รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

(Principles of Translation)
Locked
miscellaneous
Posts: 55
Joined: Sat Apr 29, 2017 8:53 pm

รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by miscellaneous » Wed Oct 18, 2017 6:42 am

Mo.1 หน้า 1-12 การแปลแบบตรงตัว จะเน้นในงานแปลเช่น คัมภีร์ งานสายวิทยาศาสตร์ งานกฎหมาย

ในขณะเดียวกัน หน้า 1-17/18การแปลแบบอิสระ กล่าวว่า การแปลแบบอิสระมีหลักคิดคือยึดผู้อ่านภาษาเป้าหมาย
และ อ.ได้ยกตัวอย่าง Lamb of God ไว้ เปลี่ยนเป็น Seals of God ในบทแปลของเอสกิโมได้
และตัวอย่างที่ 3 การแปลกลอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้เขียนก็เลือกที่จะแปลแบบอิสระ


ทีนี้ ใน Mo4 หน้า 4-19 ตรงตาราง วิธีการแปล รจนาสาร วิธีการแปล คือ แปลตรงตัว
ซึ่งในตารางบอกไว้ชัดเจนว่า ตัวอย่างต้นฉบับจะเป็น บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย จดหมายส่วนตัว....


พออ่านถึงตรงนี้แล้ว ทำให้ผมสับสนว่า เราควรแปลด้วยวิธีแบบไหน (เพราะดูเหมือนว่า ทั้ง 2 โมดูลนี้ ข้อมูลจะขัดแย้งกัน)

หรือว่า ทั้ง อรรถสาร รจนาสาร โฆษณาสาร สามารถที่วิธีการแปลตามความต้องการของผู้แปลครับ


ขอบคุณครับ

KrittayaLee
Posts: 203
Joined: Tue Mar 21, 2017 2:51 am

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by KrittayaLee » Wed Oct 18, 2017 8:39 am

จากหนังสือ Introducing Translation Studies ของ Jeremy Munday (2001) บทที่ 5 Functional Theories of Translation

ได้อธิบายเกี่ยวกับตารางสรุปประเภทของต้นฉบับและแนวทางการแปลของ Katarina Reiss (2000) เช่นกัน
เหมือนกับในหนังสือเรียนเราเลยค่ะ แต่ว่ามี Discussion เพิ่มเติมเกี่ยวกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของ Reiss
บางคนบอกว่า ประเภทของต้นฉบับทำไมมีแค่ 3 ไม่ใช่มี 4 หรอ
บางคนก็บอกว่า Reiss กล้าบอกได้ไงว่าควรใช้วิธีการแปลแบบไหนกับ text ประเภทไหน ในเมื่อมันมี text ที่เป็นลูกผสมอยู่ เช่น Business and financial texts ในภาษาอังกฤษ ก็มีการอุปมาอุปมัยเยอะแยะ ซึ่งถ้าจะแปลเป็นภาษาอื่นๆ บางภาษาก็แปลตรงๆ ได้ บางภาษาก็อาจจะทำไม่ได้

"A business report, classed by Reiss as a strongly informative text, can also show a strongly expressive side."

"..the biography could also easily have an appellative function, endeavouring to persuade the reader to adopt a particular
stance towards the subject; and an advertisement, while normally appellative, can have an artistic/expressive or informative function."


แล้วเขาก็สรุปประมาณนี้ค่ะ..

"Finally, the translation method employed depends on far more than just text type. The translator's own role and purpose, as well as sociocultural pressures, also affect the kind of translation strategy that is adopted."

รออาจารย์มาไขข้อข้องใจเช่นกันค่ะ ^___^

แล้วหนูถามต่อเลยว่า ในกรณีที่ต้นฉบับเป็นลูกผสม สามารถแปลโดยใช้วิธีผสมๆ กันได้ไหมคะ หรือสุดท้ายแล้วเราต้องเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งอยู่ดี

Ananya
Posts: 217
Joined: Mon Mar 20, 2017 4:25 pm

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by Ananya » Wed Oct 18, 2017 4:09 pm

ขอบคุณนะคะที่ช่วยหาข้อมูลมาอธิบายเพิ่มเติมให้ คุณกฤตยา เรื่องหลักการแปลนั้นอาจมีความเห็นจากนักวิชาการที่หลากหลาย เช่นเดียวกับสำนวนการแปลซึ่งอาจไม่ได้มีเพียงสำนวนเดียวที่ถูกต้อง ตัวบทก็คือข้อเขียนที่สามารถที่จะมีวิธีการนำเสนอหรือเรียบเรียงและลำดับความคิดหลายแบบผสมผสานกันอยู่ เพียงแต่แบบใดโดดเด่นกว่า เราก็จะจัดเป็นตัวบทประเภทนั้น ซึ่งวิธีการแปลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังที่ระบุในข้อสรุปข้างต้น เดี๋ยวรอให้อาจารย์ผู้เขียนมาไขข้อข้องใจอีกคนดีกว่านะคะ

miscellaneous
Posts: 55
Joined: Sat Apr 29, 2017 8:53 pm

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by miscellaneous » Fri Oct 20, 2017 4:15 pm

ถ้าเอกสารใดๆ สามารถใช้วิธีการแปลแบบผสมกันได้ อันนี้ผมก็พอที่จะเข้าใจครับอาจารย์
เพียงแต่ถ้าเราดึงลักษณะเด่นออกมาแล้ว ผมก็ยังข้องใจกับตารางหน้า 4-19

1. อรรถสาร ได้แต่ ข่าว สนธิสัญญา หนังสือสารคดี วิทยานิพนธ์ > พวกนี้ผมว่าลักษณะเด่น จะต้องเป็นการแปลแบบตรงตัว
ในตารางใช้วิธีการแปลแบบเอาความหรืออิสระ ผมว่าจะทำให้ข้อมูลบางสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง จะเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ของผู้แปลได้

2.รจนาสาร อย่างที่ผม เปิดประเด็นในหัวกระทู้ครับ ลักษณะเด่นของ รจนาสาร ผมว่ามันน่าจะเป็นการแปลแบบเอาความหรืออิสระ
ในหนังสือใช้วิะีการแปลแบบตรงตัว ซึ่งผมมองว่า มันจะทำให้งานแปลแข็งกระด้าง หรืออาจจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เขียนต้นฉบับ


ขอรบกวน อ.อีกครั้งครับ

ขอบคุณครับ

KrittayaLee
Posts: 203
Joined: Tue Mar 21, 2017 2:51 am

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by KrittayaLee » Sat Oct 21, 2017 3:08 am

ส่วนตัวหนูเข้าใจว่า ที่อรรถสาร เป็น แปลเอาความ เพราะเน้นที่เนื้อหา และรจนาสาร เป็น แปลตรงตัว เพราะต้องการรักษารูปแบบของผู้เขียน อย่างไรก็ตามถ้าไปอ่านเนื้อหาโมดูล 1 ก็จะงงๆ อยู่ค่ะ ^^"

miscellaneous
Posts: 55
Joined: Sat Apr 29, 2017 8:53 pm

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by miscellaneous » Sun Oct 22, 2017 5:33 pm

หลังจากที่อ่านอย่างละเอียดใน Mo4 แล้ว
เข้าใจเนื้อหาแล้วครับ...


ขอบคุณครับ

Ananya
Posts: 217
Joined: Mon Mar 20, 2017 4:25 pm

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by Ananya » Sun Oct 22, 2017 6:47 pm

ขออภัยที่ยังไม่ได้ตอบทันทีค่ะ เพราะต้องใช้เวลาติดต่อหารือกับอาจารย์ผู้เขียน ซึ่งได้ข้อสรุปคือ อาจารย์ผู้เขียนได้อธิบายเพิ่มเติมมายาวพอสมควร โดยมีแผนภูมิประกอบด้วยเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น จึงคิดว่าน่าจะต้องทำเป็นไฟล์ PDF แต่อาจมีปัญหาในการโพสต์บางประการ แล้วครูจะสอบถามไปอีกครั้งนะคะ แม้ว่านักศึกษาจะแจ้งว่าเข้าใจแล้วก็ตาม แต่ครูคิดว่าควรอธิบายขยายความอยู่ดีค่ะ

Tongtip
Posts: 6
Joined: Mon Oct 23, 2017 3:17 pm

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by Tongtip » Mon Oct 23, 2017 3:39 pm

สวัสดีค่ะนักศึกษา :)

ก่อนอื่นขอขอบคุณมากสำหรับคำถาม และขอแสดงความชื่นชมที่นักศึกษาอ่านบทเรียนละเอียดถี่ถ้วน อีกทั้งยังมีความคิดเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์ จึงเห็นว่าเรื่องวิธีการแปล โดยเฉพาะคำว่า “แปลตรงตัว” ที่ปรากฏในโมดูล 1 และโมดูล 4 นั้นขัดแย้งกัน

อันที่จริงหากเรานำวิธีการแปลที่กล่าวถึงในทั้งสองโมดูลมาจัดวางบนเส้นระนาบจะได้ตามภาพที่แนบมาด้านล่างค่ะ

จะเห็นได้ว่า “การแปลตรงตัว” แม้จะมีความหมายไปในทางเดียวกัน แต่ความหมายที่ปรากฏในทั้งสองโมดูลก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียวค่ะ ในโมดูลที่ 1 นั้น การแปลตรงตัว หมายถึง “การแปลให้ตรงต้นฉบับมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำ ระดับคำ วิธีการเรียงลำดับของประโยค การลำดับข้อความ หรือแม้แต่การใช้เครื่องหมายวรรคตอน” (หน้า 1-12) ซึ่งวิธีนี้ใช้กับต้นฉบับที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ (เช่น คัมภีร์ทางศาสนา) ตัวบทประเภทกฎหมาย หรือแม้แต่วรรณกรรมที่มีลิขสิทธิ์ ส่วนในโมดูลที่ 4 นั้น การแปลตรงตัว (หน้า 4-19) จะเห็นว่าตำแหน่งบนเส้นจะขยับมาเกือบถึงกึ่งกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่การแปลแบบ word-for-word แต่ในที่นี้คือผู้แปลจะต้องเคารพต้นฉบับทั้งในแง่รูปภาษา ลีลาการเขียน และสุนทรียะ ไม่ตัด เติม หรือเรียบเรียงขึ้นใหม่ หน่วยการแปลอยู่ที่ระดับประโยค เวลาแปลให้แปลไปทีละประโยค หากพอจะรักษาโครงสร้างของประโยคในต้นฉบับไว้ได้ก็ควรจะทำ แต่ถ้าบทแปลอ่านเข้าใจยากก็ควรจะต้องปรับให้เป็นภาษาปลายทางที่เข้าใจได้และสื่อความหมาย (ซึ่งถ้าเทียบกับโมดูล 1 ตรงนี้จะเท่ากับการแปลแบบตีความหรือ interpretative translation) ฉะนั้นจะเห็นว่าการแปลตัวบทชิ้นหนึ่งๆ จึงอาจใช้วิธีการแปลได้หลายวิธีค่ะ

ส่วนการแปลแบบอิสระหรือแปลแบบเอาความ (Free translation) ในโมดูล 1 นั้น หมายถึงการแปลโดยปรับเปลี่ยน (เช่น ตัด เติม) ให้เข้ากับผู้อ่านเป้าหมาย จะเรียกว่าแปลแบบเรียบเรียงก็ได้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เรานิยมแปลแบบนี้ (เช่น นวนิยายเรื่อง Vendetta ที่ยกตัวอย่างมา) เพราะคนไทยไม่คุ้นเคยกับบริบทด้านสังคม วัฒนธรรมของต้นฉบับ ถ้าแปลโดย “เก็บ” ทุกอย่าง ผู้อ่านคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยสัมผัสกับวัฒนธรรมตะวันตกจะอ่านไม่สนุกค่ะ แต่ปัจจุบันหากเป็นวรรณกรรมเราไม่นิยมแปลเอาความแล้วเพราะถือว่าไม่ตรงต้นฉบับ ส่วนตัวอย่างที่ยกจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ที่มีการแปล Lamb of God > Seal of God นั้น เป็นการตัดสินใจที่จำเป็น เพราะไม่อย่างนั้นชาวเอสกิโมจะไม่เข้าใจ และไม่ยอมเปลี่ยนมานับถือคริสตศาสนาค่ะ

