การแสดงความรัก ความศรัทธาของผู้คนมีหลากหลายรูปแบบ นอกจากการแสดงด้วยกริยาท่าทางแล้ว เรายังนำเอาสิ่งของต่างๆ มาเป็นเครื่องมือที่สื่อถึงความรักความศรัทธานั้นด้วย ในพุทธศาสนามีการนำเอาดอกไม้มาเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความศรัทธา การเคารพบูชา และการนับถือพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน เมื่อพุทธศาสนิกชนจะบูชาพระรัตนตรัยจะจัดหาเครื่องสักการบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อมาบูชาศาสนวัตถุและศาสนสถานต่างๆ เรียกว่า “การบูชาด้วยอามิส” การปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างสิบหมู่นำไปสร้างสรรค์ดอกไม้วิจิตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นพุทธบูชาและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
ช่างสิบหมู่คือใคร
“งานช่างสิบหมู่” กล่าวได้ว่า เป็นงานช่างประเภทประณีตศิลป์และงานประเภทวิจิตรศิลป์ บรรดาช่างสิบหมู่จัดว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือ ความสามารถและชำนาญในการสร้างสรรค์ “สิ่งดีงาม” ที่เป็นศิลปกรรมเพื่อสนองความประสงค์ของราชการในส่วนพระมหากษัตริย์ ได้แก่ การทำนุบำรุงพระศาสนาและบริการแก่สังคม ในสมัยนั้นได้จัดทำบัญชีชื่อช่างขึ้นเพื่อต้องการจะรวบรวมช่างที่เป็นส่วนสำคัญไว้ก่อนเพียง 10 หมู่ ต่อมาภายหลังจึงได้เพิ่มเติม หรือแยกแขนงออกไปอีกตามลักษณะของงาน
ปัจจุบันทำเนียบเป็นช่างหลวงมีดังต่อไปนี้ ช่างเลื่อย ช่างก่อ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างไม้สำเภา ช่างปืน ช่างสนะ(จีน) ช่างสนะ(ไทย) ช่างขุนพราหมณ์เทศ ช่างรัก ช่างมุก ช่างปากไม้ ช่างเรือ ช่างทำรุ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างบุ ช่างปูน ช่างหุงกระจก ช่างประดับกระจก ช่างหยก ช่างชาดสีสุก ช่างดีบุก ช่างต่อกำปั่น ช่างทอง เป็นต้น
ต้นกำเนิดงานเขียนดอกไม้วิจิตร
ความสัมพันธ์ของดอกไม้กับคนในสังคมปรากฏอยู่ร่วมกันทุกสมัย เริ่มในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการศึกษาธรรมชาติเรื่องดอกบัวในวรรณคดี เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 กล่าวไว้ว่า “…นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร ตูมตั้งบัง
ใบอรชร ดอกขาวเหล่าแดงสลับสี บานคลี่ขยายแย้มเกสร..” แสดงให้เห็นว่า บัวธรรมชาติเป็นไม้น้ำหรือราชินีแห่งไม้น้ำ นอกจากนี้ดอกไม้ยังมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเพราะเป็นสื่อสัญลักษณ์แสดงการนับถือพระพุทธศาสนา ชาวไทยนิยมใช้ดอกบัวเป็นเครื่องสักการบูชา เพื่อมาบูชาศาสนาวัตถุและศาสนสถานต่างๆ เรียกว่า “การบูชาด้วยอามิส” การปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างสิบหมู่เกิดความประทับใจและนำมาเป็นแนวคิดสร้างสรรค์ผูกเป็นลายดอกบัวต่างๆ ได้แก่ บัวหงาย บัวคว่ำ บัวถลา บัวรวย บัวกลับหนุน บัวจงกล บัวกาบปลี เป็นต้น ซึ่งดอกบัวจะมีรูปลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดนั้น
ในสมัยโบราณนิยมใช้ลายบัวจัดเรียงกันเป็นอาสนะหรือฐานพระพุทธรูปเพื่อใช้เป็นลายที่ช่วยเสริมและประสานพื้นที่สูงกับพื้นที่ต่ำ นอกจากลายบัวชนิดต่างๆ ที่สืบทอดกันมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้วยังมีลายดอกไม้วิจิตรอื่นๆ เช่น ลายดอกประดิษฐ์จากวงกลม สี่เหลี่ยมหกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม ลายพุ่มที่มาจากพุ่มพนมดอกไม้บนพาน ลายรักร้อย ลายดอกจิกทำลายขอบ ลายพุดตานที่เป็นลายเลียนแบบธรรมชาติซึ่งในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 นิยมใช้กับงานปูนปั้นหน้าบันอุโบสถ ซุ้มประตู หน้าต่างของวัดซึ่งได้รับความนิยมกันมาก
