การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ : ตอนที่ 1 รัชกาลที่ 1 – 5

เมื่อครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2325  ศิลปะ  วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามต่างๆ ถูกสืบทอดมาจากสมัยอยุธยาแทบทั้งสิ้น  รวมถึงลักษณะการแต่งกายด้วยเช่นกัน  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงใช้รูปแบบและลักษณะการแต่งกายเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา  ต่อมาภายหลังเมื่อความเจริญของชาวตะวันตกได้แพร่ขยายอิทธิพลเข้ามาจึงเริ่มมีการดัดแปลงลักษณะการแต่งกายของชาวตะวันตกผสมผสานกับการแต่งกายแบบดั้งเดิมเพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น  ผนวกกับการปรับปรุงประเทศของกษัตริย์ไทยในสมัยนั้นที่ต้องการให้ประเทศมีความก้าวหน้าทันสมัยและก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก

ตั้งแต่สมัยอยุธยาจวบจนกรุงรัตนโกสินทร์ลักษณะการแต่งกายไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการนุ่งหรือประเภทของผ้าที่นุ่งจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมใส่ว่าเป็นขุนนาง  เป็นชนชั้นสูง  หรือเป็นชาวบ้าน  โดยการแต่งกายในแต่ละยุคแต่ละช่วงของกรุงรัตนโกสินทร์  สามารถจำแนกตามยุคสมัยรัชกาลได้ดังนี้

สมัยรัชกาลที่ 1 – 3  พ.ศ. 2535 – 2394

ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงแต่งกายตามรูปแบบดั้งเดิมตามสมัยอยุธยา  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมดังนั้นลักษณะการแต่งกายจึงต้องมีความทะมัดทะแมง  โดยผู้ชายจะนุ่งโจงกระเบนถกสั้นเหนือเข่า  ไม่สวมเสื้อ  ไม่สวมรองเท้า  หากอยู่บ้านจะนุ่งผ้าลอยชายหรือนุ่งโสร่ง  มีผ้าคาดพุ่ง  ผมทรงมหาดไทยหรือชาวบ้านจะเรียกว่า ทรงหลักแจว  สำหรับผู้หญิงเวลาทำงานนุ่งโจงกระเบนและห่มตะเบ็งมาน  เวลาอยู่บ้านคาดผ้าแถบ  แต่เมื่อออกนอกบ้านจะนุ่งผ้าจีบ  ห่มสไบทับผ้าแถบอีกที ทรงผมถ้าเป็นสาวจะตัดสั้นแบบดอกกระทุ่มแล้วปล่อยท้ายยาวงอนถึงบ่า  ถ้าเป็นผู้ใหญ่ตัดผมปีกแบบโกนท้ายทอยสั้นเหมือนผู้ชาย

ภาพที่ 1 นุ่งโจงกระเบน-ชาย
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ภาพที่ 2 นุ่งโจงกระเบน-หญิง
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ภาพที่ 3 ทรงผมของผู้หญิงช่วงรัชกาลที่ 3-4
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ภาพที่ 4 ผมทรงมหาดไทย
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ผ้านุ่งของชาวบ้านนั้นมักนุ่งผ้าพื้นเมืองเป็นผ้าสีพื้นหรือผ้าลายเนื้อเรียบๆ  ต่างจากขุนนางชั้นสูงและพระมหากษัตริย์จะใช้ผ้าทอเนื้อละเอียดสอดเงินสอดทองหรือผ้าไหมอย่างดี  เช่น  ผ้ายกทอง  ผ้าปูม  ผ้าสมปัก  โดยเฉพาะผ้าสมปักนี้พระมหากษัตริย์จะพระราชทานเป็นเครื่องยศหรือพระราชทานให้กับผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ใช้นุ่งตามตำแหน่งชั้นยศ  ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าพระยามาจนถึงผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นหลวง  ซึ่งแต่ละชั้นยศก็จะมีลักษณะของผ้าและชื่อเรียกแตกต่างกัน

