งิ้ว : เปิดตำนานมหรสพจีนที่กำลังเลือนรางไป

          อุปรากรจีนหรืองิ้ว อยู่คู่สังคมไทยมาร้อยปี ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน ในสมัยสุโขทัยและได้เข้ามาตั้งหลักปักฐานในเมืองไทยในสมัยอยุธยา จึงเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกับชาวจีน “งิ้ว” หนึ่งในมหรสพที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรมและแนวคิดการดำรงชีวิตของชาวจีน ที่ยังได้รับการสืบทอดและปรับเปลี่ยนให้สามารถอยู่คู่กับสังคมไทยท่ามกลางความบันเทิงสมัยใหม่หลั่งไหลเข้ามา

          คนไทยเรารู้จัก “งิ้ว”มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกรายวันและจดหมายเหตุ กล่าวถึง  การเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงเดอ ชัวสี ตาชารต์ ทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในคราวที่ติดตาม มองซิเออร์ เลอ เชอวาเลีย เตอโซมองต์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2228 เข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับไทยในสมัยพระนารายณ์ ว่าได้ชมการแสดงงิ้วและพอใจเป็นอันมาก ในบันทึกนั้นเรียกการแสดงของชาวจีนว่า Commedia a la Chinoife และ Une Tragedie Chionife  ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า “ละครจีน”

ประวัติการแสดงงิ้วในประเทศไทย

 

 

 

 

ที่มา : https://www.sanook.com/movie/75121/gallery/526457/
 

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกถึงที่มาของชื่อการแสดง “งิ้ว”อย่างชัดเจน จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระเจ้ากรุงธนบุรี มีการแสดงงิ้วเป็นที่แพร่หลายมาก เนื่องจากชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยมากขึ้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทำให้ชาวไทยกับชาวจีนเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น จากหลักฐานการบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดฯให้จัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ เพื่ออัญเชิญพระแก้วมรดก ซึ่งในขบวนแห่นอกจากจะมีโขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์แล้ว พระองค์ยังรับสั่งให้มี “งิ้ว”ในการแสดงด้วย

          งิ้วได้รับการยอมรับและพัฒนาเป็นธุรกิจบันเทิงมากขึ้น เห็นได้จากกำเนิดโรงสอนงิ้วหลายโรงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งคณะงิ้วหลายคณะใช้ตัวแสดงนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวจีนซึ่งเกิดและตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทย แม้จะมีงิ้วฝึกหัดจากเมืองไทยแล้วก็ตามชาวจีนก็ยังคงนิยมว่าจ้างงิ้วจากเมืองจีนให้มาแสดงในงานประจำปีเสมอ

         การว่าจ้าง ก็มิได้เป็นเรื่องยุ่งยากแต่อย่างใด เริ่มจากคณะงิ้วในเมืองจีนได้แจ้งความประสงค์มายังพ่อค้าใหญ่ โดยยื่นข้อเสนอบางประการรวมทั้งระยะเวลาในการแสดง หากเป็นที่พอใจ ทั้งสองฝ่ายก็เซ็นสัญญาตกลงกันได้โดยทั่วไปแล้วมักทำสัญญาว่าจ้างกันเป็นระยะเวลา ๔ เดือนค่าใช้จ่ายของคณะงิ้วที่จะได้รับจากผู้ว่าจ้างประมาณเดือนละ ๒-๓ พันบาท

 

 

 

 

ตัวพระและตัวนาง
ที่มา : https://www.sanook.com/movie/75121/gallery/526457/

          งิ้วได้วิวัฒนาการดัดแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นทุกยุคสมัย สามารถจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ   ได้ 6 ประเภท ได้แก่ งิ้ววัวกัง งิ้วแต้จิ๋ว งิ้วกวางตุ้ง งิ้วตังคง และงิ้วหลั่งทั้ง งิ้วคณะหนึ่ง ๆ จะต้องประกอบด้วย ตัวงิ้วต่าง ๆ คือ

          1. เซิง (พระเอก)  จำแนกเป็น เหลาเซิง คือ พระเอกที่มีหนวดเครายาวเป็นระเบียบถึงอก มีทั้งหนวดสีขาว และสีดำ เซ่าเซิง คือ พระเอกหนุ่มใบหน้าเกลี้ยงกลา ไม่มีหนวดเครา นอกจากนั้นยังแบ่งเป็น หวู่เซิง คือ พระเอกที่มีฝีมือในการยุทธ และเหวินเซิง คือ พระเอกที่มีความสามารถในการขับร้อง เป็นพระเอกฝ่ายพลเรือน

          2. ต้าน  คือ นางเอก จำแนกเป็น หวู่ต้าน เช่นเดียวกับ หวู่เซิง เหวินต้าน เช่นเดียวกับ เหวินเซิง  นอกจากนี้ยังมี อูซัน แปลว่า เสื้อดำ เป็นนางเอกที่แสดงแต่เฉพาะบทโศก

          3. โฉว่  คือ ตัวตลก เป็นตัวสำคัญของคณะ ไม่แพ้พระเอก และนางเอก และยังเป็นครูบาอาจารย์ ของตัวงิ้วอื่น ๆ อีกด้วย คือ เป็นผู้ฝึกสอนผู้แสดงท่าทางต่าง ๆ ให้สมบทบาท ผู้แสดงร่วมคณะมักเรียก โฉว่ ว่า เหลาซือ (อาจารย์)  ได้รับค่าจ้างสูงกว่า เซิง และต้าน

          4. จิ้งหรืออูเมี่ยน (หน้าดำ) รับบทเป็นผู้ร้ายบ้าง เป็นนายทหารผู้ซื่อสัตย์บ้าง

          5. เมอะ รับบทเป็นคนแก่

          6. จ้า เป็นตัวประกอบที่ไม่สำคัญนัก รับบทเป็นทหารบ้าง คนใช้บ้าง ทาสบ้าง

          ผู้แสดงงิ้วต้องแต่งกายให้สอดคล้องถูกต้องกับกาลสมัยของเรื่องที่แสดง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือใบหน้า ลักษณะใบหน้าของตัวงิ้ว แสดงให้ผู้ชมทราบว่า ตัวงิ้วนั้นมีอุปนิสัยใจคอเช่นใด สีต่าง ๆ ที่ทาและเขียนบนใบหน้าตัวงิ้ว กำหนดไว้สีหนึ่งใช้จำเพาะอุปนิสัยชนิดหนึ่งเท่านั้น

          สีแดง เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญ ซื่อตรง เช่นกวนอู

          สีม่วง เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีความรู้ สงบเงียบขรึม เช่นคนซื่อ

          สีดำ  เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญ ดุร้าย ซื่อตรง เช่น เตียวหุย เปาบุ้นจิ้น

          สีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญชำนาญศึก หยิ่งในศักดิ์ศรีของตน

          สีเขียวใบไม้ เป็นสัญลักษณ์ของโจรป่า อาศัยอยู่ในป่า

          สีเขียว แถบเทา เป็นสัญลักษณ์ของภูตผีปีศาจ

          สีทอง สีเงิน เป็นสัญลักษณ์ของเทวดา พระเจ้า

          สีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญที่เปี่ยมไปด้วยกลอุบาย

          สีขาวชัด เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยมแกมคดโกง

สถานการณ์งิ้วในไทยในปัจจุบัน

 

 

 

 

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/thailand-47249203

           ภาพจำเลือนรางของโรงงิ้วที่เคยมีอยู่มากมายในเยาวราช ถูกปรับเปลี่ยนไปเหลือเพียงแค่เค้าโครงรูปแบบของโรงงิ้วแบบเดิมกับคำบอกเล่าจากผู้คนในย่านนั้นว่า ครั้งหนึ่งที่แห่งนั้นเคยเป็นโรงงิ้วมาก่อน สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้อ่านศึกษาบทความได้ไม่น้อย หลังปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมา มหรสพงิ้วไม่ได้รับ               ความนิยมมากมายเหมือนเมื่อก่อนด้วยสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความนิยมชมในการแสดงงิ้วได้ลดลง  

          1. ความเจริญของสังคมและรูปแบบใหม่ๆของวงการบันเทิง เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น มนุษย์ได้ประดิษฐ์ความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ เช่น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ เป็นต้น เพื่อสร้างความแปลกใหม่และเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ในยุคปัจจุบันภาพยนตร์ดูจะให้ความบันเทิงแก่คนทั่วไปได้มากที่สุด เมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีมานี้ภาพยนตร์จีนจากเซี่ยงไฮ้ได้เข้ามาฉายในกรุงเทพฯ แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่แต่งกายแบบปัจจุบัน ก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนมากที่สุด ช่วงนี้ทำให้งิ้วเสื่อมความนิยมลงชั่วขณะ

          2. จำนวนผู้ชมงิ้วอยู่ในจำกัด การแสดงงิ้วเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีน นิยมใช้ภาษาจีนในการถ่ายทอดความบันเทิง แต่คนจีนรุ่นหลังพวกเขาไม่ได้รับการศึกษาตามแบบอย่างชาวจีนอย่างแท้จริง เมื่อความรู้ภาษาจีนมีน้อย ทำให้ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของบทละครได้ ดังนั้นลูกคนจีนน้อยคนนักจะเข้าใจและซึ้งใจในความไพเราะของภาษาดนตรีและความงามในลีลาการร่ายรำ อันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของบรรพบุรุษตน

          3.  อัตราว่าจ้างมาแสดงมีราคาสูงและความยุ่งยากในการขอใบอนุญาตเล่นงิ้วประจำปี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งใน  การเปลี่ยนแปลง เดิมการจ้างงิ้วมาแสดงมีราคาสูงมากกว่าภาพยนตร์และการละเล่นอื่นๆ และการแสดงในแต่ละครั้งจำเป็นต้องขอใบอนุญาตทำการแสดงงิ้วผ่านสถานีตำรวจของเขตนั้นๆ เมื่อผ่านใบขออนุญาตแล้วทางคณะกรรมการจัดงาน จะต้องเขียนรายชื่อเรื่องที่คณะงิ้วจะแสดงไปแจ้งยังสถานีตำรวจ ทางสถานีตำรวจ  จะกำหนดเวลาในการแสดงว่าอนุญาต ให้แสดงถึงเวลาใด  หากคณะงิ้วแสดงเกินเวลากำหนด หรือถ้าไม่แสดงเรื่องตามที่แจ้งไว้จะมีความผิดทางกฎหมายทันที

การอนุรักษ์การแสดงงิ้ว

          ข้อกำจัดต่างๆล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความนิยมชมการแสดงงิ้วลดลง อุปนายกสมาคมอุปรากรจีนได้ยอมรับว่าปัจจุบันคณะงิ้วเหลืออยู่ราว 30 คณะ และในจำนวนกว่า 20 คณะกำลังเผชิญภาวะวิกฤตเนื่องจากนักแสดงหลายคนเมื่องานลดลงได้ตัดสินใจเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ทำให้เหลือนักแสดงไม่มาก กระทรวงวัฒนธรรมเล็งเห็นความสำคัญของการแสดงงิ้วจึงร่วมกับสมาคมอุปราจีน ดำเนินโครงการถ่ายทอดศาสตร์   การเล่นงิ้วให้กับคนรุ่นใหม่  โดยเปิดสอนตามโรงเรียนต่างๆเป็นชั่วโมงเรียนงิ้ว 3 วัน โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านอุปรากรจีนสู่เด็กและเยาวชน ได้แก่ โรงเรียนราษฎร์บำรุง จังหวัดพิจิตร โรงเรียนสิงห์บุรี โรงเรียนพิมายวิทยา โดยแต่ละโรงเรียนได้นำการแสดงงิ้วไปแสดงการแข่งขันต่างๆ ชนะและได้รางวัลอย่างมากมาย

 

 

 

 

โรงเรียนราษฎร์บำรุง จังหวัดพิจิตร
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/thailand-47249203
         

         ปัจจุบันการแสดงงิ้วสามารถพบได้ที่ “ศาลเจ้า” ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดแสดง เช่น “ศาลเจ้าแป๊ะกง”เป็นศาลเจ้าจะมีงานประจำปีของศาลเจ้าปีละ 2 ครั้ง คือช่วงกลางปีเดือน 6-7 เป็นเวลา 5 วัน และอีกช่วงคือปลายปีประมาณเดือน 9 จะมีงาน 3 วัน กับเทศกาลเทกระจาด จะมีการไหว้เจ้า และแจกทานคนยากไร้ ซึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คืองิ้ว รวมแล้วในหนึ่งปีจะมีการแสดงงิ้ว 8 วัน ซึ่งช่วงปลายปีทุกศาลเจ้าก็จะมีการแสดงงิ้ว  เป็นต้น

          คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “งิ้ว” เป็นศิลปะการแสดงจีนโบราณที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างช้านาน แม้นในปัจจุบันศิลปะการแสดงดังกล่าวจะได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความเจริญของสังคมและรูปแบบใหม่ๆของวงการบันเทิง จำนวนผู้ชมงิ้วอยู่ในจำกัด และปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตามการร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญกับศิลปะนี้ ได้เข้ามาช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์งิ้วให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยอย่างช้านาน

เรียบเรียงโดย  นางสาว ภัทราวดี พลบุญ  ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.[ออนไลน์]. “งิ้ว” สำคัญอย่างไรกับ เทศกาลตรุษจีนในประเทศไทย. [สืบค้นวันที่ 15 สิงหาคม 2562]  http://www.culture.go.th/culture_th/

บีบีซี นาวิเกชัน.[ออนไลน์]. “งิ้ว : ศิลปะโบราณที่ขาดการสืบสาน ตำนานที่รอวัน ปิดฉาก”. [สืบค้นวันที่ 15 สิงหาคม 2562] https://www.bbc.com/thai/thailand-47249203

NATIONAL GEOGRAPHIC ASIA.[ออนไลน์]. “สำรวจอาชีพแปลก : คนเล่นงิ้ว”. [สืบค้นวันที่ 15 สิงหาคม 2562] https://ngthai.com/cultures/6230/talking-with-chinese-opera-actors/