พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

โดย  นายสุรัติ  หาญกำธร  ศูนย์วิทยพัฒนา  มหาวิทยาลัยุโขทัยธรรมาธิราช  สุโขทัย  

พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยเป็นงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่รับอิทธิพลมาจากลังกาและพม่า  นิยมแบ่งพระพุทธรูปสุโขทัยออกเป็น ๔ หมวด  คือ  หมวดใหญ่  หมวดกำแพงเพชร  หมวดพระพุทธชินราช  และหมวดเบ็ดเตล็ด  พระพุทธรูทั้ง ๔ หมวด  แบ่งออกเป็น ๓ รุ่น ด้วยกัน  คือ   รุ่นแรกมีวงพระพักตร์กลมแบบลังกา  รุ่นที่ ๒ มีวงพระพักตร์ยาวและพระหนุเสี้ยม  รุ่นที่ ๓ พระพักตร์รูปไข่คล้ายแบบอินเดีย  ปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง ๔ นิ้ว  พระบูชา  พระเครื่องเมืองไทย  ยุคสุโขทัยมีความงดงามมากดังเช่น  องค์หลวงพ่อโต (พระศากยมุนี) เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยสุโขทัยที่มีความงดงามอย่างน่าอัศจรรย์  เป็นพระพุทธรูปที่ดูมีชีวิตชีวา  มีพุทธลักษณะสง่างาม  เส้นสาย  ทางศิลปะอ่อนช้อย  สมเป็นรูปเคารพแทนพระพุทธองค์ พระพักตร์เอิบอิ่มเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา  “เมื่อผู้ใดมีความทุกข์ใจหากได้กราบไหว้ และมองพระพักตร์แล้ว  ความทุกข์ของคนนั้นจะมลายสิ้นไป  เกิดเป็นความสุขอย่างน่าอัศจรรย์”

พระพุทธรูปสำคัญสมัยสุโขทัย

                หลวงพ่อร่วง  เป็นพระพุทธรูปสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย  ประทับนั่ง  ปารมรวิชัย  ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ วา  ๑ ศอก  ๑ คืบ  ๕ นิ้ว  สูง ๑ วา  ๑ ศอก  ๑ คืบ  ๗ นิ้ว  องค์พระหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดอัญเชิญจากสุโขทัย  และนำมาประดิษฐานในวิหารด้านทิศใต้ของอุโบสถ  วัดพรรณพาราม  กรุงเทพมหานคร  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

                พระพุทธสิหิงค์  เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ  หล่อสัมฤทธิ์  ส่วนสูงวัดจากพื้นถึงรัศมี ๙๐ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง  ๖๖ เซนติเมตร  ในปัจจุบันมีอยู่ ๓ องค์  คือพระพุทธสิงหิงค์เชียงใหม่  พระพุทธสิงหิงค์นครศรีธรรมราช  และพระพุทธสิหิงค์สุโขทัย  ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์สุโขทัย  ประดิษฐานอยู่  ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

                พระพุทธชินสีห์  เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกประจำวันเสาร์  อยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุม  เบื้องบนพระเศียร  หน้าตักกว้าง ๕ ศอก  ๑ คืบ  ส่วนฐานพระพุทธรูปเป็นพญานาคขดเป็นบัลลังก์ ๔ ขั้น  ศรีษะนาคทำด้วยไม้เป็นนาค ๗ เศียร  เดิมพระพุทธรูปองค์นี้  อยู่จังหวัดสุโขทัย  ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โปรดให้อัญเชิญพระบรมธาตุในพระบรมมหาราชวัง ๔๐ พระองค์  แห่มา ณ วัดพระเชตุพนฯ  และสมเด็จมาทรงบรรจุพระบรมธาตุราชวัง ๓๐ องค์  เข้าไว้ในองค์พระปฏิมานาคปรก

                พระพุทธชินสีห์  หรือพระนาคปรก  ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธาน  ในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า  วัดพระเชตุพนฯ  กรุงเทพ  เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  ที่งดงามอีกองค์หนึ่ง  เป็นที่สักการบูชาชาวไทย  เพื่อสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

                พระศรีศากยมุนี  เดิมเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง  วัดมหาธาตุ  สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ  ปางมารวิชัย  หล่อสัมฤทธิ์  ศิลปะแบบสุโขทัย  มีหน้าตักกว้าง ๓ วา  ๓ คืบ  สูง ๔ วา  เป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุด  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงให้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงเทพ  ปัจจุบัน  พระศรีศากยมุนี  ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม  กรุงเทพ

                พระสุโขทัยไตรมิตร  เป็นระพุทธรูปทองคำ  ปารมารวิชัยสมัยสุโขทัย  หล่อจากทองคำ  มีน้ำหนักมากกว่า ๔ ตันครึ่ง  ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ ศอก  ๕ นิ้ว  สูง ๗ ศอก ๑ คืบ  ๙ นิ้ว  สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ จารึกว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร  มีพระพุทธรูปทอง  มีพระอัฎฐารศ  มีพระพุทธรูปอันใหญ่  มีพระพุทธรูปอันงาม..”  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้โปรดอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดพระยาไกร  ต่อมาได้อัญเชิญมาประดิษฐานวัดสามจีน  นับเป้นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก

                พระสุโขทัยไตรมิตร  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม  ประชาชนทั่วไปเรียกว่า พระทองวัดสามจีน  หรือ  พระทองวัดไตรมิตร (ชื่อเดิมว่าวัดสามจีน)

