สำนักการศึกษาต่อเนื่องร่วมกับศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.อุบลราชธานี ได้ส่ง การแสดงชุด “ฟ้อนรำลายเกราะ” ร่วมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาครั้งที่ 21 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สำนักการศึกษาต่อเนื่อง ร่วมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 โดยในปี 2566 มรภ.อุบลราชธานี เจ้าภาพ (ผู้จัดงานฯ) จัดพิธีเปิดยิ่งใหญ่ “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” ผู้ร่วมงานกว่า​ 2,000 คน ได้สัมผัสความสุขและมีส่วนร่วมอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมและชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม
4 ภาคจากมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคต่างๆ อย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา​ วิทยาศาสตร์ วิจัย​ และนวัตกรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา​ ครั้งที่ 21 ณ สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และรองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวรายงาน​ วัตถุประสงค์การจัดงาน มีผู้เข้าร่วมงานซึ่งมาจากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศและในประเทศแถบอินโดจีนอีก 3 ประเทศ รวมแล้วเกือบ 100 สถาบัน รวมถึงประชาชนทั่วไป เข้าร่วมพิธีกว่า 2,000 คน ทั้งนี้เจ้าภาพใช้สนามกีฬากลางแจ้งเป็นสถานที่จัดงานจัดการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ เชิญ ฉวีวรรณ ดำเนิน และ ฉลาด ส่งเสริม (ป. ฉลาดน้อย​ ส่งเสริม) ศิลปินแห่งชาติร่วมแสดง
พร้อมการแสดงจากนักศึกษาอีกหลายชุด ท่ามกลางบรรยากาศแสนสนุกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างใกล้ชิด

สำหรับการจัดงานมีขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 ก.พ. 66 มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมแสดงศิลปวัฒนธรรม 91 สถาบัน
มีชุดการแสดงจำนวน 105 ชุด ร่วมแสดง ในโอกาสนี้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โดยฝ่ายอุทยานการศึกษา (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) สำนักการศึกษาต่อเนื่องร่วมกับศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ.อุบลราชธานี ได้ส่ง
การแสดงชุด “ฟ้อนรำลายเกราะ” ร่วมแสดงในงาน
การแสดงฟ้อนรำลายเกราะเป็นการนำแนวคิดจากเครื่องดนตรีภาคอีสานที่มีชื่อเรียกว่า “เกราะลอ” ที่เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่ใช้ตีในวงโปงลางมานำเสนอให้เห็นคุณค่าและใช้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดง การแสดงการผสมผสานเสียงเครื่องดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวไปสู่ผู้ชม สะท้อนให้ถึงลีลาท่าทางและความงดงามของหญิงสาวที่ใช้เครื่องดนตรีเกราะลอ เป็นสื่อในการแสดงออกถึงความสนุกสนาน อีกทั้งสอดแทรกเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสาน

การจัดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดศิลปวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย
อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ และเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพเพื่อ
เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์สืบสาน และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงออกตามความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการ
เชื่อมความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาให้ได้นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่น
ที่เป็นเอกลักษณ์แต่ละภูมิภาคมาแสดงเผยแพร่ ทั้งประเทศไทยยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งพลังที่สูงมากต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้มาเพื่อบริโภคและรับบริการสินค้าด้านศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกิดเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม
หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อทำให้เกิดคุณค่า ก็สามารถจะสร้างเป็นรายได้ เป็นความมั่งคงที่ยั่งยืนแก่ชุมชนและประเทศต่อไปสำหรับการจัดงานครั้งนี้จัดภายใต้แนวคิดการจัดงาน “ยลแสง – ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” มีความหมายว่า
ทุกท่านที่เดินทางมาร่วมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาครั้งที่ 21 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จะได้ยลความงดงามของเมืองแห่งแสงแรก แสงธรรม แสงเทียน ธรรมชาติงดงาม พร้อมทั้งได้สัมผัสสุนทรียศิลป์ จากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม ทรงคุณค่า จากทุกภูมิภาคของไทย และมีความสุขในระหว่างเยือนมหาวิทยาลัยแห่งความสุข เมืองความสุข จังหวัดอุบลราชธานี

ข้อมูลข่าวและที่มา ภาพ/ผู้เรียบเรียง : บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง