สีไทยโทน….เสน่ห์สีโบราณของคนไทย

          ถ้าโลกของเรามีแค่สีขาวและสีดำ เมืองคงขาดสีสันในการดำเนินชีวิต แท้ที่จริงแล้ว “สีไทยโทน” สร้างขึ้นและมีการใช้มาตั้งแต่สมัยก่อน เห็นได้จากงานจิตรกรรมฝาผนังของไทยที่มีสีสันสวยงาม แม้เวลาผ่านมานับร้อยปี แต่สีของภาพจิตรกรรมบนฝาผนังยังคงงดงามไม่เสื่อมคลาย

          “สี” เป็นองค์ประกอบหลักหนึ่งของงานทัศนศิลป์ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ไปจนถึงบุคลิกภาพเฉพาะตน มนุษย์รู้จักนำสีมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการนำมาระบายลงบนสิ่งของ ภาชนะเครื่องใช้ รวมไปถึงการใช้สีวาดลงบนผนังถ้ำ หน้าผา ก้อนหิน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ให้รู้สึกถึงพลังอำนาจและสัญลักษณ์ในการถ่ายทอดความหมาย “สีไทยโทน” เป็นภูมิปัญญาช่างศิลป์ของประเทศไทยเพื่อสรรหาสีจากธรรมชาติ นำมาสกัด คัดแยกสี และบรรจงผสมกันเพื่อให้ได้สีที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

          สีไทยโทนหลักๆ ที่ปรากฏใช้ในงานจิตรกรรมไทยสมัยก่อนมีอยู่ 5 สี หลักคือ สีดำ สีขาว สีแดง  สีเหลืองและสีครามเรียกรวมกันว่า “สีเบญจรงค์” ส่วนสีที่แปลกออกไปเกิดจากการผสมสี 5 สีดังกล่าว แล้วแตกออกเป็นอีก 5 หมู่สี ได้แก่ สีส้ม สีเขียว สีม่วง สีน้ำตาลและสีทอง ซึ่งสามารถจำแนกสีเบญจรงค์ได้เป็น 5 กลุ่มสี ดังนี้

        1. กลุ่มสีดำ  บางทีเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สีเขม่า” ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่า ดำ มีความหมายตรงกับกรรมวิธีในการทำคือ การนำเอาเขม่าจากควันไฟที่ลอยขึ้นไปจับรวมตัวกันเป็นก้อนตามปล่องไฟหรือก้นกระทะ มาบดกับน้ำกาวเพื่อให้ได้สีดำใช้เขียนภาพ ในกลุ่มสีดำยังสามารถผสมสีย่อยๆ เช่น สีเทาหรือบางทีเรียกว่า สีหมอกหมึกอ่อนหรือสีสวาดซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างสีดำหรือสีดำเขม่าสีขาว

      2. กลุ่มสีขาวหรือสีฝุ่นขาว ช่างรุ่นเก่าเรียกสีขาวว่า “ฝุ่น” ตามภาษาจีนกวางตุ้งเรียกแป้งว่าฝุ่น เกิดจากออกไซด์ของตะกั่ว โดยใช้ความร้อนจากก๊าซคาร์บอนรมแผ่นตะกั่วทำให้เกิดสนิมขาว เนื้อสีละเอียดและขาวจัด กลุ่มสีขาวยังสามารถผสมสีย่อยๆ เช่น สีขาวกะบัง สีปูนขาวและสีควายเผือก

     3. กลุ่มสีแดง ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในงานศิลปกรรมของไทย เนื่องจากเป็นหมู่สีที่มีการใช้งานมากที่สุดและเป็นโครงสีส่วนรวม ด้วยความเชื่อที่ว่าสีแดงแทนสัญลักษณ์ความว่างเปล่า   เป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล เพื่อใช้แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ แสดงบรรยากาศของสวรรค์ ในหมู่สีแดงมีความแตกต่างจากชื่อที่เรียกตามวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ได้แก่ พืช แร่ธาตุ เช่น สีชาดหรือสีแดงชาด เป็นสีเดียวกับสีชาดก้อน ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งเรียกว่า “ซินนาบาร์” ใช้เป็นยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก นิยมใช้ทาริมฝีปากและใช้ในงานจิตรกรรมของไทย กลุ่มสีแดงสามารถผสมได้สีย่อยๆ เช่น แดงลิ้นจี่ แดงอิฐ แดงเลือดนก และหงส์บาท

