- กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม

มสธ. ถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2565 ณ วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล

มสธ. ถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2565

ณ วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 65 เวลา 13.09 น. รองศาสตราจารย์ ดร.มานิตย์ จุมปา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นประธานพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 ณ พระอุโบสถ วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดยมีคณะผู้บริหาร บุคลากร มสธ. หน่วยงานราชการ ภาคส่วนต่างๆ ชุมชนในจังหวัด ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธี

โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ตามที่ขอพระราชทานเพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษากาลครบถ้วนไตรมาส ณ พระอารามหลวงต่างๆ เวียนไปในแต่ละภูมิภาคเป็นประจำทุกปี

ในปี พ.ศ. 2565 นี้ นับเป็นครั้งที่ 42 ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้น้อมนำ ผ้าพระกฐินพระราชทานมาถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษากาลครบถ้วนไตรมาส โดยครั้งนี้ถวาย ณ วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง อำเภอเมืองสตูล มีพระเทพสิทธิมุณี เจ้าคณะภาค18 เป็นประธานคณะสงฆ์ ซึ่งคณะสงฆ์ผู้ประกอบพิธี มีฉันทานุมัติให้พระครูวิมลธรรมรส เจ้าอาวาสวัดชนาธิปเฉลิม เป็นองค์ครอง สำหรับในพรรษานี้วัดชนาธิปเฉลิม มีพระสงฆ์จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสทั้งสิ้น 17 รูป ในโอกาสนี้เพื่อร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีผู้ร่วมปวารณาจตุปัจจัยถวาย
พระราชกุศล รวมทั้งสิ้น1,550,411.50 บาท  ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นพิธียังเป็นโอกาสที่คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้พบปะกับนักศึกษาและศิษย์เก่า ของ มสธ.ในจังหวัดสตูลและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่เดินทางมาร่วมพิธี

วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง เดิมชื่อวัดมำบัง เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2425 เป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดสตูล มีพระอธิการชู เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2473 เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดชนาธิปเฉลิมเมื่อปี พ.ศ. 2482 พระอุโบสถสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2483 ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อปี พ.ศ. 2534 ปัจจุบันวัดชนาธิปเฉลิม มีพระครูวิมลธรรมรสเป็นเจ้าอาวาส

เป็นวัดที่มีศาสนสถานสำคัญ อาทิ พระอุโบสถที่มี 2 ชั้น มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น พระบรมธาตุเจดีย์ หอระฆัง เป็นวัดอีกแห่งในเมืองสตูลที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ มีการหมั่นในการให้

การฝึกฝนจิตใจด้วยหลักธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนา เพื่อความประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี ภายในวัดยังมีแหล่งเรียนรู้ในการทำเกษตรแบบพอเพียง

การสร้างกิจกรรมที่เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าต่อชุมชนและสังคม

ในการจัดงานพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในครั้งนี้ ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง
ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศานาและมีโอกาสสร้างกิจกรรมที่เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าต่อชุมชนและสังคม ได้แก่

      – ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้ปวารณาจตุปัจจัยถวายพระราชกุศล รวมทั้งสิ้น 1,550,411.50 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนห้าหมื่นสี่ร้อยสิบเอ็ดบาทห้าสิบสตางค์) แก่วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง จังหวัดสตูล

ความเชื่อของอานิสงส์ในการทำบุญทอดกฐิน เป็นบุญกุศลใหญ่ตามความเชื่อที่ผู้ทำบุญจะได้รับความสุขในช่วงชีวิต และยังส่งผลให้ผู้ถวายฐินปรารถนาสิ่งใดๆ ในชาติภพใหม่ ก็จะสำเร็จตามความปรารถนาอีกด้วย

      – ด้านการส่งเสริมด้านความมีวิจิตสาธารณะ โดยร่วมกับคณะกรรมการวัดชนาธิปเฉลิมเชิญชวนประชาชนในจังหวัดสตูล ร่วมทำความสะอาดวัดชนาธิปเฉลิม จัดเตรียมสถานที่สำหรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ บริเวณวัดชนาธิปเฉลิม ร่วมจัดร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ที่เรียกอีกอย่างนึงว่า “ออกโรงทาน” เพื่อแจกในงานให้ผู้ร่วมงานได้รับประทานภายในงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ร้าน เป็นการร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมด้านอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย
จีนและชวาในอดีต ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก โดยอาหารที่นำมา “ออกโรงทาน” อาทิ โรตี ชาชัก ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ หมี่ผัดเครื่องใต้ แกงส้ม แกงน้ำเคย แกงไตปลา น้ำบูดู ขนมลากรอบ ขนมต้ม ขนมขี้มัน ข้าวเหนียวใบกะพ้อ น้ำดื่มสมุนไพร ขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิง ไอศครีม น้ำแข็งบอก (ไอศรีมแท่ง) เป็นต้น

  • ด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยเชิญร้านค้าผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ให้นำสินค้ามาจำหน่ายในงาน อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก เสื้อผ้าลายบาเต๊ะ ชุดยะหยา เครื่องประดับที่ทำด้วยมุก อาหารสำเร็จรูป เช่น ไตปลาแห้ง น้ำชุบมะขาม กะปิหวาน เครื่องแกงใต้ ขนมผูกรัก โรตีกรอบ ขนมลา โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชุนสตูล
  • ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

โดยจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ ชุดระบำขวัญสตูล ระบำว่าวควาย ระบำประจำจังหวัดสตูล  ศิลปะการแสดงที่บ่งบอกถึง วิถีชีวิตและกีฬาการเล่นว่าวของคนสตูล “จากลีลาจุฬาเล่นลมสู่ท่วงท่าระบำว่าวควาย” ท่ารำระบำว่าวควาย เป็นการจินตนาการจากลีลาการเคลื่อนไหวของว่าวขณะเล่นลมอยู่บนท้องฟ้า ประหนึ่งนางพญาที่กรีดกรายร่ายรำอย่างมีความสุข ลีลาท่ารำก็จะมีท่าที่อ่อนช้อย แช่มช้าและรวดเร็วดุดัน เช่นเดียวกับว่าวเมื่อลมอ่อนและมีลมแรง ตัวว่าวก็จะฉวัดเฉวียนไปตามแรงลม ส่วนดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นเครื่องดนตรีสากลแต่ปรับสำเนียงให้เป็นสำเนียงของดนตรีพื้นเมืองทั้งของภาคใต้และภาคกลาง เนื่องจากประเพณีการเล่นว่าวมีทั้งภาคกลางและภาคใต้ สำหรับเครื่องแต่งกายก็ให้มีสัญลักษณ์ของว่าวควาย ก็คือกระบังหน้ามีเขาควายประกอบ ชุดก็มีผ้าโปร่งแทน ปีกว่าว ส่วนอื่นๆ ก็ออกแบบเพื่อความสวยงาม โดยเฉพาะตัวนางพญาก็จะเพิ่มความอลังการเข้าไปให้สมกับเป็นนางพญา  ระบำชุดนี้เกิดจากการจินตนาการของผู้คิดประดิษฐ์เอง ต้องการให้มีนางพญาว่าว

และเหล่าบริวารออกมาร่ายรำถวายเจ้าสมุทรเทวา ซึ่งจะออกมาร่ายรำกันปีละ 1 ครั้งในฤดูมรสุม**

https://www.navanurak.in.th/satungeopark/site/theme/muse_show_cat1.php?refcode=04-06-0003&catid=8

การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชุด “รำมโนราห์” โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิตคนใต้ มโนราห์หรือโนรา เป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ โดยเป็นการละเล่นที่ผสมระหว่างการร้อง การรำ บางครั้งมีการเล่นเป็นเรื่องราว และสะท้อนถึงความเชื่อและพิธีกรรม

โนรา  มีมาแต่โบราณและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่นิยมเล่นสับ ทอดกันมายาวนานไม่น้อยกว่า 400 ปี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรําและมีท่ารําที่อ่อนช้อยสวยงามเป็นการร่ายรําและรับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกเล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง ผู้รำโนราสวมครื่องแต่งกายที่ทําด้วยลูกปัดหลากสี มีสวมปีกหางคล้ายนก สวมเทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวทําด้วยโลหะ บทร้องกลอนสดมักโดยใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคํามาให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกาย  ใช้แสดงเพื่อความบันเทิงทั่วไป
และแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมของโนราโดยเฉพาะ

– ด้านความร่วมมือของเครือข่ายด้านศิลปวัมนธรรมหน่วยงานภายนอก/ภายในมหาวิทยาลัย
สร้างความสมานสามัคคี ความร่วมมือในการจัดงานของหน่วยงาน

การจัดงานพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานจัดโดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามภาระงานที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้

หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ สถานสื่อสารองค์กร กองกลาง ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. ยะลา  กองคลัง  สำนักบริการการศึกษา สโมสรสุโขทัย ธรรมาธิราช หน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล สำนักงานพระพุทธศาสนา จัวหวัดสตูล  สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  โรงเรียนสตูลวิทยาคณะกรรมการวัดชนาธิปเฉลิม โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดสตูลสันตยาราม) โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดชนาธิปเฉลิม) โรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านหัวทาง)  โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านศาลากันตง)  โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองสตูล

  • ด้านการสร้างความสมานสามัคคีความร่วมมือในการจัดงานของหน่วยงานต่างๆ สร้างคุณค่าแก่ชุมชน
  • ด้านการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้เป็นที่รู้จัก ในแต่ละจังหวัดที่จัดงาน
    จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์การจัดงานพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในพื้นที่ต่างๆของจังหวัดสตูล
    จัดทำ สูจิบัตรการจัดงานพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานแจกผู้มาร่วมงาน จัดขบวนแห่องค์พระกฐินพระราชทานเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยและเชิญชวนประชาชนในจังหวัดร่วมทำบุญ
    ในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน
  • ภาพ : สถานสื่อสารองค์กร
  • ผู้ข่าว : ธีรพล /บุญทิพย์ ช่วยรัตแก้ว
  • แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง