สวยดอก หรือ กรวยดอกไม้
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลไม่ปรากฎที่มาที่แน่ชัด แต่สันนิฐานว่าเกิดจากการหลอมรวมทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่บริเวณภาคเหนือ (ล้านนา) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ล้านช้างในอตีต) ของไทย เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการผสมผสานวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการสร้างเอกลักษณ์ท้องถิ่นขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรม แต่ที่เด่นชัดและยังคงวัฒนธรรมการทำสวยดอก หรือ กรวยดอกไม้อยู่อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบันนั้นคือ ภาคเหนือ (ล้านนา) ไทย สวยดอก หรือกรวยดอกไม้ เป็นเครื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามความเชื่อทั้งพิธีกรรมทางศาสนา และพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่น ในด้านประเพณี เช่นประเพณีปีใหม่ หรือ สงกรานต์ นิยมนำไปเป็นเครื่องสักการะ คาราวะดำหัวผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสของท้องถิ่น สวยดอกจะประกอบด้วยสวยหรือกรวยซึ่งจะทำจากชิ้นใบตองเย็บเป็นทรงกรวยเรียวแหลมที่ส่วนก้น ส่วนด้านปากนั้นผายเปิดยาวจากก้นถึงปากประมาณ 8-9 นิ้ว ปากกรวยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว ภายในกรวยใส่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปและเทียน โดยดอกไม้ ธูปและเทียนโผล่พ้นปากกรวย ทั้งนี้ ดอกไม้ที่ใช้บรรจุ
ในสวยมักจะเป็นดอกไม้พื้นบ้านนาๆชนิด เช่น ดอกเก็ดถะหวาหรือดอกพุดซ้อน ดอกสะบันงา ดอกหมาก ดอกหางนกยูง ดอกพวงทอง ใบทองพันชั่ง และแม้กระทั่งใบโกสนก็ใช้บรรจุในสวยดอกได้ สวยดอกเรียกตามลักษณะเป็น 2 ชนิด คือ สวยดอกธรรมดา และสวยดอกกาบ สวยดอกทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีข้อแตกต่างกันคือ สวยดอกธรรมดาจะม้วนหรือขดให้เป็นทรงกรวยเรียวแหลม ไม่มีการตกแต่งปากกรวย ส่วนสวยดอกกาบจะม้วนหรือขดให้เป็นทรงกรวยเรียวแหลมและมีการตกแต่งปากกรวยด้วยใบตองที่พับเป็นกาบ เย็บติดปากกรวยด้วย
ไม้กลัด หรือที่เย็บกระดาษ ส่วนที่เย็บตกแต่งติดรอบปากกรวยนี้เรียกว่า กาบสวยหรือกลีบที่ใช้ประดับกรวย
ในด้านศาสนาประเพณีเดือนแปดเหนือ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) เรียกว่าเดือนแปดเป็ง ตรงกับเดือน 6 ของภาคกลางหรือวันวิสาขบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ชาวล้านนาจะนิยมนำสวยดอกไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ต่างๆ ที่เป็น ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุศรีจอมทอง ประชาชนจะไปนมัสการเวียนเทียนรอบพระเจดีย์ มีการจักสานกรวยหรือกระชุสำหรับใส่อาหาร ถวายพระภิกษุพร้อมทั้งสวยดอกไม้เพื่อการสักการะบูชา และในด้านความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี ชาวล้านนามีความเชื่อเรื่อง “ผี” มาตั้งแต่อดีตเพราะ “ผี” คือตัวแทนอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์และความเชื่อนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการนับถือบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเครือญาติ การนับถือผีในเครือญาติยังขยายขอบเขตกลายเป็น “ผีอารักษ์” ของหน่วยสังคมใหญ่ขึ้นเมื่อเกิดเป็นสังคมเมือง ผีนอกจาก
มีอำนาจในบ้าน ชุมชนและเมืองแล้ว ผียังมีอำนาจในการพยากรณ์และการรักษาโรค เช่น การทรงเจ้า เข้าทรง ทำให้คนเชื่อในโชคลาภมากขึ้น จึงทำสวยดอกขึ้นเป็นเครื่องบูชา
ประเพณีที่เด่นชัดทั้งในด้านพระพุทธศาสนาและในด้านความเชื่อท้องถิ่นของชาวล้านนา คือ งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) เป็นประเพณีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีลจะกระทำพิธีสักการบูชาเป็นประจำทุกปีเรียกว่า “เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก” ผู้เข้าร่วมงานประเพณีฯ ต่างเตรียมสวยดอก ขันน้ำ พร้อมขมิ้นส้มป่อยใส่พานหรือสลุง เพื่อทำการสักการบูชา แล้วนำสวยดอกวางบน “ขัน” หรือพานดอกไม้จนครบเหมือนกับการใส่บาตรดอกไม้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ใส่ขันดอก” ซึ่งเป็นประเพณีที่ผสมผสานระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อท้องถิ่นเข้าด้วยกัน โดยมีการแห่พระเจ้าฝนแสนห่าหรือพระพุทธรูปคันธารราษฎร์รอบตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและใส่ขันดอกเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต ส่วนภายในวิหารอินทขิล พระสงฆ์ 9 รูป จะทำพิธี เจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขิล ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินภายใต้บุษบกที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป เมื่อเสร็จพิธีจะมีมหรสพสมโภชตลอดงาน
โดยข้อมูลข้างต้น ความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์นั้น ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรมในแขนงต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะด้านการแสดง การฟ้อนรำ การดนตรี ศิลปหัตถกรรม การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ อย่างที่ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลบทความทางวิชาการในหัวข้อเรื่อง “กรวยดอกไม้ วัฒนธรรมโบราณกับงานพิธีกรรม” นี้ขึ้น ก็ล้วนเกิดมาจากความเชื่อความศรัทธา ผลักดันให้ชาวล้านาประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่า “สวยดอก หรือกรวยดอกไม้” ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งพิธีกรรมทางศาสนา และพิธีกรรมความเชื่อ ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและกลายเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน
ผู้รวบรวม/เรียบเรียงข้อมูล : ณกรณ์ ไตรบำรุง
แหล่งที่มา : งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) ฝ่ายอุทยานการศึกษา สำนักการศึกษาต่อเนื่อง
อ้างอิง : รศ.จารุนันท์ เชาว์ดี. (2555). สวยดอกล้านนา. (ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).
Lanner news. (2567, 14 มิถุนายน). ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา : ประเพณีเลี้ยงผีครูเดือนเก้า(เหนือ) และเรื่องเล่าผีครูช่างซอล้านนา. https://www.lannernews.com/14062567-04/
คลังความรู้ล้านนา – สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม. (2565, 30 มิถุนายน). สวยดอก.https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/details/2683
มติชนสุดสัปดาห์. (2566, 2 มิถุนายน). วิธีทำ “กรวยดอกไม้” แบบต่างๆ และจำนวนที่ใช้ ตั้งแต่ไหว้ครู ถึงไหว้ผี. https://www.matichonweekly.com/column/article_679781
ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ – Chiang Mai City Heritage Centre. (2566, 10 พฤษภาคม). “ล้านนางามสวย ด้วยสวยดอก” The beauty of the Lanna flower cone.Facebook. https://www.facebook.com/chiangmaicityheritagecentre/posts