ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดวิถีชีวิต ประเพณี ค่านิยมและความเชื่อต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชุมชนที่มีการสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นและยังคงมีการดำเนินอยู่ในปัจจุบัน พืชทางการเกษตรที่เรียกว่า “ต้นกัญชง” เป็นพืชตระกูลเดียวและมีลักษณะคล้ายกับ “ต้นกัญชา” ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้วยคุณสมบัติทางเส้นใยที่มีคุณภาพสูง ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้หลายชนิด และในคติความเชื่อชาวม้ง “ต้นกัญชง” เป็นสิ่งของมงคลที่ชาวม้งใช้ประกอบพิธีสำคัญของชนเผ่าตน
“ต้นกัญชง” ไม่ใช่ “ต้นกัญชา”
พืชทางเกษตรที่เรียกว่า “ต้นกัญชง” หรือ “เฮมพ์” เป็นพืชในสกุลเดียวกับต้นกัญชา มีลักษณะลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร มีลักษณะลำต้นเตี้ย มีกิ่งเกาะกันเป็นพุ่ม ใบของกัญชงจะมีขนาดใหญ่กว่าใบของต้นกัญชาเล็กน้อย มีลักษณะแคบ ยาว การเรียงตัวของใบจะชิดกัน โดยเฉพาะใบประดับช่อดอกจะเป็นกลุ่ม แน่นชัดเจน มักมียางเหนียวติดมือ ใบมีสีเขียวจัด ระยะเวลาการโตเต็มวัยประมาณ 60-90 วัน
“ต้นกัญชง” หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับ “ต้นกัญชา” (Marijuana) แต่มีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือ สารเสพติด (Tetrahydrocannabinol: THC) น้อยมาก ในช่อดอกกัญชามีค่า THC ประมาณ ๑-๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในกัญชงมีค่า THC ประมาณ ๐.๓ เปอร์เซ็นต์ ถึงกระนั้นในประเทศไทยก็ยังถูกจัดให้กัญชงเป็นพืชสารเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงปลูกอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในพื้นที่ควบคุมเท่านั้น แต่ในหลายๆ ประเทศถือว่าต้นกัญชงไม่ใช่ยาเสพติดและอนุญาตให้มีการปลูกต้นกัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย โดยควบคุมให้มีสาร THC ในปริมาณที่กำหนด
คติความเชื่อของชาวม้ง
ในภาษาม้ง เรียกกัญชงว่า “หมั้ง” หรือ “ม่าง” ชาวม้งเชื่อว่าเทพเจ้าหรือเย่อโซ๊ะ เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ และได้ประทานพันธุ์พืชให้มนุษย์ได้ใช้ ซึ่งก็คือ “หมั้ง หรือ กัญชง” นั่นเอง ในคติความเชื่อชาวม้ง “ต้นกัญชง” เป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของเทพเจ้า และโลกของบรรพบุรุษก็ถือเป็นของมงคล ชาวม้งจึงลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง นำมาทำเป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ผูกมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ ใช้ในพิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของชาวม้ง และนำมาทอเป็นเสื้อผ้าใส่ในงานมงคลและวันปีใหม่ แม้แต่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรวมถึงรองเท้าของชาวม้งที่เสียชีวิต ล้วนทําจากใยกัญชงทั้งสิ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าจะสามารถเดินทางไปสู่สวรรค์และสื่อสารกับวิญญาณบรรพชนได้ หากไม่ใส่เสื้อผ้าที่ทอจากใยกัญชงแล้ว วิญญาณของผู้นั้นจะต้องล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ดังนั้น ต้นกัญชงจึงเป็นพืชดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์ตามประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่าม้งมานานแล้ว
ประโยชน์ของต้นกัญชง
“ต้นกัญชง” มีความสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากคุณสมบัติทางเส้นใยที่มีคุณภาพสูง จึงถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้หลายชนิด เช่น เสื้อผ้า เยื่อกระดาษ เชือก เป็นต้น โดยมีความแข็งแรงของเส้นใยมากกว่าฝ้ายถึง 2 เท่า และพบว่าการปลูกต้นกัญชง 10 ไร่ จะให้ผลผลิตเส้นใยเท่ากับการปลูกฝ้าย 20-30 ไร่ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า ต้นกัญชงอาจมาเป็นสินค้าสำคัญในตลาดโลกและเป็นพืชเศรษฐกิจแข่งกับการปลูกฝ้ายได้
