การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ : ตอนที่ 2 รัชกาลที่ 6 – 9

ในช่วงรัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ช่วงรัชกาลที่ 1-3 เป็นยุคที่ลักษณะการแต่งกายยังคงรูปแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา  จนเมื่อเริ่มสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระประสงค์ในการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัยตามแบบของชาวตะวันตก  เพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกดูถูกจากต่างชาติ  จวบจบสมัยรัชกาลที่ 5  ก็ทรงดำเนินตามแนวของรัชกาลที่ 4  ในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในหลายๆ ด้านดังเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป  และในด้านการแต่งกายนั้นมีการผสมผสานวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวตะวันตกเข้ากับวัฒนธรรมของไทยทำให้เกิดลักษณะการแต่งกายที่งดงามซึ่งหาชาติใดเสมอเหมือนได้ยากนัก   สำหรับรูปแบบการแต่งกายใน
รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ถึง รัชกาลที่ 9  ก็ยังคงลักษณะการแต่งกายที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น  โดยมีวิวัฒนาการการแต่งกายตามยุคสมัยรัชกาลต่างๆ ดังนี้

สมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453 – 2468)

          รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ  ทรงเป็นผู้นำในการปรับปรุงประเพณีและวัฒนธรรมสืบต่อจากรัชกาลที่ 5  พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้ชาวโลกได้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของไทย  โดยทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถึง 2 ครั้ง  โดยครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2453 จัดตามราชประเพณี  ส่วนครั้งที่ 2 จัดในเดือนพฤศจิกายน 2454 เรียกว่า  พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช  ซึ่งจัด ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  โดยได้เชิญผู้แทนประมุขและผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศมาร่วมซึ่งเป็นการเชิญชาวต่างชาติมาร่วมในพระราชพิธีเป็นครั้งแรก  และได้ทรงให้มีการปรับปรุงการแต่งกายของคนไทยให้มีความเรียบร้อยสวยงาม  เพื่อแสดงความเป็นอารยะแก่สายตาชาวต่างชาติ

          ในช่วงต้นรัชสมัยยังคงลักษณะการแต่งกายเช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 5  แต่มีบางอย่างที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้าง  ผู้หญิงยังคงนุ่งโจมกระเบนอยู่แต่นิยมใช้ผ้าม่วงเช่นเดียวกับผู้ชาย  สวมเสื้อผ่าอก  แต่คอลึกกว่าเดิม  แขนยาวเสมอศอก มีแพรบางสะพายทับเสื้ออีกที  สำหรับทรงผมของผู้หญิงมีการไว้ผมยาวเสมอต้นคอและดัดเป็นลอนแบบชาวยุโรป  และมีการใช้เครื่องสำอางแต่งหน้า  ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าโจงกระเบนเสื้อราชประแตน  มีการสวมเสื้อครุยแขนยาวจรดข้อมือตัวเสื้อยาวคลุมเข่าสวมทับเสื้ออีกชั้นหนึ่ง  และทรงผมตัดแบบชาวยุโรป 

ภาพที่ 1  การแต่งกายของชนชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 6
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

          ช่วงปลายรัชสมัยทรงโปรดให้ผู้หญิงไว้ผมยาวเกล้ามวย  นุ่งซิ่น  และฟันขาว  โดยเฉพาะทรงผมที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้นเป็นผมบ๊อบที่ตัดสั้นระดับใบหูตอนล่าง  ทั้งสองข้างยาวเท่ากันและตัดข้างหลังให้โค้งเข้าหาต้นคอเล็กน้อย  อีกทรงที่นิยมคือผมชิงเกิ้ล (Shingle) ลักษณะตัดสั้นเหมือนผมบ๊อบแต่ซอยผมด้านหลังให้ลาดเฉียงลงไปคล้ายหลังคาลาด  สำหรับเจ้านายและผู้ดีสมัยนั้นนิยมเอาสายสร้อยหรือผ้ามาคาดรอบศรีษะเหมือนอินเดียแดงในภาพยนตร์  สำหรับเสื้อจะเป็นเสื้อตัวยาวหลวมๆ สวมทับซิ่นอีกทีหนึ่งส่วนมากใช้ผ้าลูกไม้ฝรั่งปักเป็นลวดลายด้วยลูกปัดและไข่มุก  นิยมใส่เครื่องประดับ  เช่น  สร้อยไข่มุก  ต่างหูห้อยระย้า  เพื่อให้เข้ากับเครื่องแต่งกายที่ปักด้วยลูกปัดและไข่มุก  สำหรับผู้ชายนุ่งกางเกงแบบฝรั่ง  และนิยมนุ่งกางเกงแพรแบบลำลองจนถึงสมัยรัชกาลที่ 8  นอกจากนี้มีการปรับปรุงการแต่งกายทั้งของทหารและพลเรือนเพื่อให้สอดคล้องกับสากลนิยม  เนื่องจากมีการจัดส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป

ภาพที่ 2  ผมบ๊อบ
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

สมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 – 2477)

          ในสมัยรัชกาลที่ 7  เป็นยุคที่คนไทยมีโอกาสได้ไปศึกษายังต่างประเทศมากขึ้น  ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  คนไทยจึงมีความสนใจในวัฒนธรรมของชาติตะวันตกมากขึ้น  สำหรับวัฒนธรรมการแต่งกายของชาติตะวันตกก็ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งกายของชาวอเมริกันที่กำลังเฟื่องฟูในช่วงนั้น  โดยผู้หญิงจะมีการนุ่งกระโปรงกันมากขึ้นและมีการประยุกต์การนุ่งผ้าซิ่นแบบเดิมมาตัดเป็นผ้าถุงสำเร็จ  ซึ่งเป็นผ้าถุงที่เย็บพอดีเอวโดยไม่ต้องคาดเข็มขัด  และนิยมสวมเสื้อหลวมไม่เข้ารูป  ตัวยาวคลุมสะโพก  ไม่มีแขน  ใส่สายสร้อย  และตุ้มหูยาวแบบต่างๆ สวมกำไล  ส่วนทรงผมนิยมดัดเป็นลอน  และมีผ้าคาดผม

ภาพที่ 3  การแต่งกายของเจ้านายในรัชกาลที่ 7
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ภาพที่ 4  ครอบครัวข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 7
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

          ส่วนผู้ชายที่เป็นข้าราชการ  ในช่วงต้นรัชกาลยังนิยมนุ่งผ้าม่วง  สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงเท้า  รองเท้า  และสวมหมวกกะโล่ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475  คณะราษฎรเห็นว่า  การแต่งกายของข้าราชการที่แต่งกันอยู่ในเวลานั้นมีความล้าสมัยไม่เหมาะกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย  และเพื่อไม่ให้เป็นที่ดูหมิ่นจากชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อในประเทศ จึงประกาศให้ยกเลิกการนุ่งผ้าม่วงโดยให้นุ่งกางเกงขายาวตามแบบฝรั่งแทน แต่ยังไม่ได้เป็นการบังคับเลยทีเดียว  ยังคงผ่อนผันให้นุ่งได้อยู่บ้าง  จนเมื่อปี พ.ศ. 2478  ซึ่งเป็นรัชสมัยของรัชกาลที่ 8  สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  มีการออกตราพระราชบัญญัติการแต่งกายข้าราชการพลเรือนขึ้น  ซึ่งให้ข้าราชการเลิกการนุ่งผ้าม่วงโดยเด็ดขาด  และเมื่อข้าราชการปรับเปลี่ยนการแต่งกายเช่นนี้  ประชาชนโดยทั่วไปจึงทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ

สมัยรัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477 – 2489)

