โดย นางสาวเพ็ชรดา เพ็ชรรัตน์ ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพชรบุรี
การแทงหยวกของช่างพื้นบ้านในจังหวัดเพชรบุรีเป็นผลงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานสรุปได้ ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และขั้นตอนการแทงหยวก ดังนี้
๑) ขั้นตอนการเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ การแทงหยวกของช่างพื้นบ้าน มีการใช้วัสดุ ได้แก่ หยวกกล้วย กระดาษสี ไม้ไผ่ และอุปกรณ์ ได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการแทงหยวก อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบหยวก และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบการติดตั้ง โดยมีขั้นตอนในการเตรียม ดังนี้
วัสดุ ได้แก่ หยวกกล้วยที่ใช้ในการแทงหยวก คือ กล้วยตานี หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า กล้วยพังลา สำหรับการเตรียมหยวกกล้วยมีขั้นตอน คือ การคัดเลือกต้นกล้วย การตัดต้นกล้วย การลอกกาบกล้วย และการคัดแยกกาบกล้วยสำหรับใช้ในการแทงหยวก กระดาษสีที่ใช้ในการแทงหยวกโดยใช้เพื่อรองเป็นสีพื้นช่องไฟของช่างพื้นบ้านมี ๓ ชนิด ได้แก่ กระดาษทองเกรียบ กระดาษสีสะท้อนแสง และกระดาษมันปู ในการเตรียมกระดาษที่จะนำมาใช้จะต้องคำนึงถึงสีที่จะนำไปสู่ความงาม ความโดดเด่นของลายหยวกและการใช้งาน สรุปได้ดังนี้ คือ การคัดเลือกชนิดและสีของกระดาษ การพับกระดาษ และการตัดกระดาษ และไม้ไผ่ที่ใช้ในการแทงหยวก ได้แก่ ไม้ไผ่สีสุก การเตรียมโดยการคัดเลือกและตัดเตรียมไว้สำหรับใช้งาน
อุปกรณ์ ได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมวัสดุ ประกอบด้วย เลื่อย มีดพร้า ตลับเมตร และมีดปลายแหลม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีจำหน่ายทั่วไป การเตรียมจะต้องเตรียมในเรื่องของความคมของเลื่อย มีดพร้า และมีดปลายแหลม อุปกรณ์ที่ใช้ในการแทงหยวก ประกอบด้วย มีดแทงหยวกและหินลับมีด มีดแทงหยวกช่างจะต้องเตรียมเอง โดยนำใบเลื่อยตัดเหล็กมาตัดให้ได้ความยาวที่ต้องการ นำมาเจียรให้ได้รูปคล้ายใบข้าวกว้างประมาณ ๐.๔ – ๐.๘ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๖ – ๑๐ เซนติเมตร ลับคมทั้ง ๒ ด้าน ให้มีความคมด้วยหินลับมีด แล้วนำไปใส่ด้ามจับเพื่อเตรียมไว้ใช้ในการแทงหยวก ซึ่งด้ามมีดจะต้องสัมพันธ์กับลักษณะอุ้งมือและการจับของช่าง ส่วนหินลับมีดใช้หินกากเพชร การเตรียมโดยการจัดซื้อตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบหยวก ประกอบด้วย มีดปลายแหลม ไม้ตับ ดอกบิด เชือกฟางและเข็ม ในการเตรียมอุปกรณ์ มีดปลายแหลม เชือกฟางและเข็ม เป็นอุปกรณ์ที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป การเตรียมเพียงจัดซื้อตามแหล่งจำหน่าย แต่ไม้ตับและตอกบิดจะต้องอาศัยการเตรียมการแปรรูป ดังนี้ ๑) ไม้ตับมีขั้นตอนในการเตรียมโดยนำไม้ไผ่สีสุกมาตัดท่อนยาวประมาณ ๓๐ – ๔๐ เซนติเมตร แล้วใช้มีดพร้าผ่าไม่สีสุกออกเป็นซีกๆ กว้างประมาณ ๑ – ๑.๕ เซนติเมตร และเหลาไม้ไผ่ให้กลมหรือแบนส่วนปลายเรียวแหลม ๒) ๖อกบิด มีขั้นตอนในการเตรียมตามวัสดุที่นำมาใช้ ได้แก่ ตอบบิดจากไม้ไผ่ โดยนำไม้ไผ่สีสุกอ่อนมาตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ ๖๐ – ๘๐ เซนติเมตร ผ่าเป็นซีก กว้างประมาณ ๓ – ๕ เซนติเมตร แล้วผ่าให้มีความหนาประมาณ ๐.๓ – ๐.๕ เซนติเมตร จากผิวด้านนอกของไม้ไผ่ ผ่าเป็นซีกเล็กๆ กว้างประมาณ ๐.๒ – ๐.๓ เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นเส้นตอกบิดและเหลาปลายให้แหลม ๑ ด้าน ตอกบิดจากก้านลาน ใช้ก้านจากยอดลานโดยตัดยอดลานซึ่งมีลักษณะห่อกลมมาจากต้น ฉีกใบลานแยกออกเป็นใบ ใช้มีดกรีดให้ใบลานแยกจากก้าน และเหลาส่วนโคนก้านลานให้แหลม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบติดตั้งประกอบด้วย ค้อน ตะปุ ลวด คีมตัดลวด มีดปลายแหลม หมุดไม้ไผ่ ใบการเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่มีจำหน่ายทั่วไป ยกเว้นหมุดไม้ไผ่ที่จะต้องอาศัยกระบวนการแปรรูปโดยนำไม่ไผ่สีสุกมาตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ ๑๐ – ๑๕ เซนติเมตร ผ่าเป็นซี่ๆ กว้างประมาณ ๐.๖ – ๑ เซนติเมตร แล้วเหลาปลายให้แหลม ๑ ด้าม เพื่อความสะดวก และง่ายต่อการแทง หรือตอกในการยึดหยวกกับโครงสร้าง
๒) ขั้นตอนการแทงหยวก ของช่างพื้นบ้านในจังหวัดเพชรบุรีมีขั้นตอน ๔ ขั้นตอน คือ การแทงหยวก การประกอบหยวก (การคุมหยวก) การประกอบติดตั้ง และการประดับตกแต่งเพิ่มเติม ดังรายละเอียดดังนี้
การแทงหยวก ช่างพื้นบานในจังหวัดเพชรบุรีจะแทงหยวกด้วยมีดแทงหยวกแบบฟรีแฮนด์ สดๆ เป็นลวดลายต่างๆ โดยไม่มีการร่างแบบลวดลายบนกาบกล้วย หรือใช้แบบมาทาบก่อนที่จะแทงหยวก การแทงหยวกจะแทงโดยเน้นเค้าโครงเส้นรอบนอกของลายและช่องไฟพื้นเป็นสำคัญ ไม่นิยมแสดงรายละเอียดภายในตัวลายด้วยการแรโดยการใช้ปลายมีดกรีดลงบนผิวหยวกและการย้อมสี ขั้นตอนการแทงหยวกมีดังนี้ โดยนำกาบกล้วยที่คัดแยกไว้สำหรับการแทงลายแต่ละประเภทมาวางคว่ำบนพื้นเรียบ เริ่มแทงหยวกโดยการปักมีดแทงหยวกให้ทะลุกาบกล้วยแล้วจึงดันมือเดินมีดไปด้านหน้าหรือถอยหลังตามถนัด ให้เกิดเป็นลวดลายตามต้องการ ซึ่งจะต้องจับมีดให้ใบมีดตั้งฉากกับผิวหน้าของกาบกล้วย แล้วเริ่มแทงหยวกโดยการชักมีดขึ้นลงพร้อมๆ กับการดันมือไปด้านหน้าหรือถอยหลัง และเมื่อแทงหยวกเสร็จแล้วไม่ต้องแกะส่วนที่เป็นช่องไฟพื้นออกจากกาบกล้วย ในการแทงหยวก พบว่าเป็นการฉลุเพื่อเอาช่อไฟพื้นออกคงเหลือเฉพาะตัวลาย เถาลาย อีกทั้งในการเริ่มแทงลาย แต่ละลายการเริมต้นจะแตกต่างกันคือ
- ลายกระจังฟันปลา กระจังฟันสาม กระจังฟันห้า จะเริ่มแทงที่ส่วนโคน หรือปลายของกาบกล้วยด้านใดด้านหนึ่ง
- ลายน่องสิงห์ จะเริ่มแทงส่วนโคนของกาบกล้วย
- ลานหน้ากระดาน จะเริ่มแทงที่ตรงกลางของกาบกล้วย โดยเริ่มแทงที่ตัวอกลายก่อนแล้วจึงแทงลายด้านซ้ายและด้านขวาต่อไป
- ลายเสา จะเริ่มแทงที่ส่วนโคนของกาบกล้วย แล้วเดินมีดขึ้นไปส่วนปลายของกาบกล้วย
การประกอบหยวก หรือที่ช่างพื้นบานเรียกว่า การคุมหยวก เป็นการประกอบหยวกเข้าเป็นชุดลายหน้ากระดานและลายเสา เพื่อนำไปประกอบติดตั้งกับโครงสร้างสถาปัตยกรรม โดยการนำลายเครื่องประกอบมาจัดวางรวมกับลายหน้ากระดานและลายเสา และจะต้องจัดวางจังหวะ ความสมดุล สีสัน ความเป็นระเบียบของลายต่างๆ ให้สวยงาม วิธีการประกอบหยวกมีดังนี้