         4.. กลุ่มสีเหลืองรง เป็นกลุ่มในหมู่สีเหลือง บางทีเรียกว่า “รงทอง” สีเหลืองรงนั้นได้จากยางของต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งเรียกว่า “ต้นรง” ขึ้นอยู่ตามป่าและบนเกาะบางแห่งแถบจังหวัดชายทะเลภาคตะวันออกของอ่าวไทย บริเวณเกาะลังกา และแถบอินเดียใต้ วิธีการทำสีเหลืองรง ชาวบ้านในพื้นที่จะเตรียมเก็บรงโดยการใช้วิธีสับยางรงจากต้น บางแห่งลอกเปลือกแล้วนำมาทุบให้แหลกและนำมาเคี่ยวไล่น้ำให้ระเหยออกจนยางรง จากนั้นจึงกรอกน้ำยางรงในกระบอกไม้ไผ่ขนาดย่อมๆ ทิ้งไว้ให้เย็น ยางรงจะจับตัวแข็ง เมื่อผ่ากระบอกออกเนื้อรงจะมีลักษณะเป็นแท่งกลมๆ เมื่อจะนำใช้ก็ฝนกับน้ำให้รงละลายออกเป็นสีเพื่อใช้เขียนระบายภาพ สีเหลืองสามารถผสมสีย่อยๆ เช่น สีเหลืองหรดาล สีเหลืองจำปา สีเหลืองไพล

      5. กลุ่มสีคราม หรือสีน้ำเงิน เป็นสีที่คนไทยนิยมนำมาย้อมสีผ้าและยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ในอดีตนิยมนำกิ่งครามทั้งใบมาแช่น้ำด่างเพื่อหมักเอาน้ำคราม เมื่อได้น้ำครามและจะนำมาย้อมผ้าจนได้สีน้ำเงินเข้มที่สวยงามและดูนุ่มนวล แต่ในการสกัดเพื่อให้ได้สีครามที่ถูกใจนั้น ต้องย้อมซ้ำหลายครั้ง

สีไทยโทนแฝงด้วยแนวคิด

      สีไทยโทนมีความคล้ายกับสีทั่วไป การใช้สีไทยโดดๆ อาจมองไม่เห็นถึงความแตกต่าง การศึกษาถึงที่มาของสี บุคลิกของสี และชื่อเรียกของสี สามารถอธิบาย 4 ข้อดังนี้

  1. สีไทยมีรากฐานจากความเชื่อและความศรัทธา เช่น การใช้สีแดงชาดเพื่อแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ แสดงบรรยากาศของสวรรค์
  2. ความงามของวัสดุสีไทย เพราะสีไทยปรุงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ แร่ธาตุ พืช
  3. ความงามเฉดสีไทยที่มีบุคลิกที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะนำเฉดสีตัดกันมากแค่ไหนมาผสมกัน ยังกลมกล่อมลงตัว
  4. ความงดงามด้านวรรณศิลป์ เห็นได้จากชื่อเรียกสีไทย ที่มีความหมายที่ดีส่วนใหญ่จะเป็นชื่อที่มาจากธรรมชาติ

การเพิ่มมูลค่าให้สีไทยโทน

“สีไทยโทน” เป็นเฉดสีที่มีคุณสมบัติโดดเด่น สามารถนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานได้มากมาย ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ งานบริการและงานโฆษณา เดิมเรานิยมใช้แนวทางอนุรักษ์การปรุงสีฝุ่นแบบครูโบราณซึ่งเหมาะกับงานศิลปะที่มีความประณีต เช่น การทำหัวโขน การทอผ้าไหม เป็นต้น แต่ปัจจุบันผู้ผลิตได้เล็งเห็นความสำคัญของสีไทยโทน จึงได้ต่อยอดและพัฒนาสีไทยโทนให้มีมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน สีอะคริลิก  ยาทาเล็บ ลิปสติก อาหารแปรรูป จนถึงงานโฆษณาต่างๆ

        สีเบญจรงค์ทั้ง 5 สี จะเป็นแม่สีหลักที่ได้จากภูมิปัญญาไทยล้วนๆ ที่ช่างศิลป์ของไทยสรรหาสีที่ได้จากธรรมชาติ นำมาสกัด คัดแยกสี และผสมผสานเพื่อให้ได้สีใหม่ ที่มีเอกลักษณ์และสวยงามแบบไทยจึงไม่แปลกใจที่งานจิตรกรรมของไทยถึงได้มีสีสันสวยงาม คงทน และละมุนละไมต่อสายตา ควรค่าแก่การช่วยกันดูแลและรักษาเอาไว้เป็นมรดกชาติสืบต่อไป

เรียบเรียงโดย  นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  

บรรณานุกรม

กระทรวงวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. “สีไทยโทน เสน่ห์ไทยเพิ่มมูลค่าธุรกิจ”.[สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563] https://www.bundanthai.com/uploads/news/document/20151102150902hM2W6DC.pdf

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. [ออนไลน์]. “สีโทนไทยเสน่ห์จากภูมิปัญญา”.  [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563]                 https://www.stou.ac.th/study/sumrit/2-61/page3-2-61.html