โดย นางสาวเพ็ชรดา เพ็ชรรัตน์ ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพชรบุรี
1. ประวัติไทยทรงดำ
ไทยดำหรือ “ลาวโซ่ง” ซึ่งความเป็นจริงคนกลุ่มนี้มิใช่คนลาวจากประเทศลาว แต่เป็นไทยดำจากเมืองเคียนเบียนฟู (เมืองแถง) ในประเทศเวียดนามที่ถูกเรียกว่าลาวเพราะอพยพผ่านประเทศมาพร้อมกับคนลาวในเวียงจันทร์ และลาวเมืองพวน อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เป็นเมือง 3 ลาว คือ ลาวเวียง (ต.สระพัง) ลาวพวน(ต.หนองปลาไหล) แต่ส่วนใหญ่เป็นลาวโซ่ง 80 % คำว่า “โซ่ง” เป็นคำที่ถูกเรียกเพราะนุ่งส่วงดำ (กางเกงดำ) จึงกลายมาเป็นโซ่งคนส่วนใหญ่ชอบเรียกไทยทรงดำ การอพยพมี 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการกวาดต้อนสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีราว พ.ศ. 2322 จากเมืองทัน เมืองม่วย ซึ่งอยู่ในชายแดนเวียดนามติดกับประเทศลาว คนไทยได้กวาดต้อนไทยดำพร้อมลาวในเวียงจันทร์ และเมืองพวนมาอยู่ที่ธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้ลาวเวียงอยู่ที่ราชบุรี ลาวพวนอยู่ที่ธนบุรี ส่วนไทยดำอยู่ที่เพชรบุรี ครั้งที่ 2 สมัย ร.3 ราว พ.ศ. 2371 ครั้งนี้อพยพลงมามากมาย เมื่อ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเดียนเบียนฟู ท่านได้เกณฑ์ให้ทหารลาวโซ่งที่กวาดต้อนมาครั้งสมัยกรุงธนบุรีเป็นทหารหลายร้อยคน ทำให้ทหารเหล่านั้นพบญาติพี่น้อง และเห็นว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ดีจึงอพยพมาอยู่ซึ่งตรงกับข้อเขียนของ ม.ศรีบุษรา เขียนเรื่องไทยดำรำพันว่า “การอพยพโยกย้ายพี่น้องไทยดำ ให้มาอยู่เมืองไทยอย่างสงบสุขปลอดภัยจากการกดขี่ข่มเหงของศัตรู” แผ่นดินสิบสองจุไทยมีหลายเผ่า เช่น แม้ว เย้า ยาง ข่า แต่ถือว่ามิใช่พี่น้องไทย ไทยดำมีลักษณะเป็นเผ่าไทยแท้มากที่สุด เพราะเป็นไทยดำ และเข้าใจถึงการอพยพหาแหล่งทำกินเป็นเรื่องปกติและมีพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์มาอยู่ก่อนแล้ว จึงสนับสนุนว่าครั้งสมัย รัชกาลที่ 3 เป็นการอพยพของไทยดำ
บ้านลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ลาวเรียก “กวังตุ๊บ” หรือเฮือน ลาวมี 3 ส่วน ส่วนหน้าเรียกว่า “กว๊าน” ใช้รับแขกส่วนกลางใช้นอนและทำอาหาร ส่วนหลังที่พักแขกชั่วคราว ที่มุมห้องจะมีกะล้อห่องซึ่งเป็นกลาโหมของบ้านคือเป็นผีเรือนที่คุ้มครอง การสร้างใช้เครื่องผูกมิใช้ตะปู พื้นใช้ผาก (ไม้ไผ่ผ่าเป็นแผ่นๆ ปูติดต่อกัน) ใช้เสาไม้มีบันได 2 บันไดและ 3 บันได