                พระศาสดา  ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดสุวรรณาราม  กรุงเทพมหานคร  เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งที่มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัย  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ได้อัญเชิญจากวัดมหาธาตุ  อุทยานประวัติศาสตร์  ตำบลเมืองเก่า  อำเภอเมือง  จังหวัดสุโขทัย  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐

                พระพุทธไสยาสน์  เป็นพระพุทธรูปศิลาโบราณสมัยสุโขทัย  ปางปรินิพาน  พระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร  พระหัตถ์ซ้ายทอดลงไปตามพระวรกาย ขนาดความยาวตังแต่พระบาทถึงพระจุฬา  ๖ ศอก ๕ นิ้ว  พระรัศมี ๑ คืบ เป้นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่พระพุทธลักษณะงดงาม  และจัดเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยชั้นครู  ข้างในองค์พระเป็นสัมฤทธิ์  พระบาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดอัญเชิญจากวัดพระพายหลวง  เมืองอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  อำเภอเมือง  จังหวัดสุโขทัย  มาประดิษฐานในวิหาร  ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพมหานคร  จนถึงปัจจุบัน  (ในบริเวณใต้ฐานของพระพุทธรูปยังเป็นที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าสกลมหาสังฆปรินายก  องค์ที่ ๑๐  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

                พระพุทธลีลา  เป็นพระพุทธรูปประทับยืน  แสดงปางลีลา  หล่อด้วยสัมฤทธิ์  ขนาดความสูง ๒๒๒ เซนติเมตร  สมัยสุโขทัยได้รับการยกย่อง  ว่าอ่อนช้อย  ถูกต้องตามพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยชั้นครู  ช่างผู้สร้างมีความเป็นเอกด้านวิทยาศาสตร์เรื่องหลักแรงโน้มถ่วงจึงสร้างพระพุทธลีลาลอยตัวอยู่ได้มั่นคงและสง่างาม  ดังข้อความ  “การคิดค้นที่น่าประหลาดใจที่สุดประติมากรรมสมัยสุโขทัย  ซึ่งเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งแก่ศิลปะไทย  คือ  พระพุทธลีลาที่ดูได้รอบองค์เนื่องจากพระพุทธรูปแบบนี้สร้างขึ้นด้วยความยากลำบาก  ตัวอย่างชั้นเยี่ยมจึงมีน้อย

                สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้อัญเชิญพระพุทธลีลาจากวัดราชธานี  อำเภอเมือง  จังหวัดสุโขทัย  ไปประดิษฐานที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ต่อมาประบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐาน  ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามวรวิหาร  กรุงเทพมหานคร  จนถึงปัจจุบัน

                การสร้างพระเครื่อง  อาจสร้างขึ้นในโอกาสต่างๆ ดังนี้

                ๑. สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกในการสร้างโบสถ์  สร้างวิหาร  หรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณประโยชน์  เพื่อมอบให้กับผู้บริจาคทุนทรัพย์ได้ระลึกถึงผลบุญที่ได้ร่วมสมทบทุนทำบุญ
                ๒. สร้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่  หรือการประกอบอาชีพในธุรกิจ
                ๓. สร้างเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

                พระเครื่องประจำวัน

                ๑. ผู้ที่เกิดวันจันทร์    พระเครื่องที่เหมาะได้แก่  พระเครื่องในตระกูลเนื้อชิน  อาทิเช่น  พระร่วมหลังรางปืน  พระเชตุพน  ซึ่งเป็นพระจากจังหวัดสุโขทัย
                ๒. ผู้ที่เกิดวันศุกร์  พระคู่กาย  ควรเป็นพระปิตตา  มหาอุตมแบบต่างๆ
                ๓. ผู้ที่เกิดวันเสาร์ พระคู่กายควรเป็นพระเนื้อว่าน
                ๔. ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี  พระคู่กายคือพระยืนปางเปิดโลก
                ๕. ผู้ที่เกิดวันพุธกลางวัน  พระคู่กายคือพระยืนปางลีลาแบบต่างๆ
                ๖. ผู้ที่เกิดวันพุธกลางคืน  พระคู่กายคือพวกเครื่องรางแบบต่างๆ
                ๗. ผู้ที่เกิดวันอังคาร พระคู่กายควรจะเป็นพระเนื้อผงต่างๆ
                ๘. ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์  พระคู่กาบควรจะเป็นพระนั่งศิลปะแบบนั่งมารวิชัย

กรุพระเครื่องสุโขทัย

พระนางแขนอ่อน  พระพิจิตรข้างเม็ด  พระพิมพ์อู่ทอง  พระกรุมะค่า  พระลีลาถ้ำหีบ  พระงบน้ำอ้อย  พระใบมะขาม  วัดสวนแก้วอุทยานน้อย  หลวงพ่อโต  กรุวัดป่ามะม่วง  พระร่วงหลังรางปืน  พระร่วงนั่งหลังตัน  พระนาคปรกสนิมแดง  พระกลีบบัว  แขนอ่อน  พระนางพญาเสน่ห์จันทน  พระร่วงนั่งหลังลิ่ม  พระร่วมเปิดโลกกรุเตาทุเรียง  พระท่ามะปราง  สุโขทัย  พระแม่ย่า  กรุวัดเข่าแม่ย่า  พระลีลา  กล้วยตาก  พระวัดป่ามะม่วง  พระสุโขทัย  บัว ๒ ชั้น

ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201407/31/55624e85c.jpg