สำหรับการแต่งกายของขุนนางหรือชนชั้นสูงนั้น  ผู้ชายเวลาอยู่บ้านนุ่งโจงกระเบนหรือนุ่งลอยชาย  ไม่สวมเสื้อ  อาจมีผ้าพาดบนบ่า  การสวมเสื้อจะสวมเฉพาะเมื่อเข้ากระบวนแห่  ออกรบ  หรืออยู่ในพิธีสำคัญ  สำหรับผู้หญิงจะนุ่งโจงกระเบน  หรือนุ่งผ้าจีบ  และห่มสไบ  ซึ่งผ้าสไบของชนชั้นสูงนี้จะมีการปักดิ้น  หรือประดิดประดอยตกแต่งหรูหรา  ถ้าเป็นของเจ้านายชั้นสูงจะใช้ราชาศัพท์ว่า ผ้าทรงสะพัก  จะเป็นผ้าตาดทอง (ตาด เป็นภาษาเปอร์เซียแปลว่า ทอ)  คือผ้าที่ทอด้วยทองแล่ง หรือแผ่นเงินชุบทองตัดเป็นเส้นเล็กๆ แล้วนำมาทอกับผ้าไหม

ลักษณะการแต่งกายของคนในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงจนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4

สมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 – 2411)

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4  ทรงโปรดเกล้าให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก  โดยทรงมีดำริว่า  การไม่สวมเสื้อนั้นดูล้าสมัย  ชาวต่างชาติจะมองว่าคนไทยเป็นคนป่า  โดยพระองค์ทรงเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงจะพบเห็นได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนใหญ่ของพระองค์จะทรงชุดแบบฝรั่ง  คือ ทรงฉลองพระองค์ (เสื้อ) และสนับเพลา (กางเกง)  แบบฝรั่ง  หรือบางภาพทรงฉลองพระองค์เสื้อนอกเปิดพระศอ  พระภูษาโจงกระเบนแบบไทย

ภาพที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4 ทรงฉลองพระองค์เสื้อนอกเปิดพระศอพระภูษาโจงกระเบนแบบไทย
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ภาพที่ 6 สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีทรงแต่งพระองค์แบบโบราณ  ห่มพระภูษาตาด
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ส่วนชนชั้นสูงหรือขุนนางผู้ชายจะนุ่งผ้าม่วงแพรโจงกระเบน  สวมเสื้อนอกเหมือนพวกบ้าบ๋า (ชายชาวจีนที่เกิดในมลายู)  สวมเสื้อเปิดอกเปิดคอหรือเป็นเสื้อกระบอกแขนยาว  แต่ทรงผมยังคงเป็นทรงมหาดไทยเช่นเดิม  เฉพาะราชทูตที่จะไปต่างประเทศจึงจะแต่งตัวแบบฝรั่งคือ  สวมกางเกง  ใส่เสื้อนอกคอปิด  สวมรองเท้าคัทชู  และตัดผมทรงฝรั่ง  แต่เมื่อกลับมาประเทศไทยจะกลับมาไว้ทรงมหาดไทยเช่นเดิม

การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการแต่งกายเพราะ “อายฝรั่ง” นั้นไม่ได้แพร่หลายไปถึงชาวบ้านทั่วไป ส่วนใหญ่ยังคงไว้ผมปีก  ห่มสไบ นุ่งผ้าจีบ  ผ้าโจงเหมือนรัชกาลก่อนๆ ผู้หญิงยังคงนิยมนุ่งผ้าลายโจงกระเบน  นุ่งจีบ  ใส่เสื้อกระบอก  คือมีลักษณะผ่าอก  คอตั้งปลาย  แขนยาวถึงข้อมือ  เสื้อจะพอดีตัวยาวเพียงเอว แล้วห่มสไบจีบเฉียงบนเสื้ออีกที  เมื่ออยู่บ้านยังคงนุ่งผ้าแถบและหากทำงานกลางแจ้งยังห่มตะเบ็งมานเช่นเดิม  ซึ่งเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนคนรุ่นเก่าหมดไป  สำหรับทรงผมจะยังคงเป็นผมปีก  ด้านหลังตัดสั้น  บางคนโกนผมขึ้นเหมือนทรงมหาดไทยของผู้ชาย  อาจมีการปล่อยชายผมให้ตกริมหูทั้งสองข้าง  หรือเรียกว่า ผมทัด

การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังเป็นคนกลุ่มเล็กๆ  ซึ่งเป็นเจ้านาย  ขุนนางและชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 นี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาวัฒนธรรมการแต่งกายของชาติตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมการแต่งกายดั้งเดิมของไทย  ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5  การแต่งกายแบบผสมผสานนี้จึงเกิดการแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงประเทศหลายด้าน  เนื่องจากปัจจัยภายนอกเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชาติทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้ชาติตะวันตกมองว่าเราเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน” สำหรับการปรับเปลี่ยนประเพณีการแต่งกายนั้น  ในหลวงรัชกาลที่ 5  ทรงให้ชายไทยในราชสำนักยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย  เมื่อปี พ.ศ. 2414  โดยให้เปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวอย่างฝรั่ง  ให้นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีต่างๆ และให้ยกเลิกการนุ่งผ้าสมปักแบบเดิม  สวมเสื้อคอปิดกระดุม 5 เม็ด  หรือที่เรียกว่า “เสื้อราชประแตน” ที่ทรงเป็นผู้คิดแบบขึ้นเป็นครั้งแรก  ซึ่งทรงเห็นว่าเสื้อเปิดอกแบบฝรั่งต้องมีเสื้อชั้นในทำให้ร้อน  จึงให้ตัดเสื้อใส่ชั้นเดียวมีกระดุมกลัดตลอดอกขึ้นใส่แทน  ภายหลังต่อมาในปี 2438  จึงมีพระราชโองการให้ข้าราชการทหารทุกกรมกองแต่งเครื่องแบบนุ่งกางเกงอย่างทหารในยุโรป  ส่วนผู้หญิงนั้นทรงให้เลิกไว้ผมปีกและให้ตัดผมยาวทรงดอกกระทุ่มแทน  สำหรับการแต่งกายนั้นจะสวมเสื้อแบบอังกฤษคือมีคอตั้งแขนยาว  มีแขนพองตั้งแต่ไหล่จนถึงต้นแขนแล้วจึงแนบกับลำแขนไปจนถึงข้อศอก  หรือที่เรียกว่า เสื้อแขนหมูแฮม  แต่ยังคงมีการห่มแพรแบบสไบเฉียงทับบนเสื้ออีกที  ส่วนผ้านุ่งยังคงนุ่งโจงกระเบนผ้าม่วง  ผ้าลาย  หรือผ้าพื้นให้เข้ากับเสื้อสี  สวมถุงเท้าและรองเท้าคัทชู  นอกจากนี้สตรีชาววังบางคนนิยมนำผ้าลูกไม้  ผ้าไหม  ผ้าแพรเนื้อดีจากยุโรปมาประดับตกแต่งตัวเสื้อ  คอ  และแขน  เพื่อเพิ่มความสวยงามในแบบของตนอีกด้วย

ภาพที่ 7 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงฉลองพระองค์แบบเสื้อนอกเปิดพระศอ
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ภาพที่ 8 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  ในรัชกาลที่ 5  ฉลองพระองค์เต็มยศใหญ่อย่างโบราณ  แต่พระกรฉลองพระองค์เป็นแบบดัดแปลงแบบตะวันตก  ที่เรียกว่า  “แขนหมูแฮม”
ที่มา : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, 2555

การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้มีเจ้านายและขุนนางเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากนั้นจึงเริ่มแพร่หลายสู่ราษฎรทั่วไป  ในช่วงต้นรัชกาลหญิงสามัญชนทั่วไปจะยังคงนุ่งโจงกระเบนและสวมเสื้อกระบอก  ผ่าอก  แขนยาว  ห่มแพรจีบตามขวางสไบเฉียงทาบบนเสื้ออีกชั้นหนึ่ง  แต่ถ้าอยู่บ้านจะห่มสไบไม่สวมเสื้อ  ส่วนผู้ชายจะนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อราชประแตน ถือไม้เท้า  เมื่อไปงานพิธีต่างๆ จะใส่ถุงเท้าและรองเท้า  ช่วงกลางรัชกาล  ผู้หญิงจะนุ่งผ้าจีบไว้ชายพกสวมเสื้อแขนหมูแฮม  มีผ้าห่มหรือแพรสไบเฉียงตามโอกาสทับเสื้ออีกที  สวมรองเท้าบูทและสวมถุงเท้าตลอดน่อง  ส่วนผู้ชายยังคงแต่งกายเหมือนช่วงต้นรัชกาล

ภาพที่ 9  ข้าราชการมหาดไทยมณฑลฝ่ายเหนือ  นุ่งโจงกระเบนและสวมเสื้อราชประแตน
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

เมื่อถึงช่วงปลายรัชกาล  ผู้หญิงจะนุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อแบบตะวันตกตัดจากแพรไหม  ลูกไม้  แขนยาวพองฟู  เอวเสื้อผ้าจีบเข้ารูปหรือคาดเข็มขัด  หรือห้อยสายนาฬิกา  สะพายแพร  สวมถุงเท้ามีลวดลายปักสีและสวมรองเท้าส้นสูง  เริ่มมีการแต่งหน้าโดยใช้เครื่องสำอางแบบตะวันตกและมีการขัดฟันให้ขาว  ส่วนผู้ชายจะนุ่งกางเกงแบบฝรั่งแทนการนุ่งโจงกระเบน  สวมหมวกกะโล่  สำหรับข้าราชการจะแต่งกายด้วยเครื่องแบบตามพระราชกำหนดเหมือนอารยะประเทศ

ภาพที่ 10  เสด็จประพาสอินเดีย พ.ศ. 2414  คณะเดินทางแต่งกายแบบฝรั่งแต่ยังคงนุงโจงกระเบนแบบไทย
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ภาพที่ 11  การแต่งกายของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 5
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของคนไทยอย่างแท้จริง  เนื่องจากทรงเสด็จประพาสยุโรปและได้ทรงนำแบบอย่างการแต่งกายแบบยุโรปกลับมาใช้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายนี้ยังเป็นไปเฉพาะเจ้านายในราชสำนักและชนชั้นสูงที่มีกำลังทรัพย์  ชาวบ้านทั่วไปที่ยังตามไม่ทันหรือไม่มีกำลังพอที่จะทำตามก็จะแต่งเพียงเท่าที่จะทำได้  อย่างง่ายที่สุดก็คือการเปลี่ยนทรงผม  สวมเสื้อธรรมดา  นุ่งผ้า  และสวมกางเกงแพรของจีนอย่างง่ายๆ

วิวัฒนาการการแต่งกายของไทยในช่วงต้นของรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5  หรือระหว่างปี พ.ศ. 2325 จนถึงปี พ.ศ. 2453  รวมระยะเวลา 128 ปี  เป็นช่วงเวลาที่ลักษณะการแต่งกายของคนไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจากความต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศมิให้ชาติตะวันตกมองว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่มีอารยธรรมและไม่อยากให้คนไทยถูกดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนบ้านป่าเมืองเถื่อน  จึงได้รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมการแต่งกายดั้งเดิมของไทย  เกิดเป็นรูปแบบการแต่งกายแบบผสมผสานที่มีความงดงาม  กลมกลืน  และยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย

เรียบเรียงโดย นางสาวจินตนา  ปรัสพันธ์  นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ
ฝ่ายอุทยานการศึกษา  สำนักการศึกษาต่อเนื่อง  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้. (2555). [ออนไลน์]. วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561]. จาก http://valuablebook2.tkpark.or.th/2015/6/book_index.html.

อัจฉรา สโรบล. (2550). [ออนไลน์]. เอกสารประกอบการสอน 006216 : History of Costume (ประวัติเครื่องแต่งกาย). [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561]. จาก http://www.human.cmu.ac.th/home/
hc/ebook/006216/006216-03.pdf

อเนก  นาวิกมูล. (2547). การแต่งกายสมัยรัตน์โกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.

Leave a Reply

Your email address will not be published.