“ผ้าบาติก” มนต์เสน่ห์ความงามและศิลปะในชายแดนใต้

          ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิต โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ณ ปลายด้ามขวานทอง ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี เป็นหนึ่งในพื้นที่อันสวยงาม มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นดินแดนที่มีความโดดเด่นทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ได้แก่ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืนที่เป็นเอกลักษณ์และมากไปด้วยเสน่ห์ชวนค้นหา

          “ผ้าบาติก” หรือที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ผ้าปาเต๊ะ” เป็น มรดกทางวัฒนธรรมของชายแดนใต้ มาจากคำว่า “Ba = ศิลปะ” และ “Tik = จุด” เดิมเป็นคำในภาษาชวาใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด คำว่า “ติก” มีความหมายว่า เล็กน้อยหรือจุดเล็กๆ มีความหมายเช่นเดียวกับ คำว่า “ตริติก” หรือ “ตาริติก” ดังนั้นคำว่า “บาติก” จึงมีความหมายว่าเป็นงานศิลปะบนผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดด่างๆ มีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้สีระบาย แต้มและย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ทำให้ผ้าบาติกมีลักษณะพิเศษคือไม่เหมือนใครไม่ซ้ำกันและเป็นหนึ่งเดียว

วิวัฒนาการผ้าบาติกในประเทศอินโดนีเซีย

         ในปัจจุบันแหล่งกำเนิดของผ้าบาติกยังไม่มีข้อยุติ แต่นักวิชาการชาวยุโรปหลายท่านเชื่อว่าผ้าบาติกมีในประเทศอินเดียก่อน แล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็มีหลายคนเชื่อว่า ผ้าบาติกเป็นของอินโดนีเซียแต่ดั้งเดิม โดยอ้างจากหลักฐานทางภาษาและวัตถุดิบในท้องถิ่น ได้แก่ คำศัพท์เฉพาะที่เรียกวิธีการทำและขั้นตอนในการทำผ้าบาติก เป็นคำศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย สีที่ใช้ย้อมก็เป็นพืชที่มีในประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงแท่งขี้ผึ้งที่ใช้เขียนลายก็เป็นของประเทศอินโดนีเซีย การทำผ้าบาติกในระยะเวลาแรกนิยมทำเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงหรือทำเฉพาะในวัง ผู้ที่ทำผ้าบาติกมักจะเป็นผู้หญิงและทำหลังจากว่างจากการทำนา

          ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ประชาชนชาวอินโดนีเซียได้ปรับปรุงวิธีการทำผ้าบาติกด้วยการแก้ไขวิธีการผสมสี แต่ทั้งนี้ก็วิวัฒนาการมาจากความรู้ดั้งเดิม ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 การทำผ้าบาติกผูกขาดโดยสุลต่านและถือว่าการทำผ้าบาติกเป็นศิลปะในราชสำนักโดยมีสตรีในราชสำนักเป็นผู้ผลิต ผ้าบาติกในยุคนี้เรียกว่า“คราทอน” (Kraton) เป็นผ้าบาติกที่เขียนด้วยมือ (Batik Tulis) แต่เมื่อผ้าบาติกได้รับความนิยมมากขึ้นและมีลูกค้ามากมาย การทำผ้าบาติกได้ขยายวงกว้างมากขึ้น การผูกขาดโดยครอบครัวสุลต่านก็สิ้นสุดลง ศิลปะการทำผ้าบาติกจึงได้แพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป

         การทำผ้าบาติกในระยะแรกมีเพียงสีครามและสีขาว จนกระทั่งในศตวรรษที่ 17 ได้มีการค้นพบสีต่างๆอีก เช่น สีแดง สีน้ำตาล สีเหลืองและสีต่างๆ เหล่านี้ได้มาจากพืชทั้งสิ้น ต่อมาก็รู้จักผสมสีเหล่านี้ทำให้ออกมาเป็นสีต่างๆ ภายหลังจึงมีการค้นพบสีม่วง สีเขียว และสีอื่นๆ อีกในระยะปลายศตวรรษที่ 17 ได้มีการสั่งผ้าลินินสีขาวจากต่างประเทศเข้ามานับเป็นความก้าวหน้าในการทำผ้าบาติกอีกก้าวหนึ่งโดยเฉพาะเทคนิคการระบายสีผ้าบาติกเพราะเริ่มมีการใช้สีเคมีในการย้อมการระบายสี ซึ่งสามารถทำให้ผลิตผ้าบาติกได้จำนวนมากขึ้นและได้พัฒนาระบบธุรกิจผ้าบาติกจนกลายเป็นสินค้าส่งออกในปี ค.ศ. 1830

          ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้มีการทำเครื่องหมายในการพิมพ์ผ้าบาติกโดยทำเป็นแม่พิมพ์โลหะทองแดงซึ่งเรียกว่า “จั๊บ” (Cap) ทำให้สามารถผลิตผ้าบาติกได้รวดเร็วขึ้น ต้นทุนก็ถูกลง ทดแทนการทำผ้าบาติกด้วยมือพิมพ์ ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์พื้นเมืองในลักษณะของอุตสาหกรรมในครัวเรือน ประชาชนก็เริ่มทำผ้าบาติกเป็นอาชีพมากขึ้น การผลิตผ้าบาติกจากเดิมที่เคยใช้ฝีมือสตรีแต่เพียงฝ่ายเดียว เริ่มมีผู้ชายเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะการพิมพ์เทียนและการย้อมสี สำหรับการแต้มสีลวดลายยังใช้ฝีมือสตรีเช่นเดิม

วิวัฒนาการทำผ้าบาติกในประเทศไทย

         ในประเทศไทยได้มีการทำผ้าบาติกลายพิมพ์เทียนมาก่อนในปี พ.ศ. 2483 ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยสองสามี-ภรรยาชาวไทยเชื้อสายมลายูชื่อ นายแวมะ แวอาลี และ นางแวเย๊าะ แวอาแด ในยุคแรกได้ผลิตเป็นผ้าคลุมหัวสไบไหล่ (Kain lepas) โดยใช้วิธีแกะสลักลวดลายบนมันเทศและมันสำปะหลังมาทำเป็นแม่พิมพ์ ต่อมาได้ผลิตในรูปแบบของผ้าโสร่งปาเต๊ะ (Batik Sarong) โดยใช้แม่พิมพ์โลหะที่ผลิตในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในแถบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ต่อมาภายหลัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมและเผยแพร่การทำผ้าบาติกพื้นฐาน ตามแนวเทคนิคของกรมส่งเสริมฯ ซึ่งส่วนใหญ่มักนิยมใช้โซดาแอสเป็นสารกันสีตก  ส่วนทางภาคเหนือของไทยก็ได้มีการทำผ้าบาติกมานานเช่นกัน จะรู้จักในนามผ้าบาติกใยกัญชา ย้อมด้วยสีอินดิโก้เพียงสีเดียวโดยฝีมือของชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะได้รับอิทธิพลศิลปะบาติกจากประเทศจีนตอนใต้

         ปลายปี พ.ศ. 2523 ประเทศไทยได้กำเนิด “ผ้าบาติกลายเขียนระบายสี” (Painting Batik) ซึ่งเป็นผ้าบาติกที่เขียนลายเทียนด้วยจันติ้ง (Canting) ระบายสีลวดลายบนผืนผ้าทั้งผืนด้วยพู่กัน ไม่มีการย้อมสีโดยใช้สี REACTIVE DYES จากประเทศมาเลเซีย ผลิตในเยอรมันแล้วเคลือบกันสีตกด้วยโซเดียมซิลิเกต เป็นสารกันสีตกแบบถาวร โดย นายเอกสรรค์ อังคารวัลย์ เป็นคนแรกที่ได้นำวิธีการทำผ้าบาติกแบบระบายมาเผยแพร่วิธีการทำผ้าบาติกแนวใหม่นี้ โดยศึกษามาจากประเทศมาเลเซีย และได้แพร่เป็นวิทยาทานเพื่อการศึกษาครั้งแรกแก่คณาจารย์ภาควิชาศิลปะ คณะวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูยะลา (ผศ.นันทา โรจนอุดมศาสตร์ เป็นหัวหน้าภาควิชาในขณะนั้น) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ได้มีการสอนการทำผ้าบาติกแก่นักศึกษาวิทยาลัยครูยะลาในเรื่องบาติกลายเขียนและผ้าบาติกย้อมสี

            ในปี พ.ศ. 2524   วิทยาลัยครูยะลาได้เริ่มทดลองทำผ้าบาติกลายเขียนระบายสี และสอนการทำผ้าบาติกเป็นกิจกรรมในรายวิชาเลือกของหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง วิชาเอกศิลปกรรม และในปี พ.ศ. 2525 สอนการทำผ้าบาติกในรายวิชาศิลปะพื้นบ้าน ในระดับปริญญาตรีศิลปศึกษา (ป.กศ.สูง) และต่อมาได้ทำการสอนในรายวิชาบาติก วิชาเอกออกแบบประยุกต์ศิลป์ ระดับอนุปริญญาจนถึงปัจจุบัน วิทยาลัยครูยะลาได้ทำการเผยแพร่ความรู้ทางด้านบาติกแก่ชุมชน โดยเขียนเป็นบทความลงหนังสือพิมพ์ วารสาร และทางสถานีโทรทัศน์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมและจัดนิทรรศการเผยแพร่ ทำให้บาติกลายเขียนเทียนระบายสีได้รับการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศมาจนถึงปัจจุบันนี้

          “ผ้าบาติก” นับเป็นภูมิปัญญาผ้าไทยที่สะท้อนวัฒนธรรมของชาวไทยถิ่นใต้ได้อย่างมีเสน่ห์น่าหลงใหลจนแพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยการแต่งแต้มลวดลายอ่อนช้อยจากปลายพู่กันลงบนผ้าขาวสะอาดและเทคนิคการเพ้นท์ ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในปัจจุบันนิยมนำผ้าบาติกมาแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋าผ้า ผ้าเช็ดหน้า และผ้าผูกผม เป็นต้น ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนและประเทศชาติสืบไป

เรียบเรียงโดย  นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

Pitchaorn. [ออนไลน์]. “บาติกภูเก็ต อัตลักษณ์สู่ผืนผ้ากว่า 20 ปี”. [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563]  https://live.phuketindex.com/th/batik-phuket-6148.html

เอกสรรค์ อังคารวัลย์. [ออนไลน์]. “ประวัติผ้าบาติก”. [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563]  http://johaneksan.yolasite.com

สยามรัฐออนไลน์. [ออนไลน์]. “สวยมีแนว ผ้าบาติก แดนใต้”. [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563]  https://siamrath.co.th/n/98293