การสืบทอดงานดอกไม้วิจิตรในช่างสิบหมู่
การสร้างสรรค์งานดอกไม้วิจิตรทางพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการสืบทอดงานมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะงานและรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ งานช่างเขียนงานช่างปั้น งานช่างหล่อ งานช่างปูน งานช่างรัก งานช่างสลัก งานช่างทองและอื่นๆ เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงพยายามรวบรวมช่างฝีมือเก่าจากกรุงศรีอยุธยาแล้วทรงทำนุบำรุงงานช่างเพื่อทรงบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างศิลปวัตถุ โบราณสถาน เช่น การสร้างพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ในวัดมหาธาตุยุวรังสฤษฏิ์ วัดพระเชนตุพลวิมลมังคลาราม และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 3 ในรัชกาลนี้ศิลปะจีนมีบทบาทต่องานช่างสิบหมู่อย่างมาก ในรัชกาลนี้นิยมเรียกกันว่า “แบบพระราชนิยม” เช่น งานเขียนฝาผนังรูปโต๊ะบูชา ตกแต่งลวดลายดอกไม้ ใบไม้รูปเขียนเทพเจ้าจีนและเหล่าเทวดาถือดอกไม้ทิพย์เหาะมาสู่เทวสภา ณ จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดบางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร งานเขียนภาพกระหนกใบเทศเครือเถาที่มีรูปดอกไม้ ใบไม้ละเอียดบนตู้พระไตรปิฏกในวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม เป็นต้น
งานดอกไม้วิจิตรในงานช่างสิบหมู่มีการสืบทอดและพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีศิลปะการทำดอกไม้สดในวังรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะการร้อยดอกไม้สดตกแต่งใช้ในงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เช่น ที่พระแท่นมณฑลมีการร้อยพวงดอกไม้สดแขวน ได้แก่ พวงระย้า พวงแขก วิมานพระอินทร์และบันไดแก้ว นอกจากนี้ยังพบงานเขียนลายดอกไม้ ใบไม้ ลงบนกระเบื้องที่ส่งมาจากจีนที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและประตูไม้สลักรูปดอกไม้ที่วัดภูมินทร์ งานช่างสิบหมู่เกี่ยวกับดอกไม้วิจิตรได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น งานเขียนภาพสีเรื่องพุทธประวัติตอนประสูติที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงก้าวเดินบนดอกบัว 7 ดอก บนฝาผนังวัดเทพลีลา กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังปรากฏงานปูนปั้นลายดอกไม้วิจิตร เช่น เครื่องบนหลังคาเป็นลายปูนปั้นดอกพุดตานของพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร
การสร้างสรรค์งานดอกไม้วิจิตรในงานช่างสิบหมู่ เป็นมรดกของสังคมไทยทางพุทธศิลป์ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการสืบทอดมาจากสมัยกรุงสุโขทัย อันได้แก่ ลักษณะงาน รูปแบบ และแนวความคิดจากความศรัทธาพระพุทธศาสนาและการบูรณการองค์ความรู้จากดอกไม้ธรรมชาติ ผ่านการสร้างสรรค์และสืบทอดงานช่างสิบหมู่พัฒนาให้เป็นประติมากรรมต่างๆ งดงาม ประณีต และควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป
เรียบเรียงโดย นางสาว ภัทราวดี พลบุญ ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บรรณานุกรม
รุ่งอรุณ กุลธำรง. [ออนไลน์]. “ดอกไม้วิจิตร: มรดกศิลปวัฒนธรรมในงานช่างสิบหมู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์”[สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563] https://www.tci-thaijo.org/index.php/TSDJ/article/view/53521/44381
ช้างสิบหมู่. [ออนไลน์]. “งานช่างสิบหมู่” [สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563] http://changsipmu.com/thaiart_p12.html