เครื่องจักสาน

ความหมาย
เครื่องจักสาน คือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย จากฝีมือความคิด ภูมิปัญญาของชาวบ้านมีลักษณะรูปทรงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ วัสดุอุปกรณ์คตินิยม และอาชีพของคนในท้องถิ่นนั้นๆ

คำว่า “ จักสาน” คำว่า จัก คือ การทำให้เป็นแฉก เป็นหยักๆ ด้วยฟันเลื่อย หรืออีกวิธีการหนึ่ง การที่ชาวบ้านใช้คมมีดผ่าไม้ไผ่แล้วทำให้เป็นเส้นบางๆ วิธีการอย่างนี้ก็เรียกว่า จัก เช่นกัน ส่วนไม้ไผ่ หรือ หวาย ที่จักออกมาเป็นเส้นบางๆ นั้นเรียกว่า ตอก ถึงตอนนี้การที่ชาวบ้านนำตอกมาขัดกันจนเกิดลวดลายที่ต้องการ เราเรียกว่า สาน ต่อจากนั้นแล้วก็จะเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดรูปทรงต่างๆ จนท้ายที่สุดเป็นภาชนะสามารถนำไปใช้สอยได้ตามต้องการ

ประวัติความเป็นมา
ภาพจิตรกรรมฝาผนังให้เห็นการใช้เครื่องจักสานในชีวิตสมัยโบราณนักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานว่า เมื่อประมาณ ๔๐๐๐ ปีมาแล้วมนุษย์ได้รู้จักวิธีการจักสานของใช้ด้วยไม้ไผ่ เป็นลักษณะลายขัดสองเส้น ลักฐานนี้ได้ค้นพบที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นดินแดนที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หลักฐานการค้นพบเครื่องจักสานนี้นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังได้พบที่แอฟริกาและในทวีปเอเชียบางแห่ง บริเวณแหลมมลายู (ในยุคหิน) ได้ค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องจักสานที่ทำด้วยไม้กองรวมอยู่กับของใช้ของผู้ตาย จึงสัณ

นิษฐานว่าเครื่องจักสานได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อบางอย่างของมนุษย์ในยุคนั้นบ้างแล้ว      ต่อมาเมื่อมนุษย์ได้มีการดำเนินชีวิตด้วยการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์จึงเป็นที่เชื่อได้ว่ามนุษย์ได้รู้จักพัฒนาการเครื่องจักสานให้เหมาะสมกับการใช้สอยขึ้นมาเรื่อยๆทั้งนี้เพราะการขยายตัวออกมาดำเนินชีวิตในที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำธารไหลผ่านเพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้อย่างเหลือเฟือสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ก็คือ การหาเครื่องมือบางชนิดไว้ใช้สอยในชีวิตประจำวันซึ่งส่วนใหญ่จะได้แก่เครื่องจับสัตว์

เครื่องจักสานเป็นเครื่องมือที่มนุษย์สามารถจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ด้านประโยชน์ใช้สอยเท่านั้นที่มนุษย์พัฒนาขึ้น ความสวยงาม และ ความทนทานถาวร ก็เป็นปัจจัยที่มนุษย์ให้ความสำคัญ จากการที่มนุษย์รู้จักการใช้ยางพืชบางชนิดมาทา หรือยา เพื่อมิให้เกิดรอยรั่ว ซึ่งทำให้มีผลสองอย่าง คือ ความคงทนถาวรและประโยชน์ใช้สอยเพิ่มเติมคือการไปใส่น้ำ การใช้ภูมิปัญญาดังกล่าว มีมาแต่ครั้งสุโขทัย หรืออาจจะก่อนหน้านั้น ปัจจุบันเครื่องจักสานได้พัฒนาการไปมาก มีการประดิษฐ์คิดค้นทำให้ได้รูปแบบต่างๆ เครื่องจักสานเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่มากับสังคมกสิกรรมรับใช้ชีวิตมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้และเชื่อว่าจะไม่สูญหายไปจากโลกนี้แน่นอน