ขั้นบันไดจะกลมใต้ถุนบ้านสูงโล่งมีตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง หอหูก ปั่นด้าย นอกชายคาบ้านจะมีแคร่ไว้เก็บไหปลาร้า ซึ่งตั้งไว้กลางแดดกันหนอนสำหรับไหอาหารจำเป็นของไทยทรงดำอำเภอเขาย้อยจะมี ไหเกลือ ไหมะขามเปียก ไหหน่อไม้ดอง เนื่องจากเป็นคน ประหยัดจึงมีเงินเก็บมาก ไม่ค่อยถอนออกไปใช้จึงเป็นไหเงินไหทองของจังหวัดรวมมี 5 ไห (ไหที่กล่าวที่หลังจะอยู่ในร่ม) หลังคาตรงหน้าจั่วจุมีลักษณะคล้ายเขาควาย โง้งงอเข้าหากัน เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์แห่งชัยชนะความสำเร็จ
3. การแต่งกายของไทยทรงดำ
การแต่งกายของไทยทรงดำเป็นเผ่าพันธุ์ที่สุดประหยัดเพราะไม่ว่างานมงคลหรืออวมงคลใช้เสื้อแบบเดียวกันที่ใช้มีอย่างละ 2 แบบ สีหลัก 2 สี คือ ขาวและดำ สีอื่นเพียงเพื่อให้สวยงาม มีอีก 3 สี คือ เขียว เหลือง แดง
การแต่งกายชาย กางเกงชายมี 2 แบบ ส่วงขาม้า (ส่วงฮี) ขาสั้น เรียกส่วงก้อม (คำว่า “ก้อม” หมายถึงพอดีตัว ) ส่วงก้อมคล้ายกางเกงขาก๊วยของจีน เสื้อมี 4 แบบคือ
- เสื้อไท เป็นเสื้อตั้งแขนยาว รัดเอว ปลายย้วยเล็กน้อยกระดุมเงิน 2 ซุม ๆ ละ 9 เม็ด ใส่ไปเที่ยวติดกระดุมไม่ตรงรังคุมจะถูกตำหนิขาดความรอบคอบ คาดด้วยหลวม (กระเป๋า) เอาไว้ใช้เก็บของยาสูบ ไฟชุด (เครื่องขีดให้เกิดประการไฟจนติดไฟได้) เสื้อไทใช้กับส่วงก้อมหรือส่วงฮี
- เสื้อฮี คอกลมแขนยาวใช้ในพิธีการ ความงามอยู่ด้านข้าง โชว์ลายซึ่งเรียกว่า “ขอกุด” ชายใส่ด้านเดียวเสื้อฮีใส่ในพิธีสำคัญ เช่น งานตาย การแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่
- เสื้อห่งเห่ง คอเสื้อติดกระดุม 5 เม็ด ด้านข้างแหวกประมาณ 1 คืบ ใช้ใส่ทำงาน
- เสื้อก้อม คอตั้งติดกระดุม 5 เม็ด ด้านข้างโค้งเว้าตามสะโพก ใส่ในงานไม่เป็นพิธี
การแต่งกายหญิง หญิงมักจะมีผ้าซิ่นลายแตงโมประกอบด้วย ผ้า 3 ชิ้น คือตีนซิ่น ตัวซิ่น หัวซิ่น หญิงแต่ละวัยนุ่งไม่เหมือนกัน ดังคำว่า “สาวน้อยขอดซอยเอื้อมไหล่ สาวใหญ่ๆ นุ่งซิ่นต่อตัว สาวมีผัวนุ่งซิ่น 2 ซ้อม” นอกจากผ้าถุงผ้าฝ้ายก็ยังมีผ้าถุงผ้าไหม เรียก ซิ่นตาหมี่สวยงาม ใช้ในพิธีเสน ปัจจุบันไม่นิยมนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพราะทอยาก คนยุคใหม่แทบไม่รู้จักซิ่นตาหมี่ เสื้อหญิงมี 4 แบบ
- เสื้อฮี หญิงใช้เย็บสวมได้ 2 ด้าน งานมงคลมีลวดลายน้อย งานอวมงคล ลวดลายมาก และใช้คลุมโลงศพเวลาตาย ปกติใช้เสื้อก้อมเป็นเสื้อแขนยาวคอตั้งติดกระดุม 9 เม็ด หรือ 11 เม็ด ตรงสายเหนือสะดือ จะเว้านิ้วครึ่ง ตรงเอวจะคอดและผายออก เพื่อโชว์หน้าท้องและเข็ดขัดเงินเป็นจุดเซ็กซี่
- เสื้อห่งเห่ง เสื้อคอตั้งติดกระดุม 5 เม็ดใส่ทำงาน
- เสื้อชั้นในหญิงก็จะใช้สีดำหรือสีขาว เป็นจีบรอบตัว แขนเล็กขึ้นไปจากตัวเสื้อคล้ายเสื้อกระโปรง ในปัจจุบัน คือเสื้อสายเดียว
- สไบ สาวๆ ใช้ผ้าสี มีอายุใช้ผ้าเปียวหรือผ้าฮ้างนม สีดำมีดอกสวยงาม ไทยทรงดำจากเดียนเบียนฟู ใช้โพกศีรษะมีลักษณะเหมือนกันผ้านุ่ง จะนุ่งหน้าสั้นหลังยาว ชายพับมารวบตรงกลางตลบหลังทับหันตรงหน้าท้อง เรียก “ทบหน้าวัว” สะดวกในการเดินทางเนื้อผ้าซิ่นไม่แยก เวลาทำงานหนักมักใช้สไบคาดสะโพกดูเข้มแข็งทะมัดทะแมง หญิงไทยดำขยัน เวลาตายจะนุ่งผ้า 3 ถุง ต้องเป็นผ้าซิ่นลาว และมีผ้าไหมปิดหน้า ถ้าไม่มีจะถูกตำหนิว่าไม่รู้จักการควรไม่ควร
4. ทรงผมไทยทรงดำ
มีคำกล่าวว่า “ลาวหางขาด” หมายถึง เดี๋ยวนี้คนลาวไม่ไว้ผมปั้นเกล้าปลายผมห้อยมาเป็นหางจิว ไทยทรงดำหากผสมกับไทยเรียกว่า “จ้าจาม” ทรงผมสาวลาวในอดีต
- เอื้อมไหล่ เด็กสาวอายุ 13 – 14 ปี ผมยาวประไหล่
- สับปลิ้น เด็กสาวอายุ 14 – 15 ปี ผมยาวตลบปลิ้นขึ้นด้านบน
- ช่อดอกแค เด็กสาวอายุ 15 – 16 ปี จุกเป็นผมไว้หน้าปล่อยปลายคล้ายดอกแคหรือ หางนกกะแล
- ทรงจุกต๊บ เกล้าเป็นจุกไว้บนศีรษะและหักทบมารวมกันไว้กลางศีรษะคล้ายหอยโข่ง
- ผมขอดกระต๊อก อายุ 16 – 17 ปี รวบไว้ใช้ผมสอดเข้าในผม คือชายผมออกด้านขวา
- ผมขอดซอย อายุ 17 – 18 ปี ผูกผมเป็นเงื่อนตายปล่อยชายลงทางซ้าย
- ผมปั้นเกล้าซอย อายุ 19ปี เริ่มสาว เกล้าผมไว้กลางศีรษะชายผมห้อยขวา
- ผมปั้นเกล้าต่วง อายุ 20 ปี เป็นสาว เกล้าผมไว้บนศีรษะ คล้ายหูกระต่าย ชายผมห้อยซ้าย
- ทรงผมม่าย เหมือนปั้นเกล้าต่วงแต่ไม่ต้องมีต่วง
- ทรงผมไว้ทุกข์ รวบผมตรงท้ายทอยผูกด้วยเส้นฝ้ายขาว เผาศพสามีแล้วปั้นเกล้าต๊ก (คือไม่ตั้งตระหง่าน) ประมาณ 1 ปี ก็ปั้นเกล้าเหมือนเดิม
5. เครื่องประดับ
เด็กหญิงใช้ผูกจับปิ้ง เด็กชายผูกสายพวย ซึ่งจะมี รูปหอย ปู กุ้ง ปลา ร้อยรอบเอว จับปิ้งเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมใช้ปิดอวัยวะเพศหญิง หรือใช้กะลามะพร้าวเป็นรูปหัวใจ ใช้ปลอกคอเงินกลม มีตะขอเกี่ยวด้านหลังใช้จนอายุ 13 ปี จึ่งถอดเมื่อเริ่มเป็นหนุ่มสาว หญิงเจาะรูหู ผูกเชือกดำที่รูหู หรือใส่กระเทียมใส่ตุ้มหูห่วงเล็ก ๆ ผู้ชายไม่เจาะหู
มู่ คือ หมวกเด็กชาย เด็กหญิงเป็นสี่เหลี่ยมหน้าสั้นหลังยาวถึงท้ายทอย มุมบน 2 มุม ประดับด้วยกระจก ผ้าหลายสี เด็กชายจะทำเป็นรูปทรงกลม ตกแต่งด้วยการเย็บดอกสร้อยพานพานหลา เป็นห่วงเท่าตระกรุดทองสลับลูกปัดสีดำ ใช้คล้องสะพายไหล่ขวา ใช้กับหญิงสูงอายุ
ตุ้มหู ที่นิยมใช้เป็นก้านยาว งอลงมามี 3 แบบ แบบสาว เรียก สากกระบือน้ำหยด (คนไทยเรียกน้ำหยด) รูปร่างคล้ายไม้ตีพริกห้อยตุ้งติง สาวใหญ่คล้ายดอกพิกุลแต่ก้านยาว บ่องหูเป็นลักษณะกลมใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ซม. ตรงใส่รูหูจะใหญ่ 1 ซม. บ่องหูเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ผู้สูงอายุ
6.การละเล่น
การรำแคน การอิ้นกอน (เล่นลูกช่วง) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวราวเดือน 5 เป็นงานที่เปิดโอกาสให้ชายหญิงได้พบปะฟ้อนรำ ร้องเพลงเกี้ยวกัน และมีการละเล่นโยนลูกช่วง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทอดมะกอน” มีหญิง-ชาย ชาวไทยทรงดำหลายคู่ได้พบรักและแต่งงานกันจากการอิ้นกอน
7.อาหาร
อาหารของชาวไทยทรงดำส่วนใหญ่จะเป็นอาหารรสจัด เช่น แกงหน่อส้ม ปลาเค็ม แจ่วเอือดด้าน ผักจุ๊บ และข้าวเหนียว
8. พิธีกรรม
ขึ้นบ้านใหม่ เมื่อปลูกเรือนใหม่ จะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ มักทำเวลาบ่ายหลังจาก 15.00 น. ขึ้นไป ถือเป็นพิธีชั้นกลาง หมอพิธีจะมาข่มขวง คือ สิ่งเลวร้ายผีร้ายออกจากไม้ไปอยู่ที่อื่นแล้วจึงเอาผีขึ้นบ้าน
พิธีเสน พิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของไทยทรงดำ ผีเรือนคือผีบรรพบุรุษที่ได้เชิญมาไว้บนบ้านและจัดให้อยู่ ณ มุมห้อง ๆ หนึ่ง ประเพณีเสนจัด 2 – 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง การเสนจะยกเว้นเดือนเก้าและเดือนสิบ เพราะการเสน 2 เดือนนี้ เชื่อกันว่าผีไปเฝ้าแถน ชาวไทยทรงดำเชื่อกันว่าเมื่อเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีจะคุ้มครอง รักษาตนเองและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า
พิธีแต่งงานของไทยทรงดำ พิธีแต่งงานของไทยทรงดำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “งานกินดอง” มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
- ส่อง คือการหมั้น
- สู่ คือ การไปมาหาสู่ หรืออยู่ร่วมกันก่อนแล้วจึงแต่งทีหลัง
- สา คือ ฝ่ายชายไปทำงานรับใช้อยู่บ้านเจ้าสาว 1 – 5 ปี ก่อนแต่งงาน
- ส่ง คือ พิธีส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าวในวันแต่งงานประเพณี
การทำศพของไทยทรงดำ ชาวไทยทรงดำ ถือว่าการตายเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อมีการตาย ญาติพี่น้องผี เดียวกันจะหยุดทำงานทุกอย่าง เพื่อเป็นการไว้ทุกข์และช่วยกันจัดการเกี่ยวกับประเพณีงานศพนั้น เรียกว่า “กำบ้าน กำเมือง” และถือเป็นความโศกเศร้าจนกว่าจะนำศพไปเผาแล้วจึงจะมีการทำงานตามปกติ