เมล็ดของ “ต้นกัญชง”ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ มีโปรตีนสูงมากกว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองและมีการวิจัยเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนถั่วเหลืองได้ เช่น น้ำเต้าหู้ เนย ชีส น้ำมันสลัดและโปรตีนเกษตร รวมทั้งสามารถนำมาทำแป้งได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกรด Omega-3 ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง และใช้เปลือกมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ด้วยกัญชงมีลักษณะใกล้เคียงกับกัญชาจนคนทั่วไปแทบจะแยกไม่ออก รัฐจึงมี นโยบายห้ามปลูกกัญชงในประเทศไทย ทำให้การซื้อขายเกิดขึ้นได้ยากและมีความลำบากจะต้องเดินทางไปแลกเปลี่ยนซื้อขายใยกัญชง จนกลายเป็นเครือข่ายเชื่อมการค้าขายระหว่างลาว จีน และไทย
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงผลักดันให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้ปลูกต้นกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ศึกษาวิจัยสายพันธุ์กัญชงที่มีสารเสพติดต่ำ จนสามารถขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์และทดลองปลูกต้นกัญชงในพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก และเพชรบูรณ์ จากนั้นเป็นต้นมา ทำให้ผ้าทอใยกัญชงได้รับการพัฒนา เริ่มมีการทอผสมกับฝ้าย ทอผสมกับไหม หรือแม้แต่ทอผสมกับเส้นใยผ้ายีนส์ จึงได้ลักษณะของเนื้อผ้าที่แตกต่างกันออกไป เมื่อปรับปรุงดีไซน์ให้ทันสมัย จนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักงานหัตถกรรม
ด้วยประโยชน์จากเส้นใยกัญชงที่เหนียวนุ่ม แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนล่อน ป้องกันรังสียูวีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมเนื้อผ้ายังมีเสน่ห์ สวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กัญชงจึงถูกนำมาแปรรูป ทําเป็นเครื่องนุ่งห่มมาเนิ่นนาน ยิ่งในประเทศญี่ปุ่นด้วยแล้ว ชาวญี่ปุ่นถือว่าใยกัญชงเป็นเส้นใยมงคล เฉกเช่นเดียวกับชาวม้ง ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมนำมาตัดกิโมโน (ราคาหลักแสนบาทไทย) เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทานนับร้อยปี ทุกวันนี้ผ้าใยกัญชงกลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกเช่น Hermes Prada Converse Vans เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชงของไทยกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ส่งออกไปญี่ปุ่น ที่เหลือส่งไปยุโรป เช่น สวีเดน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมกว่า 30 ประเทศทั่วโลกและคาดการณ์ว่าในอนาคตเส้นใยกัญชงจะเข้ามาทดแทนเส้นใยเคมี เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนชาวเขาเผ่าม้ง และหากประเทศไทยสามารถขยายฐานการปลูกจะทำให้ต้นกัญชงกลายเป็นพืชสำคัญที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่นอน
เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บรรณานุกรม
Medthai. [ออนไลน์]. “กัญชง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกัญชง 14 ข้อ”. [สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 มกราคม 2563] https://medthai.com/
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. “ใยกัญชง มหัศจรรย์เส้นใย แห่งสายวัฒนธรรมชาวเขาเผ่าม้ง”. [สืบค้นเมื่อ วันที่ 17 มกราคม 2563] http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php