ภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้ภาษาไทยเข้าสู่ยุควิกฤต คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่ใช้เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารมักจะรวบคำให้สั้นลง เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร หรือ การบัญญัติคำศัพท์ใหม่ๆ ที่มีใช้เฉพาะกลุ่มขึ้นเพื่อความโดดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งพฤติกรรม การสื่อสารในลักษณะดังกล่าว ทำให้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่หรือภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารของไทย เกิดปัญหาภาษาวิบัติ
ภาษาวิบัติคืออะไร?
คำว่า “วิบัติ” มาจากภาษาบาลี หมายถึง พินาศฉิบหาย เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ภาษาวิบัติ หมายถึง คำเรียกของการใช้ภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ตรงกับหลักภาษาในด้านการสะกดคำ การเขียนสะกดผิด และการใช้คำศัพท์สะกดแปลกไปจากเดิม ในประเทศไทยมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาเด็กไทยขาดการศึกษาและปัญหาภาษาวิบัติทำให้เด็กไทยไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ได้เขียนเรื่องภาษาวิบัติไว้ว่า “ภาษาวิบัติเป็นการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ชื่นชอบ แม้ภาษาจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ผู้ใหญ่ไม่ชอบให้ภาษาเปลี่ยน และการไม่ศึกษาภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เองที่จะเป็นเหตุให้เกิดภาษาวิบัติ” (กรุงเทพธุรกิจ,2562) โดยภาษาวิบัติเป็นลักษณะทางภาษาที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อตอบสนองวัฒนธรรมย่อย เช่นเดียวกับภาษาเฉพาะวงการที่เป็นศัพท์สแลง และ การเปิดใช้พจนานุกรมเพื่อค้นหาคำที่ควรใช้ให้ถูกต้องอาจเป็นทางเลือกที่ดี ทางบัณฑิตยสถานได้กำหนดใช้อย่างเป็นทางการหรืออยู่ในรูปแบบมาตรฐาน แต่หากใช้ผิดอาจกลายเป็นภาษาวิบัติได้ รวมไปถึงการใช้ภาษาไทยในบทสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาจากอินเตอร์เน็ตและเกมออนไลน์
สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นนิยมใช้ภาษาวิบัติ
ภาษามีวัฏจักรเช่นเดียวกับมนุษย์คือมีเกิด แก่ เจ็บ และตาย ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงทางภาษามีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่ผลที่ตามมาจะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป พอสรุปได้ดังนี้
- การหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกหรือวัฒนธรรมสมัยใหม่ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เรียบง่ายไม่สลับซับซ้อน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา
- การเปรียบเทียบวัฒนธรรมตะวันตกที่ไม่ซับซ้อนกับวัฒนธรรมไทย ทำให้เด็กยุคใหม่หลงลืมวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นสิ่งดีงามไป แต่กลับไปเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก
- ความเจริญทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เข้ามา เช่น การพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นับเป็นสื่ออันสำคัญที่ทำให้ วัยรุ่น ได้รับข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ เกิดการเรียนรู้ ยอมรับและปรับเปลี่ยนภาษาไทยมากขึ้น มุ่งความทันสมัยโดยไม่คำนึงถึงรากฐานวัฒนธรรมภาษาเดิม รวมถึงความเจริญทางด้านสังคมและชุมชนต่าง ๆ
ปัญหาการใช้ภาษาวิบัติที่พบในปัจจุบัน
ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และความภูมิใจของคนไทย แต่ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีการใช้ภาษาอย่างไม่เหมาะสม มีการใช้คำแสลง การพูดคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนเกิดปัญหาการสื่อสารและเข้าใจความหมายของภาษาในทางที่ผิด กลุ่มวัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่มีการสื่อสารกันมาก และมีรูปแบบการสื่อสารด้วยคำที่ทันสมัย มีความหมายเฉพาะสำหรับกลุ่มและช่วงวัย วัยรุ่นจึงขาดความคำนึงถึงความถูกต้องของภาษาและการใช้ภาษาให้เหมาะสม สาเหตุสำคัญที่วัยรุ่นใช้ภาษาผิดมีดังต่อไปนี้
- การใช้ภาษาของสื่อมวลชน ได้แก่ การใช้ภาษาพูดปนกับภาษาเขียน ใช้คำผิดความหมายใช้คำสแลงผิดและใช้คำหยาบ ซึ่งสื่อมวลชนควรให้ความระมัดระวังและใช้ให้ถูกต้อง เพราะภาษาที่ใช้ในสื่อจะเป็นหลักฐานสำคัญที่อยู่นานและแพร่หลายไปไกล ซึ่งจะกลายเป็นแม่แบบและครูของสังคมโดยไม่รู้ตัว
- การใช้ภาษาสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต หรือการส่งข้อความของเด็กวัยรุ่น ได้แก่ การตัดทอนคำ สะกดคำผิด ใช้ภาษาผิดจากความหมายเดิม รวมถึงการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตค้นคว้าข้อมูลที่ทำให้ภาษาเขียนบกพร่อง การใช้ภาษาในลักษณะดังกล่าวพบมากในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร เพื่อเน้นความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตน ซึ่งเมื่อเด็กวัยรุ่นใช้เป็นประจำทุกวัน จนติดเป็นนิสัยจึงทำให้ภาษาไทยของเราเปลี่ยนแปลงไป เยาวชนยุคหลังๆ จึงใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง
การณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง
การรณรงค์การใช้ภาษาไทยในหน่วยงานต่างๆจึงเกิดขึ้น เพื่อยับยั้งปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง และควบคุมการใช้ภาษาไทยอย่างกว้างขวางเพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นไทยรู้จักตระหนักถึงการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและเหมาะสมตามกาลเทศะ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนจัดกิจกรรมวันภาษาไทยขึ้นเพื่อน้อมรำลึกและปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท ด้วยการช่วยกันธำรงรักษา “ภาษาไทย” ที่น่าภาคภูมิใจของเรา ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าสืบทอดต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังอย่างถูกต้อง และงดงามตลอดไป รวมไปถึงการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้วัยรุ่นไทยตะหนักถึงการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องดังต่อไปนี้
- การเล็งเห็นประโยชน์ของการเขียนภาษาไทยที่ถูกต้อง
- การเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความพยายาม
- มีหน่วยงานราชการและศูนย์ภาษาไทยที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ
- มีตำราภาษาไทยในเรื่องการใช้ภาษาให้ถูกต้อง อยู่มากมาย
- มีพจนานุกรมสำหรับอ้างอิง ในกรณีไม่แน่ใจว่าคำที่ถูกต้องเขียนอย่างไร
- เป็นการช่วยชาติในการรักษาสมบัติวัฒนธรรมภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ยังมีส่วนสำคัญทำให้ “ภาษาไทย”ที่ใช้ในปัจจุบันอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง การตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และรักษาภาษาไทย อันเป็นภาษาประจำชาติไว้ให้งดงามยั่งยืนตลอดไป การรณรงค์ในด้านต่างๆจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก่อนที่เอกลักษณ์และคุณค่าทางภาษาไทยจะสูญหายไปหมดสิ้น
เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บรรณานุกรม
The Lost Memory. [ออนไลน์]. “การวิบัติของภาษาไทย”. [สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562] https://www.dek-d.com/board/view/3732119/
Nan. [ออนไลน์]. “ภาษาวิบัติ”. [สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562] http://woe-language.blogspot.com/
กองคลัง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง. [ออนไลน์]. “รณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง”. [สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562] http://www.fis.ru.ac.th/home/index.php?option=com