          ในสมัยรัชกาลที่ 8 เป็นยุครัฐนิยม  ในสมัยนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี  มีนโยบายในการสร้างชาติไทยเข้าสู่ความเป็นอารยประเทศ  โดยแรกเริ่มได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”  และได้มีกระบวนการสร้างชาติในด้านต่างๆ ตามมา  โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมขนานใหญ่ที่รัฐพยายามให้วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติ  เช่น  มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งกายออกมาหลายฉบับที่พยายามชี้ให้เห็นว่าการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยนั้นจะมีส่วนช่วยรัฐในการส่งเสริมวัฒนธรรมและการสร้างชาติให้วิวัฒนาถาวร  ทั้งนี้ได้มีการกำหนดแนวทางการแต่งกายให้ประชาชนถือปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงและความเป็นระเบียบของการแต่งกายของคนในชาติ  โดยได้กำหนดเครื่องแต่งกายออกเป็น 3 ประเภท  ได้แก่ เครื่องแต่งกายธรรมดาใช้ในที่ชุมชนที่สาธารณะ   เครื่องแต่งกายทำงานแบ่งเป็นการทำงานทั่วไปและการทำงานเฉพาะ  และเครื่องแต่งกายตามโอกาสต่างๆ  

ภาพที่ 5  “มาลานำไทย”
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

          การแต่งกายของประชาชนโดยทั่วไป  ผู้ชายจะสวมเสื้อคอปิดหรือเปิดก็ได้  และสวมกางเกงแบบฝรั่งส่วนผู้หญิงต้องสวมเสื้อแบบใดก็ได้  แต่ต้องคลุมไหล่  สวมกระโปรง  แต่ชาวบ้านทั่วไปยังคงนุ่งผ้าถุง  เนื่องจากกระโปรงยังเป็นของแปลกใหม่  และทุกคนต้องสวมรองเท้า  นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนให้สตรีไทยสวมหมวก  โดยมีการโฆษณาว่า  “สวมหมวกเพื่อส่งเสริมการสร้างชาติของท่านในหน้าที่สตรีไทยให้เด่นยิ่งขึ้น” และยังได้มีคำแนะนำในการใช้หมวกในโอกาสต่างๆ  รวมถึงการเลือกใช้หมวก  และการถอดหมวกด้วย  ซึ่งเมื่อหมดสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  การสวมหมวกก็ค่อยๆ หายไป

ภาพที่ 6 ชาวบ้านสวมหมวก  นุ่งผ้าถุง  หรือกางเกงขาสั้นมารับของ
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

สมัยรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489 – 2559)

          ในสมัยรัชกาลที่ 9  ในช่วงต้นการแต่งกายของประชาชนยังคงแบบอย่างตามรัชกาลก่อนคือ  ผู้ชายสวมกางเกงแบบฝรั่ง  สวมเสื้อเชิ้ต  และผู้หญิงนุ่งกระโปรงหรือนุ่งผ้าถุง  สวมเสื้อคอแบบต่างๆ หรือเสื้อเชิ้ต  ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างแพร่หลาย จะมีการนุ่งซิ่นอยู่บ้างก็เพียงชาวบ้านในชนบทเท่านั้น เรียกได้ว่าการแต่งกายในชีวิตประจำวันถูกอิทธิพลของตะวันตกกลืนหายไปจนหมด  จนไม่มีเครื่องแต่งกายประจำชาติเหมือนประเทศอื่นในภูมิภาค  เช่น  สาหรีของอินเดีย หรือกิโมโนของญี่ปุ่น  จนเมื่อปี พ.ศ. 2503  ในการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เยือนยุโรปและอเมริกา 14 ประเทศ  ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ในครั้งนั้นทรงต้องใช้เวลาในการเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนานหลายเดือน  และทรงประสบปัญหาเรื่องเสื้อผ้าที่จะใช้เป็นแบบฉบับ  หรือชุดประจำชาติที่เหมาะสมกับสมัย  จึงได้โปรดฯ ให้ช่วยกันค้นพระบรมรูปของพระมเหสีในรัชกาลองค์ก่อนๆ มาทอดพระเนตรพิจารณา  และได้ทรงตัดสินพระทัยคิดรูปแบบใหม่ขึ้น  โดยให้หม่อมหลวงมณีรัตน์  บุนนาค  ไปพบกับอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์และช่วยกันค้นคว้าและออกแบบขึ้น  โดยชุดที่ได้ออกแบบนั้นภายหลังเรียกกันว่า “ชุดไทยพระราชนิยม”  ซึ่งประกอบด้วย

1. ไทยเรือนต้น  ใช้ในโอกาสปกติ เป็นชุดไทยแบบลำลอง เช่น  งานกฐิน  เที่ยวเรือ  งานบุญ  วันสำคัญทางศาสนา  ข้อสำคัญคือต้องเลือกผ้าที่ใช้ตัดให้เหมาะกับเวลาและสถานที่

ภาพที่ 7 ชุดไทยเรือนต้น
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

2. ไทยจิตรลดา  ใช้ในโอกาสพิเศษที่ไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์  เช่น งานพระราชพิธีต่างๆ หรืองานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ

ภาพที่ 8  ชุดไทยจิตรลดา
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

3. ไทยอมรินทร์  แบบเหมือนไทยจิตรลดาต่างกันที่ใช้ผ้าและเครื่องประดับหรูหรากว่า  ใช้สำหรับพิธีเลี้ยงตอนค่ำ เช่น  งานพระราชพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษา  หรือใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้เครื่องแต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ  เช่น  ในงานพระราชพิธี  หรืองานสโมสรสันนิบาต

ภาพที่ 9 ชุดไทยอมรินทร์
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

4. ไทยบรมพิมาน  สำหรับพิธีตอนค่ำ เหมาะสำหรับงานพิธีเต็มยศและครึ่งยศ  เช่น  งานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ  หรือใช้เป็นชุดเจ้าสาว

ภาพที่ 10  ชุดไทยบรมพิมาน
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

5.  ไทยจักรี  หรือชุดไทยสไบ  ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศสำหรับอากาศที่ไม่เย็น

ภาพที่ 11 ชุดไทยจักรี
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

6. ไทยดุสิต  ใช้ในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ  บางท่านเรียกชุดนี้ว่า  ชุดไทยสุโขทัย

ภาพที่ 12 ชุดไทยดุสิต
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

7. ไทยจักรพรรดิ  เป็นแบบไทยแท้  ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศเช่นเดียวกับชุดไทยจักรี

ภาพที่  13 ชุดไทยจักรพรรดิ
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

8. ไทยศิวาลัย  ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ

ภาพที่ 14 ชุดไทยศิวาลัย
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

ในปี พ.ศ. 2522 จึงเกิดชุดประจำชาติฝ่ายชาย  เรียกว่า  ชุดพระราชทาน โดยมีพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เป็นผู้ที่เผยแพร่เป็นคนแรก  ซึ่งเดิมทีเกิดจากพลเอกเปรมได้ไปเยือนประเทศในอาเซียนและแต่ละประเทศก็มีชุดประจำชาติของตน  แต่ประเทศไทยไม่มี  จึงได้นำความกราบทูลปรึกษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  จึงได้ทรงพระราชทานเสื้อให้หนึ่งตัว  ซึ่งเป็นฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ทรงใช้ประจำและได้ทรงพระราชทานแบบเสื้อให้ด้วย  จากจุดนี้เองเสื้อพระราชทานจึงได้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง  แบบเสื้อพระราชทานมี 3 แบบด้วยกัน  คือ  แบบแขนสั้น  แบบแขนยาวคาดผ้า  และแบบแขนยาวไม่คาดผ้า  ซึ่งแบบแขนยาวคาดผ้าถือเป็นแบบเต็มยศที่สุด

ภาพที่ 15  พลเอกเปรม  สวมเสื้อพระราชทาน
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

นอกจากการแต่งกายแบบเป็นทางการแล้วนั้น  ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวกรุงมีการนำแฟชั่นของชาวตะวันตกเข้ามาหลากหลายรูปแบบทั้งชายและหญิง  เช่น  ในช่วงต้นรัชกาลมีการนุ่งกระโปรงแบบต่างๆ ซึ่งแบบที่นิยมมี 3 แบบ ได้แก่  กระโปรงนิวลุค  เป็นกระโปรงบานเมื่อนั่งลงกับพื้นจะเป็นวงกลมรอบตัว  กระโปรง 4 ชิ้น  6 ชิ้น  8 ชิ้น  เป็นกระโปรงที่ใช้ผ้า 4 ชิ้น หรือ 6 ชิ้น หรือ 8 ชิ้น  มาต่อกัน  แล้วแต่ความเหมาะสมของรูปร่าง  และกระโปรงสุ่มไก่  เป็นกระโปรงที่มีโครงไม้กลมๆ อยู่ข้างใน  สอดในรอยต่อระหว่างชั้นทุกชั้น  ในช่วงนี้จะสวมเสื้อประดับลูกไม้  มีจีบระบาย ทรงผมดัดหยิก  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2511  กระโปรงมินิสเกิ๊ต  เข้ามาแพร่หลายในประเทศ  เป็นกระโปรงสั้นเหนือเข่า  ซึ่งความสั้นยาวของกระโปรงมีหลายระดับ  แบบที่สั้นมากเรียกว่า  ไมโครสเกิ๊ต  แบบที่เลยเข่าลงมาเป็นแบบสุภาพยาวครึ่งน่องเรียกว่า กระโปรงมิดี้  และถ้ายาวเลยจนกรอมเท้า  เรียกว่า  กระโปรงแม๊กซี่

 ภาพที่ 16  กระโปรงนิวลุค
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547   

ภาพที่ 17 กระโปรงมิดี้  และกระโปรงมินิสเกิ๊ต
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

สำหรับผู้ชายการแต่งกายแต่ละช่วงจะได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก  โดยเฉพาะจากภาพยนตร์  เช่น  ในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประมาณปี พ.ศ. 2500  ได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ประเภทร๊อค-แอนโรล  มีการแต่งกายแบบนุ่งกางเกงขาลีบ  เสื้อตัวพองๆ และไว้ผมทรงออร์เหลน  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2513  แฟชั่นฮิปปี้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย  โดยเฉพาะเรื่องการไว้ผมทรงฮิปปี้  ส่วนรูปแบบกางเกงที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น คือ  กางเกงเด๊ฟและกางเกงม้อด  กางเกงเด๊ฟเป็นกางเกงขาลีบ  เรียว  ส่วนกางเกงม้อดเป็นกางเกงขาลีบตรงหัวเข่าและบานออกไปจนคลุมเท้าเหมือนขาม้า  ซึ่งการแพร่หลายของแฟชั่นการแต่งกายในยุคสมัยนี้โฆษณามีอิทธิพลมาก  เนื่องจากมีความเจริญก้าวหน้าของระบบสื่อสารมากขึ้น  ทำให้แฟชั่นในยุคต่างๆ ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วจนถึงทุกวันนี้

ภาพที่ 18  กางเกงม้อด
ที่มา : อเนก  นาวิกมูล, 2547

วิวัฒนาการของการแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 ส่วนใหญ่มักได้รับอิทธิพลจากผู้ที่มีบทบาทในสังคมของแต่ละยุคสมัย  เช่นในยุคการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช  กษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูงจะเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในสังคมจึงเป็นผู้นำในวัฒนธรรมการแต่งกายของสังคมในยุคนั้น  เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในยุคแรก  ผู้นำของรัฐบาลในสมัยนั้นมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในทุกด้านรวมถึงวัฒนธรรมการแต่งกายด้วย  จวบจนเมื่อมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมากขึ้น  การสื่อสารมีความทันสมัยและคนทั่วไปสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น  ทำให้ประชาชนทั่วไปที่มีบทบาทในสังคม  เช่น นักร้อง  นักแสดง  หรือคนที่มีชื่อเสียงในวงสังคมต่างๆ จึงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับการแต่งกายของคนไทยมากขึ้นจนถึงยุคปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย นางสาวจินตนา  ปรัสพันธ์  นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ
ฝ่ายอุทยานการศึกษา  สำนักการศึกษาต่อเนื่อง  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บรรณานุกรม

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้. (2555). [ออนไลน์]. วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561]. จาก http://valuablebook2.tkpark.or.th/2015/6/book_index.html.

อัจฉรา สโรบล. (2550). [ออนไลน์]. เอกสารประกอบการสอน 006216 : History of Costume (ประวัติเครื่องแต่งกาย). [สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561]. จาก http://www.human.cmu.ac.th/home/
hc/ebook/006216/006216-03.pdf

อเนก  นาวิกมูล. (2547). การแต่งกายสมัยรัตน์โกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.