แห่นางดาน : ประเพณีสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช

            ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ และในยุคปัจจุบันได้นำเอาทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเป็นจุดขายในการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น   “พิธีแห่นางดาน” เป็นประเพณีของศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับการฟื้นฟูโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน และสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราช

 ประวัติประเพณี “แห่นางดาน”

            จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและศาสนามากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้บริเวณนี้ได้รับอารยธรรมของชนชาติอื่นๆ โดยเฉพาะอารยธรรมจากอินเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิดและความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราช “พิธีแห่นางดาน” หรือ “พิธีตรียัมปวาย” ตามความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อถวายสักการะแก่องค์พระอิศวรและขอพรอันประเสริฐจากพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ให้ทรงอวยพรแก่พระมหากษัตริย์ตลอดจนราษฎรในราชอาณาจักรทุกแห่งหน ให้อยู่ดีมีสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารงอกงามสมบูรณ์ทั่วดินแดน

            “พิธีตรียัมปวาย” ปรากฏขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย สันนิษฐานว่าปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและนิยมในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวกันว่า พระองค์เสด็จฯ ไปส่งเทพเจ้าทุกปีมิได้ขาดและยังโปรดให้จัดข้าวของจากกรุงศรีอยุธยาออกไปทำพิธี ณ เทวสถานเมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพราหมณ์จากเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อประกอบพิธีตรียัมปวาย การโล้ชิงช้า และการแห่นางดาน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นความสำคัญของประเพณีดังกล่าวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้าขึ้น เพื่อประกอบพิธีตรียัมปวาย ในบริเวณที่ดินหน้าวัดสุทัศนเทพวราวาม

นางดานคือใคร

          ประเพณีแห่นางดาน คือการอัญเชิญเทพชั้นรองมารอรับเสด็จพระอิศวร ที่จะเสด็จลงมาเยี่ยมมนุษย์โลก เทพชั้นรองสามองค์ที่พราหมณ์ในนครศรีธรรมราชอัญเชิญมารับเสด็จนี้ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี และพระคงคา พราหมณ์และชาวบ้านจะจารึกหรือแกะสลักเหล่าเทพลงบนไม้กระดาน 3 แผ่น ขนาดความกว้าง 1 ศอก สูง 4 ศอก โดยแผ่นที่ 1 จะแกะเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์ แผ่นที่ 2 แกะเป็นพระแม่คงคา แผ่นที่ 3 แกะเป็นพระแม่ธรณี ชาวนครเรียกไม้แกะสลักดังกล่าวนี้ว่า “นางกระดาน” ตามบันทึกใน  พระราชพิธี 12 เดือน ได้ระบุถึงวันเชิญนางกระดานลงหลุมว่าได้เชิญลงหลุมวันขึ้น 9 ค่ำ เดือนอ้าย และเชิญขึ้นจากหลุมวันขึ้น 12 ค่ำเดือนอ้าย โดยเรียงลำดับแผ่นนางกระดานให้พระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่ในหลุมทางตะวันออก พระนางธรณีอยู่หลุมกลาง และพระนางคงคาอยู่หลุมตะวันตก ทั้งสามแผ่นกระดานนี้จะตั้งอยู่ภายในเขตราชวัตรฉัตรธงมีเครื่องสักการะสังเวยตั้งบูชาเบื้องหน้าทั้งสามวัน

 พิธีพราหมณ์แห่นางดานสู่ประเพณีสงกรานต์

          ประเพณี “แห่นางดาน” ของนครศรีธรรมราชที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้น โดยจัดขึ้นตรงกับวันสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย เพื่อรำลึกถึงประเพณีคู่บ้านคู่เมืองที่ดีและมีคุณค่าต่อบ้านเมือง “งานมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนครศรีธรรมราช” ได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและเทศบาลนครศรีธรรมราช ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 6 แหล่ง มาทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์ พิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิธีบวงสรวงพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันประเพณีแห่นางดานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยคงรูปแบบพิธีกรรมเดิมไว้ และเพิ่มเติมความน่าสนใจด้วยการนำเอาแสงสีเสียงเพื่อให้เกิดความสวยงามน่าประทับใจและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

          เมื่อมีการรื้อฟื้นประเพณีแห่นางดานของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ได้ใช้สถานที่จัดงานบริเวณหอพระอิศวร (ชุมชนพราหมณ์เก่า) จนกระทั่งปี พ.ศ.2557 จึงได้ย้ายไปจัดบริเวณสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงานเป็นจำนวนมาก ประเพณี แห่นางดานจัดขึ้นในวันที่ 11-14 เมษายน ของทุกปี

          – ในวันที่ 11 เมษายน จัดกิจกรรมพิธีถวายเครื่องราชสักการะ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช

          -ในวันที่ 12 เมษายน จัดกิจกรรมพิธีบวงสรวงเทวาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ 6 แห่ง ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช

          -ในวันที่ 13 เมษายน จัดกิจกรรมวันสงกรานต์ มีการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ เพื่อความเป็นสิริมงคล   ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช

          -ในวันที่ 14 เมษายน จัดกิจกรรมพิธีบวงสรวงพระอิศวรที่บริเวณฐานพระสยม ตลาดท่าชี จากนั้นขบวนแห่นางดานเคลื่อนไปประกอบพิธีที่สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และจะมีพิธี “ตรียัมปวาย”และ “โล้ชิงช้า” ที่เสาชิงช้า หอพระอิศวร

            การจัดประเพณีดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมโดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในประเพณีแห่นางดาน การจัดประเพณีดังกล่าวได้กระตุ้นให้ชุมชนเกิดการสร้างงาน คือ ชุมชนได้นำเอาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมชุมชนและการออกร้านอาหารพื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงของชุมชนมาจัดจำหน่ายเพื่อกระจายรายได้ให้เกิดกับคนในชุมชนและฟื้นฟูประเพณีแห่นางดาน เป็นการดำรงความเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีไว้ให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ

            ประเพณีแห่นางดานเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นผลผลิตในการแลกเปลี่ยนทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ การฟื้นฟูประเพณีแห่นางดานเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อเป็นมรดกสู่ลูกหลานและเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชสืบต่อไป

เรียบเรียงโดย  นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

บรรณานุกรม

Bloggertrip. [ออนไลน์]. “เทศกาล มหาสงกรานต์ แห่นางดาน เมืองนครศรีธรรมราช ประจำปี 2559”.   [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562] http://www.bloggertrip.com/festival-nakhonsithammarat/

พรรณวดี พลลิทธิ์. [ออนไลน์]. “แห่นางดาน:ว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองนครศรีธรรมราช”.     [สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562] https://www.tcithaijo.org/index.php/rusamelae/