ์ตูนไทย,2563 [ออนไลน์])

รู้จักนางสงกรานต์ทั้ง 7

          นางสงกรานต์ของแต่ละวัน จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างๆ รวมถึงคำทำนายเกี่ยวกับ วันมหาสงกรานต์ วันเนาและวันเถลิงศก ดังต่อไปนี้

           วันอาทิตย์ นาม “นางทุงสะ” มีลักษณะทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราคหรือปัทมราช(พลอยสีแดง)ภักษาหารผลมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ

           วันจันทร์ นาม “นางโคราคะ” มีลักษณะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา (ไข่มุก) ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ

           วันอังคาร นาม “นางรากษส”(ราก-สด) มีลักษณะ ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร (หมู)เป็นพาหนะ

          วันพุธ นาม “นางมณฑา” มีลักษณะ ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม  หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ (ลา)เป็นพาหนะ

           วันพฤหัสบดี นาม“นางกิริณี” มีลักษณะ ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ

           วันศุกร์ นาม “นางกิมิทา” มีลักษณะ ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้าหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีกระบือ(ควาย)เป็นพาหนะ

           วันเสาร์ นาม “มโหธร” มีลักษณะ ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายหัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูรย์ มีนกยูงเป็นพาหนะ  (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม,2551,น.31-32)

• ท่านสามารถชมวีดีโอ : ตำนานนางสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์ทั้ง 7 ที่ 

 

“กลอนวันสงกรานต์ของไทย”
ที่สิบสามเมษาฯ วันฟ้าเปิด
สุดประเสริฐสวัสดีขึ้นปีใหม่
มหาฤกษ์บรรพชนของคนไทย
ยึดถือไว้นานโขแต่โบราณ
ที่สิบสี่เข้ากาลคืนฐานถิ่น
รวมดวงจินต์พร้อมผูกเหล่าลูกหลาน
เตรียมข้าวของน้องพี่พิธีการ
จัดทำทานวันพรุ่งรุ่งอรุณ
เถลิงศกสิบห้าคราฟ้าผ่อง
รุ่งเรืองรองบำเพ็ญเป็นทุนหนุน
ใส่บาตรจบครบครันทำทานจุน
ส่งผลบุญล่วงลับผู้ดับวัย
สรงน้ำพระประพรมตรมพ้นผ่าน
วันทาทาบกราบกรานท่านผู้ใหญ่
กตัญญูบูชาเหนือกว่าใคร

“บุพการี”นี้ ให้ได้ผลจริง
สานสายใยหรรษาคราคิมหันต์
เสริมสุขสันต์สู่ใจทั้งชายหญิง
ผูกสัมพันธ์ตลอดมิทอดทิ้ง
ค่าควรยิ่งเสน่ห์ประเพณี
กิจการงานใดให้รุ่งโรจน์
ชื่นช่วงโชติอิ่มเอมเกษมศรี
ทั่วทางเยือนเถื่อนแดนแสนเปรมปรีดิ์
สุขทวีทุกท่าน“วันสงกรานต์”

 ประพันธ์โดย “หญิง”
ที่มา : (อารมณ์กลอน [ออนไลน์] http://aromklon.com/index.php?topic=1668.0)

เรียบเรียงโดย นางสาวบุญทิพย์  ช่วยรัตแก้ว  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช   

บรรณานุกรม

– สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ[ออนไลน์]. คุณค่าทางประเพณีวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ไทย วันครอบครัว [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561].จาก : https://sites.google.com/site/16tofernniyom2561/khunkha-thang-prapheni-wathnthrrm-prapheni-sngkrant-thiy-wan-khrxbkhraw
– thaikalamar (2560).[ออนไลน์].ความเป็นมาของขนมกาละแม [สืบค้น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563]. จากhttps://thaikalamare.wordpress.com/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/
– กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (๒๕๕๑). ประเพณีสงกรานต์.พิมพ์ครั้งที่ ๑/๒๕๕๑ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
– สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรงวัฒนธรรม (๒๕๕๑) .ประเพณีสงกรานต์ : พิมพ์ครั้งที่๑/๒๕๕๑ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
– สีทน การ์ตูนไทย  [ออนไลน์]. [สืบค้น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ].
– อารมณ์กลอน [ออนไลน์].สืบค้น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 http://aromklon.com/index.php?topic=1668.0
– การละเล่นการแสดงและกีฬาของชาวไทย[ออนไลน์].สืบค้น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ๒๕๖๓