ส่วนในโมดูลที่ 4 นั้น การ “แปลเอาความ” มีความหมายว่าแปลโดยไม่เกาะติดกับรูปภาษาในต้นฉบับ แต่เน้นการถ่ายทอดความหมายเป็นภาษาไทยที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสละสลวย ในตารางสรุปหน้า 4-19 แม้จะบอกวิธีการแปลตัวบทอรรถสารและโฆษณาสารว่าใช้วิธี “แปลเอาความ” เหมือนกัน แต่สำหรับตัวบทอรรถสารจะเน้นให้ผู้แปลเก็บเอาเฉพาะความหมายมาถ่ายทอดเป็นภาษาปลายทางที่สละสลวยโดยแปลให้ครบความ ส่วนการแปลตัวบทโฆษณาสารนั้น ผู้แปลจะมีอิสระมากกว่า สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อความให้เหมาะสมกับผู้รับสารปลายทางได้ถ้าจำเป็นค่ะ

โมดูลที่ 1 กับโมดูลที่ 4 อาจทำให้นักศึกษารู้สึกว่า “เอ๊ะ ทำไมสอนขัดแย้งกัน” แต่จะว่าไปแล้วไม่ได้ขัดแย้งกันนะคะ โมดูลที่ 1 จะเน้นให้ภาพกว้างๆ ในลักษณะที่เป็น “ปรากฏการณ์” ให้นักศึกษาทราบว่าแนวทางการแปลที่พบมีอะไรบ้างโดยยกตัวอย่างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนโมดูลที่ 4 จะเป็นแนวบอกว่าควรจะแปลอย่างไร โดยใช้ประเภทของตัวบทเป็นตัวตั้งค่ะ

อนึ่ง แนวทางการแปลที่ให้ในโมดูลที่ 4 นั้นเป็นหลักกว้างๆ พอให้เรารู้ว่าควรจะแปลแบบใด เหมือนจะไปเชียงใหม่ก็ต้องรู้ทิศว่าจะไปทางทิศไหน แต่พอเดินทางจริงๆ ก็คงจะไม่ใช่เอาแต่เดินขึ้นทางเหนืออย่างเดียวเป็นเส้นตรง มันก็คงต้องออกซ้ายบ้างขวาบ้างตามภูมิประเทศ เวลาแปลจริงๆ ก็เช่นกันค่ะ นักแปลต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้าง แปลตรงตัวบ้าง แปลเอาความบ้าง ขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ และความเหมาะสม จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีตัวบทใดที่ใช้วิธีการแปลแบบหนึ่งแบบใดเพียงแบบเดียวค่ะ

หวังว่าจะพอไขข้อข้องใจได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ :)
Attachments
Picture2.png
Picture2.png (55.24 KiB) Viewed 7329 times

KrittayaLee
Posts: 203
Joined: Tue Mar 21, 2017 2:51 am

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by KrittayaLee » Tue Oct 24, 2017 8:47 am

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ เคลียร์ ^____^

miscellaneous
Posts: 55
Joined: Sat Apr 29, 2017 8:53 pm

Re: รบกวน อ. ตอบข้อสงสัยเรื่อง วิธีการแปล แบบตรงตัวและแบบอิสระ ครับ

Post by miscellaneous » Tue Oct 24, 2017 8:53 am

ไขข้อข้องใจได้กระจ่างเลยครับ อาจารย์ขอบคุณมากๆ ครับ

Locked

Return to “14318 หลักการแปล [1/60]”

şişli travesti

Who is online

Users browsing this forum: No registered users and 4 guests