อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก

อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก  จัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  ครบ 5 รอบ  และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก”  เมื่อปี พ.ศ. 2530

และโดยที่ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ภารกิจหนึ่งคือ  ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  สำนักการศึกษาต่อเนื่อง  จึงได้ก่อตั้งขึ้น  เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม  พ.ศ. 2531  เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยในการบริการทางวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  โดยอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก  เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจที่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้สำนักการศึกษาต่อเนื่องดูแล

พื้นที่อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก  ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจำนวน 135 ไร่  โดยให้ส่วนหนึ่งของพื้นที่เป็นส่วนอุทยาน  อาทิ  ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์  พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7  และหอพระพุทธมิ่งมงคลธรรมสถาน  ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมาใช้ประโยชน์  เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและทัศนศึกษาได้อย่างเต็มที่

ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์

มหาวิทยาลัยได้สร้าง “ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์” เพื่อเป็นอาคารสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่แสดงถึงประวัติความเป็นมา  และเพื่อใช้ในงานพิธีการสำคัญขิงมหาวิทยาลัย

ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์จากสถาปัตยกรรมสุโขทัย  มียอดเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย  ตั้งอยู่กลางสระน้ำ (ตระพังเขียว-ทอง)  เป็นจุดเด่นและเป็นศูนย์กลางของ “อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก”  ภายในอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 3 ชั้น

ชั้นที่ 1 เป็นหอประวัติของมหาวิทยาลัย  บอกเล่าถึงความเป็นมาของมหาวิทยาลัย  เช่น  มหาวิทยาลัยสถาปนาขึ้นเมื่อไร และแสดงให้เห็นถึงการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกลตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย

ชั้นที่ 2-3  จะเกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 7

ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์  ออกแบบโดย  รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ  สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ  เป็นผู้จัดวางอาคาร  โดยตั้งอยู่กึ่งกลางของอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก  จัดเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในมหาวิทยาลัย

หอพระพุทธมิ่งมงคลธรรมสถาน

มหาวิทยาลัยได้สร้างหอพระประจำสถาบัน  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี  และฉลองครบรอบ 30 ปี  แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย  การก่อสร้างได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549  ออกแบบโดย  รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ  สุวรรณคีรี

หอพระเป็นอาคารจัตุรมุข  ลักษณะแท่นฐานย่อมุมทั้งสี่ด้าน  มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 120 ตารางเมตร  โดยงานในลักษณะนี้จะออกแบบโดยตระกูลช่างในยุคสมัยต่างๆ ตระกูลช่างที่สำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้ออกแบบ  คือ  ตระกูลช่างลพบุรี  และตระกูลช่างสุโขทัย  โดยตระกูลช่างสุโขทัยมีลักษณะการออกแบบที่ต่อเนื่องจากตระกูลช่างลพบุรี  เอกลักษณ์หลายๆ อย่างของตระกูลช่างสุโขทัย  เช่น  ใบระกา  หรือหน้าบัน  ณ วัดศรีสวาย  วัดพระพายหลวง  จังหวัดสุโขทัย  เป็นแม่แบบที่ศึกษา  เมื่อศึกษาแล้วมาออกแบบใหม่ไม่ใช่ลอกแบบดังที่ปรากฏ

พระพุทธมหามุนีศรีสุโขทัยธรรมาธิราช

พระประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นองค์พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยได้รับชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์สมบัติครบ  60 ปี  และเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธมหามุนีศรีสุโขทัยธรรมาธิราช  ณ พระอุโบสถวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร  กรุงเทพฯ

การออกแบบพระพุทธรูปศึกษาจากพระพุทธรูปเดิมที่เป็นมาตรฐานของช่างหลวง  ตั้งแต่สมัยสุโขทัย  เชียงแสน  เป็นต้นมา  แล้วจึงได้เขียนแบบ  ให้ช่างปั้นเป็นองค์จำลองขึ้นมาก่อนองค์จริง

พระพุทธมหามุนีศรีสุโขทัยธรรมาธิราช  มีขนาดหน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร  สูง 108 เซนติเมตร  ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธมิ่งมงคลธรรมสถาน

รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ  สุวรรณคีรี  เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการหล่อพระพุทธมหามุนีศรีสุโขทัยธรรมาธิราช

พระบรมราชานุสาวรีย์  รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ตามพระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7  เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”  มหาวิทยาลัยจึงได้สร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”  ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าอุทยานการศึกษา  โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  ในขณะที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร”  เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์  เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536