- ชุดลายหน้ากระดาน โดยการนำลายหน้ากระดานที่แทงลายไว้มาวางหงายขึ้น นำกระดาษสีมาวางด้านใน แล้วนำกาบกล้วยมาวางซ้อนทับ จับลายหน้ากระดานพลิกคว่ำลง นำลายกระจังฟันปลา จำนวน ๒ ชุด มาวางขนาบด้านซ้ายและด้านขวา นำลายกระจังฟันสาม หรือกระจังฟันห้า หรือ กระจังรวนมาวางขนาบทั้งซ้ายและขวา ให้ส่วนยอดของลายหันออกด้านนอก จัดวางระเบียบความงาม ตำแหน่งของลายขนาบด้านซ้ายและด้านขวา นำไม้ตับมาเสียบยึดตำแหน่งให้ทะลุขอบหยวกทั้ง ๒ ด้าน จับหยวกที่คุมแล้วพลิกวางหงายขึ้น ใช้มีดปลายแหลมตัดแต่งเก็บริมด้านในของกาบกล้วยให้เสมอและเป็นระเบียบเรียบร้อย นำตอกบิดมาเย็บตรึงหยวกแต่ละด้าน การเย็บอาจใช้วิธีการเย็บแบบการเนา และการเย็บแบบร้อยพันริมหยวกตลอดความยาวของกาบกล้วย เสร็จแล้วพลิกวางคว่ำลงดึงไม้ตับออกนำหยวกไปวางไว้เพื่อเตรียมติดตั้งต่อไป
- ลายเสา โดยการนำลายเสาที่แทงลายไว้มาวางหงายขึ้น นำกระดาษสีมาวางด้านใน แล้วนำกาบกล้วยมาวางซ้อนทับแล้วจับลายเสาพลิกคว่ำลง นำลายกระจังฟันปลาจำนวน ๒ ชุดมาวางขนาบด้านซ้ายและด้านขวา นำลายน่องสิงห์มาวางขนาบทั้งซ้ายและขวา ให้ส่วนยอดของลายชี้ขึ้นไปด้านบนไปในทิศทางเดียวกับลายเสา จัดระเบียบความงาม ความสมดุลของลายด้านซ้ายและด้านขวา นำไม้ตับมาเสียบยึดตำแหน่งให้ทะลุขอบหยวกทั้ง ๒ ด้าน จับหยวกที่คุมแล้วพลิกวางหงายขึ้น ใช้มีดปลายแหลมตัดแต่งเก็บริมด้านในของกาบกล้วยให้เสมอและเป็นระเบียบเรียบร้อย นำตอกบิดมาเย็บตรึงหยวกแต่ละด้าน การเย็บใช้วิธีเย็บเหมือกันกับลายนอ เสร็จแล้วหลิกวางคว่ำลงดึงไม้ตับออก นำหยวกไปวางไว้เพื่อเตรียมติดตั้งต่อไป
การประกอบติดตั้ง เป็นการนำลายแทงหยวกที่ประกอบเสร็จแล้วทั้ง ๒ ประเภท คือ ลายหน้ากระดานและลายเสา ไปประดับตกแต่งกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมรูปแบบต่างๆ ช่างพื้นบ้านในจังหวัดสงขลาใช้วิธีการในการประกอบติดตั้งผลงานกับโครงสร้างต่างๆ ๓ วิธีดังนี้
วิธีที่ ๑ การใช้ตะปูตอกยึด โดยการนำลายแทงหยวกมาทาบกับโครงสร้าง จัดวางตำแหน่งจังหวะให้สมดุลเรียบร้อยใช้ตะปูและค้อนตอกยึดกับโครงสร้างเป็นระยะให้แข็งแรง
วิธีที่ ๒ การผูกยึดด้วยวัสดุต่างๆ เช่น คอกบิด เชือกฟาง ลวดเหล็ก เป็นต้น โดยการนำลายแทงหยวกมาวางทาบกับโครงสร้างจัดวางตำแหน่งจังหวะให้สมดุลเรียบร้อย นำวัสดุมาผูกมัดเป็นระยะๆ ให้แข็งแรง
วิธีที่ ๓ การยึดด้วยหมุดไม้ไผ่ เป็นวิธีการประกอบติดตั้งที่มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานมากกว่าวิธีอื่นๆ โดยจะต้องมีการประกอบติดไส้หยวกกับโครงสร้างด้วยวิธีการผู้มัดด้วยเส้นลวดเหล็กและการตอกตะปูก่อน แล้วจึงนำลายแทงหยวกมาวางทาบกับโครงสร้างจัดวางตำแหน่งจังหวะให้สมดุลเรียบร้อย นำหมุดไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาเสียบยึดบริเวณขอบแพหยวกทั้งด้านบนและด้านล่างเป็นช่วงๆ กับไส้หยวกที่ผูกไว้ให้แข็งแรง
การประดับตกแต่งเพิ่มเติม เป็นการประดับตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความงาม ได้แก่ การแทงหยวกลายดอกลอยใช้ปิดมุมประกบ และการแกะสลักมะละกอเป็นลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ การตกแต่งด้วยดอกไม้สด การจักสานใบมะพร้าว ใบตาล นำมาประดับตกแต่งและการใช้ใบมะพร้าวมาตกแต่ง
ลวดลายการแทงหยวก
ลวดลายที่ใช้ในการแทงหยวกของช่างพื้นบ้านในจังหวัดเพชรบุรี จำแนกได้ ๔ ประเภท ตามลักษณะการนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ลายเครื่องประกอบ ลายหน้ากระดาน ลายเสา และลายดอกลอย ซึ่งลายแต่ละประเภทประกอบด้วยลายชนิดต่างๆ ดังนี้
๑) ลายเครื่องประกอบ หรือที่ช่างพื้นบ้านเรียกว่า “ลายเครื่อง” เป็นลายที่ใช้ประกอบกับชุดลายหน้ากระดานกับชุดลายเสา ประกอบด้วยลายชนิดต่างๆ ได้แก่ ลายกระจังฟันปลา ลายกระจังฟันสาม ลายกระจังฟันห้า ลายกลีบบัวเล็ก ลายกลีบบัวใหญ่ ลายน่องสิงห์ธรรมดา ลายน่องสิงห์ใบเทศน์ ลายน่องสิงกระหนก ลายกระจังปฏิญาณ ลายกระจังรวน และลายบัวนมยักษ์
๒) ลายหน้ากระดาน หรือที่ช่างพื้นบ้านเรียกว่า ลายนอ เป็นลายที่ใช้ประดับตกแต่งในแนวนอน ตัวลายจะวางในแนวนอน แบบสมดุลซ้ายขวาเท่ากันมีตัวออกลายอยู่ตรงกลาง ประกอบด้วยลายชนิดต่างๆ ได้แก่ กลุ่มลายหน้ากระดาน เช่น ลายลูกฟักก้ามปู ลายประจำยามก้ามปู ลายแก้วเก็จ ลายก้านต่อดอก ลายลูกโซ่ เป็นต้น และกลุ่มลายเครือเถา เช่น ลายเข้มขาบ ลายมะลิเลื้อย ลายเกลียว ลายเครือเถารูปแบบต่างๆ เป็นต้น
๓) ลายเสา เป็นลายที่ใช้ประดับตกแต่งในแนวตั้ง ตัวลายจะวางลักษณะแนวตั้งยอดลายขึ้นด้านบน ประกอบด้วยลายชนิดต่างๆ ได้แก่ ลายเครือเถา ลายเกลียว ลายเข้มขาบ ลายก้านขด ก้านไว้ และลายรักร้อยในรูปแบบต่างๆ
๔) ลายดอกลอย เป็นลายที่ใช้ในการประดับตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อเสริมความงามและความ เรียบร้อย ประกอบด้วยลายชนิดต่างๆ ได้แก่ ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ ลายประจำยาม และลายช่อกระหนกรูปแบบต่างๆ รูปแบบของลวดลายแทงหยวกมี ๓ รูปแบบ คือ รูปแบบลายไทย รูปแบบลายธรรมชาติ และรูปแบบผสมลายไทยกับลายธรรมชาติ
คุณค่าของการแทงหยวก
การแทงหยวกของช่างพื้นบ้านในจังหวัดเพชรบุรีก่อให้เกิดคุณค่าแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติในด้านต่างๆ สรุปได้ ๔ ด้าน ดังนี้
ด้านที่ ๑ คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย เป็นผลที่เกิดจากการนำการแทงหยวกไปใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีอวมงคลและงานพิธีมงคล เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจของประชาชนในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง โดยนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและประเพณีต่างๆ ในรอบปี ได้แก่ การประดับตกแต่งเมรุชั่วคราว เมรุถาวร ร้านม้า สำหรับการเผาศพ การประดับตกแต่งโลงศพ การประดับตกแต่งเรือพระบกและเรือพระน้ำ การประดับตกแต่งเบญจาสำหรับทรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์และประติมากรรมรูปเหมือน หรืออาบน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ในวันว่าง การประดับตกแต่งหลาเทียมตา การประดับตกแต่งแพ ในประเพณีลอยแพ สะเดาะเคราะห์ การประดับตกแต่งรถยนต์ในขบวนแห่ต่างๆ การประดับตกแต่งกระทง การประดับตกแต่งซุ้มพิธีต่างๆ การประดับตกแต่งผสมผสานกับการจัดดอกไม้ ซึ่งคุณค่าด้านนี้ได้ส่งผลก่อให้เกิดคุณค่าด้านอื่นๆ ตามมาอีก
ด้านที่ ๒ คุณค่าด้านความงาม เป็นผลที่เกิดจากการสร้างสรรค์ ทักษะของช่างแต่ละคนและภูมิปัญญาต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนา กันมา ผ่านกรรมวิธีการสร้างสรรค์การแทงหยวกทั้งลวดลาย สีสันโครงสร้างสถาปัตยกรรมและการประดับตกแต่งเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดระเบียบความงามในการประกอบหยวก การคุมหยวก การเย็บหยวก และการประกอบติดตั้งกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ประสานสัมพันธ์กันส่งผลให้มีการแทงหยวกมีความงาม มีคุณค่าทั้งทางด้านรูปลักษณ์และความงามที่เกิดจากน้ำใจ ความตั้งใจ ความสามัคคี ความศรัทธา ที่แสดงออกผ่านการแทงหยวกจากช่างและเจ้าของงาน ซึ่งจากคุณค่าความงามที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดแรงดึงดูดแก่ผู้ที่พบเห็น เกิดความสนใจ ประทับใจ นำไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ และการสืบสานงานแทงหยวกให้คงอยู่
ด้านที่ ๓ คุณค่าด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานการแทงหยวกในขั้นตอนต่างๆ และได้ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อบุคคล ต่อชุมชน ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งการแทงหยวกได้ก่อให้เกิดรายได้แก่บุคคลต่างๆ ได้แก่ ช่างแทงหยวกและคณะทีมงาน เจ้าของวัตถุดิบ เจ้าของร้านวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง เจ้าของร้านจำหน่ายกระดาษสี ผ้าสี และดอกไม้ เป็นตน ในรูปแบบรายได้หลักและรายได้เสริม นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจของชุมชนโดยรวมอีกทั้งการแทงหยวกก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีทั้งภายในครัวเรือน ภายในกลุ่มช่าง สังคมภายในและภายนอกชุมชน ก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นภายในสังคม
ด้านที่ ๔ คุณค่าด้านประเพณีและวัฒนธรรม เป็นผลที่เกิดจากการแทงหยวกและการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในงานพิธีอวมงคลและงานพิธีมงคล โดยการแทงหยวกได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสืบสานอนุรักษ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ของท้องถิ่นและของประเทศชาติให้ดีงอยู่ เช่น ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับการตาย ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวันสงกรานต์ ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขะบูชา ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวันลอยกระทง เป็นต้น และเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกของผู้คนในยุคปัจจุบันให้ตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ในรอบปีและส่งผลต่อการสืบสาน การสืบทอดการแทงหยวกของช่างพื้นบ้านในจังหวัดเพชรบุรีให้ดำรงอยู่สืบไป