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเครื่องจักสาน
ภูมิประเทศเกือบทุกภาคของประเทศไทยล้วนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์นานาชนิดสามารถนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้เป็นอย่างดีตัวอย่างวัสดุที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ดีคือ

ไม้ไผ่
นำมาทำเครื่องใช้ในครัวเรือนได้เกือบทุกชนิด เช่นกระด้ง กระเชอ กระชอน สานเป็นเครื่องดักจับสัตว์น้ำเช่น ไซ ข้อง ฯลฯและ สานเป็นฝาเรือน ฝาบ้าน เป็นต้น

ย่านลิเภา
เป็นพืชในจำพวกเถาวัลย์ ใช้สานเป็นเครื่องใช้ ใช้ผูกภาชนะแทนหวายและใช้มัดขอบภาชนะ เช่นกระด้ง กระเชอ ข้อง ไซ เป็นต้น ย่านลิเภายังสามารถนำมาสานเป็นเครื่องใช้ได้อย่างงดงามอีกด้วย เช่น กุบหมาก กุบยาเส้น กล่องใส่ของ และหมวก เป็นต้น

หวาย
ขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคใต้ ใช้สานและผูกมัดคล้ายกับย่านลิเภา

กระจูด
เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่น้ำขังเช่นกันปัจจุบันมีผู้ปลูกเป็นแปลงๆ เรียกว่า นากระจูด ก่อนนำมาใช้งานต้องนำไปแช่โคลนแล้วทุบให้แบน นิยมนำมาสานเสื่อ

คลุ้มและคล้า เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่น้ำขัง นำมาสานเป็นภาชนะของใช้ต่างๆ ได้ เครื่องมือสำหรับใช้ในการจักสานมีด มีดที่ใช้ในการจักสาน ถ้าเป็นมีดที่ใช้ในการตัดไม้จะเป็นมีดขนาดใหญ่มีสันหนา ๑/๒ – ๑ ซม.  ยาวประมาณ ๔๐ ซม. หรือกว่านี้ก็ไม่มากนัก เรียกกันโดยทั่วไปว่า มีดโต้ มีดโต้

มีดจักตอก เป็นมีดที่ใช้สำหรับจักตอก มีรูปทรงเรียวแหลม ขนาดเหมาะมือ คมบาง ชาวบ้านนิยมพกเป็นมีดประจำตัวด้วย

เหล็กมาด มีสองชนิด เหล็กมาดปลายแหลม และ เหล็กมาดปลายแบน เหล็กมาดปลายแหลมใช้เจาะร้อยหวาย ส่วนปลายแบนใช้เจาะร้อยตอก

คีมไม้ ใช้สำหรับคีบขอบกระจาด กระบุง หรือขอบอื่นๆ เพื่อให้แนบสนิมแล้วค้างไว้ด้วยหวายถักที่ด้ามคีม เพื่อประโยชน์ให้ผู้สานมัดหวายได้แน่น     คีมไม้

รูร้อยหวาย ทำด้วยเหล็กเจาะเป็นรูตามขนาดที่ต้องการ ตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่ใช้สำหรับนำหวายร้อยเพื่อลบคมหวายและทำให้ทุกเส้นมีขนาดเท่ากัน

          สำหรับการจักสานนั้นยังสามารถแยกย่อยออกเป็นการจักสานของแต่ละภาคในประเทศไทยทั้งสี่ภาค คือภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งในแต่ละภูมิภาคการอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก็จะแตกต่างกันออกไป และในแต่ละภูมิภาคอาชีพของประชากรในแต่ละทองถิ่นก็จะแตกต่างกันไปทำให้การจักสานของแต่ละภูมิภาคจึงมีความแตกต่างกันไปด้วย

รูปเครื่องจักสานตามภาคต่างๆ

กระบุง
กระจาด
ข้อง
สุ่ม
โตก
กระติ๊บ
หวดนึ่งข้าวเหนียว
กระเป๋าถือ
พัด

 

 

เรียบเรียงโดย : นายวิทยา  มีกลิ่นหอม  ผู้ปฏิบัติงานบริหารชำนาญงาน  ฝ่ายอุทยานการศึกษา  สำนักการศึกษาต่อเนื่อง  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช